แสงแดดที่ร้อนแรงในเมืองไทย นับวันจะทวีความร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรู้หรือไม่ว่าแสงแดดร้อนๆ นี่แหละ
คือตัวการที่ทำให้เกิด โรคมะเร็งผิวหนัง ได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะ มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา หากพูดถึงโรคนี้แล้ว
เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหูกันเท่าไร วันนี้เราเลยจะพาไปดูกันว่า โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา คืออะไร รักษาได้หรือไม่? ไปทำความรู้จักกับโรคนี้พร้อมๆ กันเลย
มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา คืออะไร?
มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (melanoma skin cancer) หรือ มะเร็งไฝ ถือเป็นโรคมะเร็วผิวชนิดหนึ่งที่เกิดความผิดปกติของผิวหนัง
จนทำให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นกลายเป็นมะเร็ง โรคมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ถือว่าเป็นโรคที่พบได้น้อยในบ้านเรา แม้ว่าจะสามารถพบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง
แต่กลับพบได้เพียงแค่ 3,925 คน แต่ก็ถือว่าเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่งที่ควรเฝ้าระวังและให้ความสนใจไม่แพ้โรคมะเร็งอื่นๆ เช่นกัน
มะเร็งผิวหนังเมลาโนมานั้นถูกพัฒนาขึ้นมาจากเซลล์ Melanocyte ซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดสีของผิวหนังเกิดความผิดปกติขึ้น
จนกลายมาเป็นเซลล์ผิวที่มีความผิดปกติดังกล่าว โดยสามารถพบเจอได้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
เช่น หนังศีรษะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอวัยวะเพศ แต่จะพบเจอได้มากที่สุด ในส่วนที่สัมผัสกับแสงแดดเป็นระยะเวลานาน
โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา แบ่งออกได้กี่ชนิด?
สำหรับโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามสาเหตุและลักษณะของอาการ ได้แก่
- โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา เป็นอาการมะเร็งไฝที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง
- โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา (Mucosal melanoma) สามารถพบเจอได้ที่บริเวณเยื่อเมือก
- โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา (Ocular melanoma) พบได้ที่บริเวณดวงตา
สาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมานั้น จะประกอบไปด้วยปัจจัยเสี่ยงหลายชนิด ดังนี้
- ผิวหนังบางจนทำให้เกิดอาการแพ้แสงแดด ซึ่งจะมีลักษณะอาการแพ้ที่แตกต่างกันออกไป เช่น มีผื่นและตุ่มพอง
- สัมผัสกับแสงแดดเป็นระยะนาน
- พบไฝหรือขี้แมลงวันจำนวนมากตามตัวหรือมีไฝขนาดใหญ่บนร่างกาย รวมไปถึงไฝบางชนิด เช่น ไฝนอกแบบ (Atypical nervi ไฝที่มีลักษณะคล้ายกับก้อนเนื้อมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา)
- ผิวหนังที่ตกกระมาก
- เชื้อชาติ คนที่มีผิวขาวจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาได้สูงกว่าคนเอเชียและคนผิวดำ
- กรรมพันธุ์ หากพบมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาจากคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง พ่อแม่เดียวกัน มีสิทธิ์ที่จะได้รับเชื้อผ่านทางโครโมโซม
- มีประวัติผ่านการเข้ารับปลูกถ่ายอวัยวะ
- มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่ไม่แข็งแรง
อาการของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา จะมีลักษณะอาการโดยเป็นไปตามแต่ละระยะ ซึ่งเริ่มแรกนั้นอาการของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
จะอยู่ระยะที่เรียกว่ายังไม่แพร่กระจาย โดยจะมีการเปลี่ยนของไฝหรือกระที่มักจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น ไฝจะมีรูปทรงเปลี่ยนไป
โดยอาจจะมีขนาดที่ไม่เท่ากันในแต่ละข้าง มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ขอบไม่เรียบและไม่สม่ำเสมอ สีของไฝไม่เหมือนกันสามารถเปลี่ยนเป็นสีดำ
สีน้ำตาล หรือ สีเนื้อ และเกิดแผล หรือมีเลือดออก เป็นต้น ระยะต่อมามะเร็งจะลุกลามมากยิ่งขึ้นจนทำให้เกิดไฝที่เพิ่มขึ้น
รวมไปถึง อาการผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง ซึ่งอาจพบได้ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เช่น เท้า ใต้คาง หรือขาหนีบ เป็นต้น
จนมาถึงระยะสุดท้ายที่เชื้อมะเร็งจะแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นๆ จนทำให้มีอาการแทรกซ้อน
เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลัง ปวดข้อ ร่างกายอ่อนแรง หรือรุนแรงถึงเซลล์สมองได้
การวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
ในส่วนของการวินิจฉัยนั้นจำเป็นที่แพทย์จะต้องทราบถึงประวัติต่างๆ ของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกาย
ตรวจลักษณะของไฝ และตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง เพื่อแต่ที่ได้ผลแน่นอนคือ การตัดไฝ หรือตัดชิ้นเนื้อจากไฝ
เพื่อช่วยให้สามารถหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ถูกต้องได้ หากวินิจฉัยแล้วพบว่ามีเสี่ยงที่จะพบเชื้อมะเร็งจริง
ก็จะทำการตรวจเพื่อหาอาการแทรกซ้อน เช่น เอกซเรย์ปอด อัลตราซาวด์ตับ หรือการสแกนกระดูก (Bone scan) เป็นต้น
วิธีรักษาโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
สำหรับวิธีรักษาที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือ การผ่าตัด เพื่อกำจัดก้อนไฝและเชื้อมะเร็งออกไปก่อนที่จะลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ
แต่หากตรวจพบว่ามีเชื้อมะเร็งที่อยู่ในระยะลุกลามหรือระยะแพร่กระจายแล้ว จำเป็นที่ต้องรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด รังสีรักษา
และการรักษาด้วยยาที่ตรงจุด และนำชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดจากการตรวจทางพยาธิวิทยา
นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะต้องมีการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้อาการต่างๆ ดีขึ้นตามลำดับมากยิ่งขึ้น
วิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาคือ หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง
ควรสวมเสื้อแขนยาว ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน สวมหมวก และสวมแว่นกันแดดหรือกางร่ม
หากเป็นไปได้ก็พยายามหลบเลี่ยงแสงแดดไปเลยจะดีที่สุด ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุดนั่นเอง
นอกจากนี้ หมั่นดูแลสุขภาพผิวด้วยครีมบำรุงเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องออกแดดบ่อยๆ ควรเลือกทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป
และควรหมั่นทาซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมงจะดีที่สุด เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาได้มากยิ่งขึ้น
Credit : pinterest.co.uk
แม้ว่า มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ถือเป็นโรคร้ายที่พบได้น้อยในบ้านเรา แต่เราควรจะต้องระมัดระวังและดูแลตัวเองอยู่เสมอ
เนื่องจากประเทศเรานั้นมีอากาศร้อนและแสงแดดที่แรง เพราะเมื่อเกิดตรวจพบเชื้อมะเร็งขึ้นมาแล้วอาจจะทำให้เกิดการลุกลาม
และแพร่กระจายสู่กระแสเลือดจนทำให้การรักษาเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
จะมีอาการดื้อยาค่อนข้างสูง จนทำให้การรักษาเบื้องต้นใช้ไม่ได้ผลเท่าไรนัก สำหรับผลข้างเคียงในการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
รังสีวิทยา หรือใช้เคมีบำบัดอาจจะพบเจอได้อยู่บ้าง แต่หากได้รับการตรวจสุขภาพอย่างเป็นประจำ
และได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยทำให้อาการของมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาดีขึ้นตามลำดับอย่างแน่นอน