ตากุ้งยิง เป็นโรคติดต่อ แพร่เชื้อ ได้หรือไม่ สาเหตุ อาการเป็นอย่างไร

โรคตากุ้งยิง Hordeolum ตากุ้งยิง

ตากุ้งยิง (ภาษาอังกฤษ – Hordeolum) เป็นโรคที่หลายคนคุ้นเคยกันดี ซึ่งหากมองย้อนไปในวัยเด็กเชื่อว่า หลายคนคงจะเคยโดนล้อเมื่อเป็นตากุ้งยิง ว่าไปแอบดูผู้หญิงหรือผู้ชายอาบน้ำมา หรือแอบดูของลับของเพศตรงข้าม ส่งผลให้เวลาเป็นตากุ้งยิง

ก็จะทำให้รู้สึกอายจนไม่กล้าไปโรงเรียนเลยทีเดียว ว่าแต่ตามความเชื่อดังกล่าวนั้นเป็นความจริงหรือไม่

และ สาเหตุของตากุ้งยิง เกิดจากอะไรกันแน่ พร้อม วิธีดูแลรักษาตากุ้งยิง ต้องทำอย่างไรบ้าง ได้เวลามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันแล้วค่ะ

ไขความเข้าใจเรื่องตากุ้งยิงอย่างถูกต้อง

ตากุ้งยิง เป็นโรคเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการแอบดูของลับเพศตรงข้าม หรือการแอบดูคนอื่นอาบน้ำทั้งสิ้น

ซึ่งนั่นเป็นเพียงการล้อกันสนุกๆ และมีการนำมาพูดต่อกันจนเป็นความเคยชินเท่านั้น

นอกจากนี้ หลายคนก็มักจะสับสนกับการเป็นตากุ้งยิงและการเป็นฝีบริเวณเปลือกตา เพราะฉะนั้นเราจะมาทำความเข้าใจกันดังนี้เลยค่ะ

สาเหตุของการเป็นตากุ้งยิง

อย่างที่รู้กันดีว่า ตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งการจะติดเชื้อดังกล่าวได้ก็เนื่องมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • เกิดจากการอุดตันของต่อมบริเวณเปลือกตา จึงเป็นผลให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเอามือไปสัมผัสกับดวงตา
  • การใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตา และล้างทำความสะอาดออกไม่หมด จึงทำให้เกิดการหมักหมมจนติดเชื้อได้ในที่สุด
  • การขยี้ตาบ่อยๆ จึงทำให้เกิดการอักเสบและเนื่องจากมือไม่สะอาด จึงเป็นผลให้ดวงตาติดเชื้อแบคทีเรียได้
  • การใส่คอนแทคเลนส์โดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ทำให้ดวงตาเกิดการติดเชื้อจากสิ่งสกปรกที่มือนั่นเอง

อาการของตากุ้งยิง

สำหรับอาการที่แสดงได้ว่าเป็นตากุ้งยิง สังเกตได้จากเปลือกตาที่บวมขึ้นและคลำเจอก้อนเล็กๆ บริเวณเปลือกตา

ซึ่งในบางคนอาจบวมมากจนปิดตาและมีหนองไหลออกมาเลยทีเดียว นอกจากนี้เมื่อกลอกตาไปมาหรือหลับตาก็จะมีอาการปวดที่รุนแรงขึ้นอีกด้วย

วิธีรักษาโรคตากุ้งยิง

สำหรับวิธีรักษาโรคตากุ้งยิงนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของตากุ้งยิง โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้

1.รักษาด้วยการใช้ยา

เป็นวิธีรักษาที่ใช้กับอาการตากุ้งยิงในระยะเริ่มแรก โดยเป็นช่วงที่เปลือกตาเริ่มอักเสบแต่ยังไม่มีหนอง

ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาควบคู่ไปกับการประคบด้วยน้ำอุ่น เพื่อให้อาการอักเสบทุเลาลงและค่อยๆ หายเป็นปกติในที่สุด

แต่อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีนี้ ต้องได้รับการตรวจตาและการสั่งจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยาด้วยตัวเองเด็ดขาด

2.รักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดจะใช้เมื่อตากุ้งยิงมีตุ่มหรือก้อนแข็งเป็นไตขึ้นมา ซึ่งจะทำการผ่าและขูดออกให้สะอาดที่สุด

เนื่องจากหากยังคงมีหนองเหลืออยู่ จะทำให้มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกนั่นเอง นอกจากนี้หลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว

ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดอาการอักเสบหรือติดเชื้อใหม่อีกด้วย

การป้องกันไม่ให้เกิดตากุ้งยิง

ตากุ้งยิง แม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่มีอันตราย แต่เมื่อเป็นแล้วก็สร้างความเจ็บปวด และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อยเลยทีเดียว

ดังนั้นจึงควรป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคตากุ้งยิงจะดีกว่า ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการล้างหน้า สระผมให้สะอาดอยู่เสมอ

รวมถึงควรล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสบริเวณดวงตา เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคเข้ามาทำให้เปลือกตาเกิดการติดเชื้อได้นั่นเอง

นอกจากนี้ หากเริ่มมีอาการแปลกๆ ที่ส่อแววเหมือนจะเป็นตากุ้งยิง ก็ควรไปพบจักษุแพทย์โดยด่วน

วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นตากุ้งยิง

เมื่อเป็นตากุ้งยิง นอกจากการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ แล้ว ก็ต้องรู้จักดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการอักเสบยิ่งกว่าเดิม

และช่วยให้หายเร็วขึ้น โดยสามารถดูแลตัวเองได้ด้วย 5 วิธีดังต่อไปนี้

1.ล้างมือบ่อยๆ

เพราะมือเป็นแหล่งเชื้อโรคที่อาจจะนำพาเชื้อแบคทีเรียมากระตุ้นให้อาการตากุ้งยิงรุนแรงกว่าเดิมได้

ดังนั้นจึงควรล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้มือสัมผัสกับใบหน้าและผิวบริเวณรอบดวงตา

แต่หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้มือสัมผัสใบหน้าเลยจะดีกว่า

2.อย่าบีบหนองด้วยตัวเอง

หลายคนมักจะมีอาการคันไม้คันมือ อยากจะบีบหนองที่ดวงตาให้ออกหมดๆ ไป แต่นั่นถือเป็นข้อห้ามเลยทีเดียว

เพราะแทนที่จะหายจากอาการตากุ้งยิง กลับกลายเป็นการทำร้ายดวงตาให้อักเสบยิ่งกว่าเดิม ซึ่งหากต้องการเอาหนองออกควรไปพบแพทย์จะดีที่สุด

3.ประคบด้วยน้ำอุ่น

การประคบด้วยน้ำอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอุดตันของเปลือกตา จึงทำให้อาการตากุ้งยิงหายเป็นปกติเร็วขึ้น

ดังนั้นจึงควรประคบด้วยน้ำอุ่นอยู่เสมอ โดยให้ใช้ผ้าสะอาดชุบกับน้ำอุ่น จากนั้นนำมาประคบบริเวณตากุ้งยิงครั้งละ 15-20 นาที

ทำเป็นประจำวันละ 3-4 ครั้ง จะสังเกตได้ว่าอาการบวมลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว

4.งดใส่คอนแทคเลนส์

ในขณะที่เป็นตากุ้งยิง จะมีโอกาสติดเชื้อและเกิดอาการอักเสบได้ง่ายที่สุด ดังนั้นจึงควรงดการใส่คอนแทคเลนส์ไปก่อน

และหลังจากหายดีแล้ว ก็ให้ชะลอการใส่คอนแทคเลนส์ไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการอักเสบจนเป็นตากุ้งยิงซ้ำอีกนั่นเอง

5.เลี่ยงการแต่งหน้า

การแต่งหน้าอาจเป็นสิ่งที่สาวๆ มักจะขาดไม่ได้ แต่ช่วงที่กำลังเป็นตากุ้งยิง ก็คงต้องเลี่ยงการแต่งหน้าไปก่อน

โดยเฉพาะการใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตา เพราะนั่นจะทำให้เกิดการอักเสบ

เนื่องจากการหมักหมมของเครื่องสำอางและการสัมผัสกับสารเคมีที่อยู่ในเครื่องสำอางนั่นเอง

ตากุ้งยิง

Credit : onmed.gr

ไม่อยากเป็น ตากุ้งยิง ก็ควรดูแลรักษาความสะอาดของใบหน้า ผิวรอบดวงตาและมืออยู่เสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีฝุ่นควันเยอะๆ เพราะอาจมีเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียปะปนที่จะทำให้เป็นตากุ้งยิง หรือตาอักเสบได้นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะนอกจากตากุ้งยิงแล้วก็ยังมีโรคอื่นๆ เกี่ยวกับดวงตาที่ต้องระวังอีกด้วย