2558 กรุงรัตนโกสินทร์ 233 ปี ท้องสนามหลวง อย่าพลาดชม

งาน 233ปี รัตนโกสินทร์ สนามหลวง

เนื่องในปีพ.ศ. 2558 ปีนี้ กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 233 ปี กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการจัดงาน มหกรรมวัฒนธรรม “ต้ร่มพระบารมี233 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-21 เม.ย. นี้ ที่ท้องสนามหลวงและรอบเกาะรัตนโกสินทร์

โดยเฉพาะปีนี้ เป็นปีมหามงคล ฉลองพระชนมายุ 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และฉลอง 233 ปี กรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ส่วนที่เรียกว่า “เกาะรัตนโกสินทร์” จึงคึกคักเป็นพิเศษ

เพื่อเทิดพระเกียรติ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ที่จะมีวาระครบ 233 ปี

โดยจะมีการจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ตามประเพณีไทย ได้แก่ การจัดริ้วขบวนใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์ นำเสนอเหตุการณ์สำคัญ

ความเป็นอยู่และศิลปวัฒนธรรม ในแต่ละรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ ทั้ง 9 รัชกาลโดยหัวขบวนจะเริ่มตั้งแต่

บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินถึงท้องสนามหลวง มีความยาวกว่า 1.5 กิโลเมตรและมีคณะนักแสดงกว่า 2,000คน

รายละเอียดกิจกรรมงาน “ใต้ร่มพระบารมี ๒๓๓ ปี กรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ ๑๗ – ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘ ณ ท้องสนามหลวง

233 ปีกรุงรัตนโกสินทร์

การแสดงที่โดดเด่นของงานในปีนี้ คือ การแสดงนาฏศิลป์ดนตรี 4 ภาค ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของวัฒนธรรมในแต่ละภาคอันมีเอกลักษณ์ สวยงาม และเด่นชัดกันออกไป เช่น ภาคเหนือ ชุดฟ้อนขันดอกออกฟ้อนที ที่เป็นการแสดงพื้นเมืองของภาคเหนือ

ประกอบด้วยการแสดง 2 ช่วง ช่วงแรกคือ ชุดฟ้อนขันดอก เป็นการฟ้อนรำบูชา พระรัตนตรัย เพื่อให้บังเกิดความสงบร่มเย็นให้แก่บ้านเมือง โดยมีอุปกรณ์ประกอบการแสดงเป็นพาน ขันดอกใส่ดอกไม้ และมีการโปรยดอกไม้เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสอันเป็นมงคล

ช่วงที่สอง ชุดฟ้อนที เป็นการแสดงประกอบการถือร่ม ซึ่งคำว่า “ที” ภาษาไต ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งทางตอนเหนือแปลว่า “ร่ม” เป็นการรำประกอบการใช้ร่มของหญิงสาวชาวเหนือในลีลาที่อ่อนช้อยสวยงาม นิยมแสดงในงานอันเป็นมงคลต่างๆ ภาคกลาง ชุดระบำฉิ่ง กรับ กลอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชุดหมากกั๊บแก๊บ-ลำเพลิน และภาคใต้การแสดงรำโนราห์

นอกจากการแสดงดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมอีกมากมาย เช่น การแสดงนาฏศิลป์สร้างสรรค์ ชุดโขงปูน มูลคราม และการแสดงชุดกีปัสเรนัง และอื่นๆ อีกมากมายภายในงาน จึงขอเชิญชวนทุกท่านให้มาร่วมสัมผัสกับบรรยากาศจริง “ใครชอบการแสดงแบบไหน ก็เลือกตามใจชอบได้เลย”

การแสดงสุดยอดศิลปวัฒนธรรมไทย ได้แก่

– มหกรรมภาพยนตร์ย้อนยุค ฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของกรุงเทพฯ บนรถโรงหนัง

– มหกรรมว่าวไทยและว่าวนานาชาติ โดยจัดแข่งขันว่าวจากนักเล่นว่าวชาวไทย และการละเล่นพื้นบ้านของไทย

– การแสดงมหกรรมโขน กิจกรรมรำวงย้อนยุคและลีลาศย้อนยุค โดยจะนำบทเพลงของสุนทราภรณ์มาประกอบการลีลาศย้อนยุคอย่างยิ่งใหญ่อลังการ การแสดงพื้นบ้านสี่ภาค (ของดีบ้านฉัน) การแสดงจากสมาคมศิลปะ การแสดงเพลงรักชาติ การแสดงจากศิลปินร่วมสมัย การแสดงจากศิลปินแห่งชาติ

– การประกวดกุลสตรีศรีรัตนโกสินทร์ โดยสำนักงานวัฒนธรรมทุกจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด เป็นผู้คัดสรร สาวงามที่จะมาเป็นตัวแทนประกวด พร้อมทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นตนเองด้วย จึงทำให้การประกวดกุลสตรีศรีรัตนโกสินทร์ มีความแตกต่างจากการประกวดสาวงามอื่นๆ ตรงที่นอกจากสาวงามจะมีความงดงามที่ใบหน้าแล้ว ยังต้องมีความงดงามอย่างมีคุณค่าในแบบไทยอีกด้วย

เพื่อแสดงถึงความงดงามของผู้หญิงไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ว่า ผู้หญิงไทยเป็นผู้หญิงที่เป็นกุลสตรีเป็นที่กล่าวขานกันอย่างยาวนานโดยเป็นดั่งทูตวัฒนธรรม ทำหน้าที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นให้แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับทราบ ทั้งนี้ยังได้รับมอบหมายหน้าที่ในการเป็นแบบถ่ายภาพชุดไทยประจำรัชกาลและชุดแต่งกายชาติพันธุ์ของแต่ละท้องถิ่น เพื่อจัดทำเป็นหนังสือเครื่องแต่งกายของไทยต่อไป

นอกจากนี้กิจกรรมภายในงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ยังมี…

การถ่ายทอดเรื่องราวที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย อันงดงามและประทับใจ อาทิ ริ้วขบวนใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์ของพระมหากษัตริย์ทั้ง 9 รัชกาล พิธีบวงสรวงเทพยดาและดวงพระวิญญาณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ กิจกรรมไหว้พระ 9 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 9 รัชกาล

นิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่องกรุงรัตนโกสินทร์ กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ การเสวนาทางวิชาการ เรื่องอมตนครอมรรัตนโกสินทร์ การสาธิตและจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากสภาวัฒนธรรม กทม. 50 เขต

การจัดนิทรรศการสาธิต จำหน่ายของดีบ้านฉัน ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (CPOT) กิจกรรมท่องเที่ยว เชิงประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ มหกรรมว่าวไทยและว่าวนานาชาติ มหกรรมภาพยนตร์ย้อนยุค รวมทั้งการประกวดกุลสตรีศรีรัตนโกสินทร์ ฯลฯ

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ สายด่วนวัฒนธรรม 1765 และเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม www.m-culture.go.th