อย่ามองข้าม! โรคพยาธิใบไม้ในปอด วายร้ายเงียบที่เกิดจากการกินของดิบ

โรคพยาธิใบไม้ในปอด

โรคพยาธิใบไม้ในปอด ถือเป็นโรคที่หลายคนไม่ค่อยรู้จักเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับโรคพยาธิใบไม้ในตับที่ขึ้นชื่อกว่าในประเทศไทย

ซึ่งเกิดมาจากการบริโภคปลาน้ำจืดแบบดิบ ๆ ที่เป็นวิธีการปรุงอาหารในแบบของชาวอีสาน (ก้อยปลาดิบ, ลาบปลาดิบ)

และเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีข่าวหญิงจีนผู้ชื่นชอบการทานปลาแซลมอนเป็นชีวิตจิตใจ ตรวจพบพยาธิใบไม้ในตับ

และกระเพาะอาหารจำนวนมาก ยิ่งทำให้โรคนี้เป็นที่กล่าวถึงมากขึ้นไปอีก เราจึงขอนำเสนอโรคพยาธิใบไม้ในปอด

ให้ระวังกันเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะโรคนี้ก็เกิดจากการทานอาหารดิบ ประเภทกุ้งสด และปูจืดเช่นกัน

ทำความรู้จักโรคพยาธิใบไม้ในปอด และสาเหตุของการเกิดโรค

โรคพยาธิใบไม้ในปอด (Paragonimiasis) เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิใบไม้ที่ชื่อ จีนัส หรือ พาราโกนิมัส โดยมีขนาดกว้าง 5 มม. และหนา 3 มม.

ซึ่งเข้าไปเจริญเติบโตในปอดของมนุษย์ ส่วนคำถามที่ว่า พยาธิชนิดนี้เข้าไปในร่างกายของมนุษย์ได้อย่างไรนั้นก็ต้องอธิบายการเกิดวงจรของพยาธิชนิดนี้กันก่อน

วงจรของการเกิดพยาธิกระทั่งเข้าสู่ร่างกายมนุษย์

เมื่อพยาธิชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่น ๆ และมนุษย์ ก็จะมีการเจริญเติบโตจนกลายเป็นตัวแก่

(มีระยะเวลา 1 เดือน) โดยสังเกตได้จากพยาธิที่แก่แล้วจะมีเนื้อเยื่อ หรือถุงบาง ๆ หุ้มตัวอยู่ และมีไข่พยาธิออกมาปะปนกับเสมหะ

หรืออุจจาระ เมื่อสิ่งปฏิกูลทั้ง 2 ชนิดนี้ ถูกปล่อยลงไปในน้ำ ไข่ที่ติดมากับเสมหะหรืออุจจาระนั้นก็จะฟักตัวออกมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชื่อ

“ไมราซิเดียม” แล้วจะชอนไชเข้าไปในหอยน้ำจืดก่อน จากนั้นก็มีการพัฒนาตัวอ่อนอีกครั้งมาเป็นเซอร์คาเรีย

ซึ่งในการเจริญเติบโตในส่วนนี้ เซอร์คาเรียจะสามารถแพร่กระจายตัวเองออกมาได้อีกมากมาย และจะเข้าไปชอนไชสู่กุ้งรวมถึงปูน้ำจืดต่อไป

จากนั้นก็จะเข้าไปเจริญเติบโตอีกครั้งกลายเป็นตัวอ่อนพยาธิ ซึ่งต้องผ่านความร้อนอย่างเดียวเท่านั้นจึงจะตายสนิท !

ดังนั้น เมื่อคนเราทานกุ้งและปูน้ำจืดแบบดิบ ๆ เข้าไป ตัวอ่อนของพยาธิ ก็จะเข้าไปฝังตัวอยู่ในปอด

รอการเจริญเติบโตเป็นตัวแก่อีกครั้ง และหากตัวอ่อนของพยาธิหลงทางไปอวัยวะอื่น ๆ นอกจากปอด

เช่น ผิวหนัง ลูกตาและสมอง ก็อาจสร้างความสยองให้กับผู้ที่ได้รับพยาธิจนน่าสะพรึงเลยทีเดียว

ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงได้รับพยาธิสูง

โรคนี้สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ซึ่งแต่เดิมนั้นสามารถพบได้ในภาคเหนือ โดยเฉพาะผู้ที่นิยมบริโภคปูนา และกุ้งแบบสด ๆ

แต่ปัจจุบันนี้เริ่มพบผู้ป่วยที่ภาคกลางเพิ่มมากขึ้น จากการบริโภคกุ้งและปูดิบอย่างเช่น กุ้งแช่น้ำปลา ส้มตำกุ้งสด หรือยำมะม่วงปูจืด เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่า โรคนี้มีการติดต่อจากคนสู่คน พบเพียงการติดต่อผ่านสัตว์อย่างเช่น หอย กุ้ง และปูเท่านั้น

อาการของโรคพยาธิใบไม้ในปอด

หากมีพยาธิใบไม้อยู่ในปอดมาก ปอดจะเริ่มมีการอักเสบ และเนื้อปอดจะได้รับความเสียหาย จนถึงขั้นทำให้เซลล์ตายได้

หากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจจะกลายเป็นโพรงที่มีหนองอยู่ภายใน และเป็นที่ฝักตัวของพยาธิที่มีสีคล้ายกับสีสนิม

อาการที่พบของผู้ป่วยโรคนี้ จึงมีความคล้ายคลึงกับผู้ที่เป็นโรควัณโรคปอด คือ

  • มีอาการไอเรื้อรัง และจะไอหนักมาก ๆ ในตอนเช้า
  • มีเสมหะสีเขียวข้น หากมีความรุนแรงอาจพบว่ามีเลือดปนออกมากับเสมหะ และอาจมีตัวพยาธิออกมาปนอยู่ด้วย
  • มีอาการเจ็บหน้าอกเมื่อต้องออกแรง
  • ถ้าหากพยาธิชอนไชเข้าไปในอวัยวะอื่น ๆ ก็อาจพบโพรงหนองสีสนิมได้เช่นกัน แต่อาการที่แสดงนั้น ก็จะเป็นไปตามการทำงานของอวัยวะชนิดนั้น ๆ เช่น หากชอนไชเข้าไปอยู่ในสมอง ก็อาจพบอาการชัก หรือสายตาไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติ หากเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร ก็จะทำให้ปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นต้น

วิธีรักษาโรคพยาธิใบไม้ในปอด

ข้อดีของโรคพยาธิใบไม้ในปอด ที่ต้องพูดถึงคือ สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงแค่ทานยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น

ไม่ต้องทำการผ่าตัดแต่อย่างใด ยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งหายเร็ว โดยยาที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคนี้ได้แก่

Bithional 30-40 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.

Prazlquamtel 25 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.

Bitins 10 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.

โดยยาทั้ง 3 ชนิดนี้ อาจทำให้ผู้ป่วยมีผลข้างเคียงเล็กน้อย คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แต่ไม่มีความรุนแรงถึงขั้นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล

แต่อย่างไรก็ตาม การทานยาทั้ง 3 ชนิดนี้ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และต้องทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

จะช่วยให้หายได้ภายในระยะเวลาไม่นาน (แต่การที่ปอดจะซ่อมแซมตัวเองจนหายนั้น ต้องใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป)

วิธีป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในปอด

วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือการลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ได้เลย

1.หลีกเลี่ยงการกินอาหารสดๆ ดิบๆ

คือไม่กินกุ้ง และปูดิบ ๆ โดยเฉพาะปูนา ที่นำมาทำเป็นปูจืดสำหรับประกอบอาหารประเภทส้มตำ และยำ เป็นต้น

นอกจากนี้ เขียงกับมีดที่นำมาใช้ในการประกอบอาหาร ก็ควรผ่านการลวกด้วยน้ำร้อนทุกครั้ง

ก็จะช่วยฆ่าไข่พยาธิที่อาจติดอยู่ตามเขียงและมีด ระหว่างที่มีการสับหรือหั่นได้

2.ใส่ใจดูแลสุขอนามัยให้ดี

เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ใครบ้างที่มีพยาธิใบไม้อยู่ในตัว ดังนั้นจึงควรมีการดูแลสุขอนามัยให้สะอาด

โดยเฉพาะวิธีการกำจัดเสมหะและอุจจาระที่ไม่ควรปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

หากเป็นไปได้ควรทำการกลบฝังดินให้เรียบร้อย จะช่วยลดการเกิดของพยาธิชนิดนี้ลงได้

3.พบแพทย์เมื่อร่างกายมีอาการผิดปกติ

เมื่อพบความผิดปกติเกี่ยวกับปอด เช่น มีอาการไอ มีเสมหะเหนียวข้น ทานยาแล้วก็ยังไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

Credit : holadoctor.com

โรคพยาธิใบไม้ในปอด เป็นโรคร้ายที่มีความน่ากลัวพอสมควร เพราะถ้าหากพยาธิมีการชอนไชไปสู่อวัยวะอื่น เช่น สมอง ก็ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่

ดังนั้นหากเป็นไปได้ ก็ควรปรุงอาหารให้สุกทุกชนิด ไม่เฉพาะแค่กุ้ง ปู ปลาเท่านั้น เนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็เช่นกัน

ถึงแม้ว่า อาจจะขาดรสชาติที่ถูกปากไปบ้าง แต่ถ้าแลกกับสุขภาพที่ดี และการไม่ต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ก็นับว่าคุ้มค่าที่จะปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง