ไวรัสโรต้า ไวรัสวายร้ายทำลายสุขภาพเด็ก โรคที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง !

ไวรัสโรต้า

ไวรัสโรต้า เป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่ผู้ปกครองควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะสามารถที่จะเกิดการติดต่อได้ในเด็ก

แถมยังแพร่ระบาดติดต่อกันได้ง่ายอีกด้วย วันนี้เราจึงพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักเจ้า เชื้อไวรัสโรต้า นี้กัน

ไวรัสโรต้าคืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกันทำได้อย่างไรบ้าง? บทความนี้พร้อมที่จะพาคุณไปทำความรู้จักอย่างละเอียดยิ่งขึ้นแล้วค่ะ

ไวรัสโรต้า คืออะไร?

ไวรัสโรต้า (Rotavirus) คือ ไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในลำไส้ โดยเมื่อร่างกายผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อแล้ว

ก็จะทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้น ทั้งในกระเพาะอาหารและภายในลำไส้ ดังนั้นไวรัสโรต้าจึงเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดโรคท้องร่วงรุนแรง

และส่วนใหญ่แล้วมักจะพบในเด็กจำนวน 5 แสนคนทั่วโลกในทุกๆ ปี ซึ่งสาเหตุที่มีชื่อว่าไวรัสโรต้านั้น

เนื่องจากลักษณะของเชื้อไวรัส เมื่อส่องผ่านทางกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเชื้อไวรัสเป็นลักษณะรูปวงล้อ

ในทั่วโลกอย่างที่บอกว่าเด็กนั้นมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสมากที่สุด ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน

สาเหตุของการติดเชื้อไวรัสโรต้า

ในการที่จะติดเชื้อโรคไวรัสโรต้า ต้องบอกก่อนเลยว่าแหล่งที่อยู่อาศัยนั้นสำคัญ เพราะไวรัสชนิดนี้จะอยู่ในพื้นที่ที่มีความสกปรก

รวมถึงอาหารที่ไม่สะอาดก็สามารถที่จะถูกเจือปนด้วยไวรัสโรต้าได้ และหลังจากนั้นก็จะเกิดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส

โดยสามารถที่จะแพร่กระจายได้ผ่านทางการสัมผัสรูปแบบต่างๆ ผ่านทางสิ่งของ เช่น เครื่องใช้ อาหาร ของเล่น

และเมื่อผ่านการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อโรคแล้วไม่ได้ล้างมือ ก็จะทำให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย

แต่สิ่งสำคัญที่ควรจะต้องทราบ คือ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่สัมผัสโดยตรง แต่สัมผัสผ่านทางผิวหนัง เช่น แขน ขา

ไวรัสโรต้าก็จะอยู่บนพื้นผิวเหล่านั้น โดยที่สามารถอยู่ได้เป็นนานเป็นสัปดาห์ ถ้าหากว่าบริเวณนั้นไม่ได้รับทำการทำความสะอาด

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการทำความสะอาดตั้งแต่ร่างกาย ของใช้ และสถานที่บริเวณรอบๆ ตัว ย่อมช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ในเด็กได้แน่นอน

ชนิดของไวรัสโรต้า

สำหรับไวรัสโรต้าในปัจจุบัน บอกเลยว่าสามารถที่จะแบ่งได้ 8 ชนิด คือ ไวรัส A, B, C, D, E, F, G และ H

แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อชนิด A มากที่สุดในเด็กเล็ก ทั้งนี้ในบางชนิดก็อาจจะเกิดได้ในประเทศและนอกประเทศ

การติดต่อของเชื้อไวรัสโรต้า เกิดขึ้นได้อย่างไร?

สำหรับการติดเชื้อไวรัสโรต้าภายในเด็กนั้น การติดเชื้ออาจจะมาจากการสัมผัสอุจจาระของเด็กเอง หรือถ้าหากว่าเด็กไปอยู่ในสถานที่ที่มีเด็กเยอะ

ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สนามเด็กเล่น หรือที่อื่นๆ ก็สามารถทำให้เด็กสัมผัสเชื้อนี้ได้จากมือ, ของเล่น, ของใช้, อาหาร และน้ำ เป็นต้น

อาการของการติดเชื้อไวรัสโรต้า

สำหรับอาการของโรคเชื้อไวรัสโรต้า สามารถที่จะจำแนกออกไปได้ทั้งโรคที่เกิดขึ้นในเด็กและในผู้ใหญ่ โดยอาการที่เกิดขึ้นบ่งบอกลักษณะชัดเจนได้ดังนี้

อาการติดเชื้อไวรัสโรต้าในผู้ใหญ่

เมื่อผู้ใหญ่ได้สัมผัสเชื้อโรต้าไวรัสก็อาจจะไม่อันตรายเท่ากับเด็ก เพราะเนื่องจากผู้ใหญ่มีภูมิคุ้มกันในส่วนนี้เป็นอย่างดี จึงไม่ทำให้เกิดการแสดงอาการออกมา

อาการติดเชื้อโรต้าไวรัสในเด็ก

เป็นอาการที่แตกต่างกันกับผู้ใหญ่โดยสิ้นเชิง เนื่องจากในเด็กนั้นอาจจะไม่ได้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะต้านทานโรคที่เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดการแสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน ดังนี้

  • อาเจียน
  • อุจจาระมีสีที่ต่างจากปกติ (โดยอาจจะมีสีดำ แต่สำหรับบางรายอาจจะมีเลือด/หนองปนออกมาได้)
  • มีไข้สูง
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดท้อง
  • หงุดหงิด

เมื่อเด็กเกิดภาวะท้องเสีย แน่นอนว่าจะเป็นปัญหาที่อันตราย เพราะจะทำให้เด็กเกิดภาวะคายน้ำตามมาด้วย และเสี่ยงต่อการทำให้เสียชีวิต โดยเด็กสามารถที่จะแสดงอาการของภาวะคายน้ำออกมาได้ ดังนี้

  • ง่วงนอน
  • ปากแห้ง
  • อุณหภูมิในร่างกายต่ำ
  • ไม่มีน้ำตา เมื่อร้องไห้
  • อยากน้ำมากยิ่งขึ้น
  • บริเวณกลางศีรษะมีหลุมยุบ
  • ไม่ค่อยปัสสาวะ

ระยะเวลาการติดเชื้อไวรัสโรต้า

สำหรับในช่วงระยะเวลาของการติดเชื้อไวรัสโรต้า ในช่วงระยะเวลา 7 วันแรก เด็กจะมีการแสดงออกของอาการตามปกติ

และจะใช้ในการติดเชื้อไม่เกิน 10 วัน แต่ถ้าหากในช่วงระยะเวลาที่กำหนดผู้ป่วยมีอาการแย่ลง ก็จำเป็นที่จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที

ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า

สำหรับการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถที่จะส่งผลต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกัน คือ ภาวะขาดน้ำของร่างกาย

ซึ่งเป็นภาวะที่มีความอันตรายต่อเด็กเป็นอย่างมาก เพราะสามารถที่จะทำให้เสียชีวิตได้

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า

การวินิจฉัยแพทย์จะใช้วิธีสอบถามประวัติของผู้ป่วย และนอกจากนั้นแล้วก็จะมีการสอบถามอาการที่เกิดขึ้น

แต่ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำในการตรวจแยกเชื้อไวรัสที่ทำให้ส่งผลต่อการเกิดอาการ อาจจะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ คือการส่งอุจจาระตรวจ

วิธีรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า

สำหรับวิธีรักษาการติดเชื้อไวรัสโรต้า อาจจะต้องใช้วิธีในการรักษาไปตามอาการ โดยสามารถทำได้ ดังนี้

1.รักษาอาการไข้

สำหรับการรักษาอาการไข้ ควรที่จะต้องเช็ดตัวอยู่บ่อยๆ เพื่อที่จะช่วยในการลดไข้โดยเฉพาะการเช็ดบริเวณข้อพับ และควรที่จะต้องให้ยาลดไข้ร่วมด้วย

2.รักษาอาการกินไม่ได้

สำหรับเด็กๆ อาจจะมีปัญหากินอาหารไม่ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันร่างกายขาดสารอาหารและส่งผลอันตรายควรที่จะต้องพยายามให้น้ำเปล่า

หรืออาจจะให้เกลือแร่ในการทดแทน อาจจะต้องพยายามป้อนหรือสำหรับเด็กบางคนก็อาจจะต้องให้ผ่านทางหลอดเลือดดำ

แต่ถ้าหากว่าเริ่มกินได้ก็ควรที่จะให้รับประทานอาหารอ่อนๆ อย่างเช่น ข้าวต้มหรืออาหารที่ไม่มีการปรุงรสชาติ และทั้งนี้สามารถที่จะให้รับประทานแครกเกอร์ โซดา ขนมปัง

แต่ควรที่จะให้หลีกเลี่ยงการรับประทานนม น้ำแอปเปิ้ล น้ำส้ม เพราะจะทำให้อาการแย่ลง

วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า

วิธีป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสโรต้า สามารถที่จะเริ่มป้องกันได้ตั้งแต่เด็ก ดังนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรจะรู้ไว้ดังนี้

1.ป้องกันด้วยวัคซีน

สำหรับวัคซีนเพิ่งจะถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ เนื่องจากวัคซีนรุ่นแรกที่ผลิตออกมาส่งผลทำให้เกิดลำไส้อุดตัน แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันสำหรับวัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่จะมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยสามารถแบ่งชนิดวัคซีนได้ ดังนี้

1.1 Live attenuated human rotavirus vaccine (RotarixTm) คือ วัคซีนที่มาจากมนุษย์ และทำให้เชื้อไวรัสที่สกัดมานั้นมีฤทธิ์อ่อนลง

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมาในรูปแบบผงละลายน้ำและหยดใส่ปาก แต่ไม่แนะนำสำหรับเด็กที่แพ้ยาง

1.2 Bovine-human reassortant rotavirus vaccine (RotaTeqTm) คือ วัคซีนที่มีการนำมาผสมกันระหว่างเชื้อไวรัสที่สกัดมาจากมนุษย์

และทำให้มีฤทธิ์อ่อนลง รวมทั้งวัคซีนที่สกัดออกมาจากวัว แม้ครั้งนี้จะอยู่ในรูปของยาน้ำ สามารถให้เด็กรับประทานได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม การรับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถส่งผลทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน

โดยอาจจะทำให้เกิดอาการปวดท้องหรือมีอาการถ่ายเหลว แต่ถ้าหากว่ามีความผิดปกติไปมากกว่านี้ควรที่จะต้องรีบปรึกษาแพทย์

2.รักษาความสะอาด

เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากต้องการที่จะป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสโรต้าในเด็ก โดยในขณะที่จะเตรียมอาหารหรือเตรียมนมให้กับเด็กนั้นควรที่จะต้องล้างมือ

ไม่เพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภาชนะหรือสิ่งของเครื่องใช้ของเด็กก็ควรสะอาด เพราะจะช่วยในการลดความเสี่ยงสำหรับการติดเชื้อจากไวรัสโรต้าได้

Credit : samitivejhospitals.com

ไวรัสโรต้า อาจเป็นโรคที่ไม่ได้ส่งผลอันตรายต่อผู้ใหญ่แต่อย่างใด แต่สำหรับเด็กเมื่อเป็นโรคนี้แล้วสามารถส่งผลได้ถึงชีวิตเลยทีเดียว

ดังนั้นจึงควรพบแพทย์โดยทันที หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจปล่อยไว้อย่างเด็ดขาด เพราะเด็กมีภูมิต้านทานอ่อนแอกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งง่ายต่อการเสี่ยงอันตรายสูง