โรคปอดบวมในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อยมาก ๆ แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน เพราะเข้าใจว่า
จะพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และมักจะพบในช่วงที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลง (ช่วงปลายฝนต้นหนาว) ทั้งที่ความจริงแล้ว
ภูมิอากาศไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมในผู้สูงอายุนี้เลย แต่เกิดจากปัญหาทางด้านสุขภาพเสียเป็นส่วนมาก
ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกวิธี ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคร้ายแทรกซ้อน ที่เป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้
โรคปอดบวมในผู้สูงอายุ คืออะไร ?
การเกิดโรคปอดบวมในผู้สูงอายุ (Pneumonia) สามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ การได้รับเชื้อโรค และสาเหตุอื่น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น การสำลักน้ำที่มีส่วนประกอบของสิ่งสกปรก จนเป็นเหตุให้น้ำเข้าไปทำให้ปอดบวม หรือการสูดดมมลภาวะ
ที่เป็นพิษเป็นเวลานาน โดยเฉพาะน้ำมันและแก๊สพิษ แต่ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม สภาพของปอดหลังจากที่เป็นโรคปอดบวมแล้ว
ไม่ได้ต่างกันมากนัก คือ ปอดจะมีลักษณะอักเสบและบวมมากกว่าปกติ และอาจจะเกิดฝีหรือตุ่มหนองขึ้นภายในปอด
ที่ทำให้เกิดของเสียหลั่งออกมา ซึ่งของเสียที่ว่านี่ ก็คือเสมหะนั่นเอง โดยบางครั้งแพทย์อาจทำการวินิจฉัยว่า
ผู้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ หรือปอดติดเชื้อ แต่ความหมายของโรคก็หมายถึงโรคปอดบวมเช่นเดียวกันทั้งหมด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมในผู้สูงอายุ
มีปัจจัยเสี่ยงหลายชนิด ที่จะทำให้เป็นโรคปอดบวมได้ในผู้สูงอายุ ซึ่งมาจากปัญหาสุขภาพเสียเป็นส่วนใหญ่ตามที่ได้กล่าวไว้
ในข้างต้น ซึ่งเราได้รวบรวมปัจจัยหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี – ยิ่งอายุมาก เซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งระบบการทำงานของร่างกายก็เริ่มเสื่อมสภาพลง ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่โรคปอดบวมเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะเกิด โรคอื่น ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ – เพราะบุหรี่จะเข้าไปทำลายเนื้อปอดให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างผิดปกติ ยิ่งได้รับเชื้อโรคก็มีโอกาสที่จะแสดงอาการไวมากยิ่งขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ – ภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่ต่อต้าน หรือกำจัดเชื้อโรคบางชนิดไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ แต่เมื่อไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นจากการไม่แข็งแรง ไม่ค่อยได้ดูแลสุขภาพ หรือเป็นโรคบางชนิด เช่น ผู้ที่ได้รับเคมีบำบัด (ทำคีโม) ผู้ที่ต้องทานยากดภูมิ หรือผู้ที่มีการฟอกเลือดฟอกไตเป็นประจำ ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้สูง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด – เช่น โรคเกี่ยวกับปอด โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปอด
- ผู้ที่ไม่มีม้าม หรือม้ามไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ – เมื่อไม่มีม้าม ระบบทำลายเชื้อโรคในร่างกายก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างตามปกติ
- การไม่ดูแลสุขอนามัยให้ดี – ทานอาหารที่ไม่สะอาด หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลภาวะ
อาการของโรคปอดบวมในผู้สูงอายุ
ในขณะที่ปอดกำลังอักเสบ และบวมอยู่ภายในร่างกายนั้น อาการภายนอกของผู้ป่วยสูงอายุที่แสดงออกมาให้เห็น จะมีลักษณะ คือ
- มีอาการไข้ ไอ ร่วมกับการมีเสมหะ
- เมื่อไอมาก ๆ จะมีอาการเหนื่อยหอบ ร่วมกับการคลื่นไส้และอาเจียน แต่ผู้สูงอายุบางรายอาจจะไม่มีอาการไอให้เห็น เนื่องจากสมรรถภาพของกล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงต้องสังเกตอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม
- รู้สึกหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเศร้าซึมร่วมอยู่ด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นอาการนำเบื้องต้น ผู้ป่วยอาจจะมีอาการทั้งหมด หรือเป็นแค่บางอาการเท่านั้น ซึ่งถ้าพบอาการเหล่านี้
ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ก่อนที่จะมีอาการแทรกซ้อนต่อไป คือ
- การเกิดน้ำท่วมปอด หรือน้ำท่วมโพรงเยื่อหุ้มปอด
- การติดเชื้อ ที่ลามเข้าสู่กระแสเลือด จนทำให้เกิดการหายใจล้มเหลว
- ภาวะไตล้มเหลว
- อาการช็อกหมดสติ ที่อาจถึงขั้นเสียชีวิต
วิธีรักษาโรคปอดบวมในผู้สูงอายุ
เนื่องจากการเป็นโรคปอดบวมนั้น ส่วนมากมักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเสียเป็นส่วนใหญ่ แพทย์จึงมักจะทำการรักษา
ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อทำลายเชื้อโรค ด้วยวิธีการทาน และฉีด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่ถ้าหาก
มีอาการอื่นร่วมอยู่ด้วย เช่น เป็นไข้สูง หรือมีอาการไอ แพทย์ก็จะทำการรักษาตามอาการต่อไป
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อน แพทย์ก็จะทำการรักษาตามโรคที่เป็นนั้น ๆ เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ หากมีอวัยวะภายในล้มเหลว
การให้ยาควบคุมความดัน หรือการเจาะปอดเพื่อเอาน้ำที่คั่งออก เป็นต้น
วิธีป้องกันโรคปอดบวมในผู้สูงอายุ
การป้องกันโรคปอดบวม สามารถทำได้ง่าย เพียงแค่หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
- งดหรือเลิกสูบบุหรี่
- ดูแลสุขอนามัยรอบ ๆ ตัวให้สะอาด
Credit : www.wapt.com
โรคปอดบวมในผู้สูงอายุ ถือเป็นโรคน่ากลัวระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็อาจมีโอกาสที่เชื้อโรคจะดื้อยา
และรักษาได้ยากขึ้น ทางการแพทย์จึงได้พัฒนาทางเลือกในการป้องกันโรคปอดบวมอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผล ก็คือการฉีดวัคซีน
ป้องกันโรคปอดบวมนั่นเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถป้องกันการเกิดได้เป็นอย่างดี และกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันอีกด้วย