ภาวะสมองขาดเลือด เป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อยในประเทศไทย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าโรคนี้คืออะไร
ซึ่งนอกจากจะเป็นโรคร้ายที่ยากต่อการรักษาแล้ว โรคนี้ยังสร้างปัญหาและความทุกข์ใจให้กับผู้ป่วย
และครอบครัวของผู้ป่วยเป็นระยะเวลานาน ที่จะต้องเผชิญกับเรื่องของการดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
จึงเป็นเหตุให้ต้องเสียทั้งค่าใช้จ่าย เสียทั้งเวลาและยังเสียโอกาสอีกหลาย ๆ อย่าง
ดังนั้น มาทำความรู้จักภาวะสมองขาดเลือดให้มากขึ้นกัน เพื่อที่จะได้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกับตัวเองและคนรอบข้างในอนาคต
ภาวะสมองขาดเลือด คืออะไร ?
ภาวะสมองขาดเลือด (Stroke) เป็นภาวะที่เกิดจากการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด หรือหลอดเลือดสมอง
จนทำให้ไม่สามารถนำเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ (คล้าย ๆ กับปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่เปลี่ยนมาเป็นสมอง)
ซึ่งจะทำให้เซลล์สมองเสียหาย และอาจมีบางส่วนที่ตายได้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์นั้น จะขึ้นอยู่กับว่า
เซลล์สมองส่วนใดที่ได้รับความเสียหายจากภาวะขาดเลือด หากเป็นเซลล์สมองด้านซ้าย ก็อาจทำให้เกิดการเป็นอัมพาตซีกขวา
และมีปัญหาเกี่ยวกับการพูด แต่ถ้าเป็นเซลล์สมองด้านขวา ก็อาจทำให้เกิดการเป็นอัมพาตซีกซ้ายได้
แต่นอกจากการอุดตันของหลอดเลือดแล้ว ก็ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดได้ นั่นก็คือ การที่หลอดเลือดแตก
จนทำให้เกิดเลือดออกในสมอง แต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว ก็ยังถือว่าเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ
สาเหตุของภาวะสมองขาดเลือด
สำหรับสาเหตุหลักที่แท้จริงของภาวะสมองขาดเลือด ก็คือการที่มีไขมันไปอุดตันที่ผนังหลอดเลือด ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในส่วนของโรค
ซึ่งเกิดจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ
- ระดับไขมันในเลือดสูง – โดยเฉพาะไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดภาวะสมองขาดเลือด
- ความดันโลหิตสูง
- สูบบุหรี่ – ในบุหรี่มีสารพิษต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นนิโคติน ทาร์ คาร์บอนมอนออกไซด์ ซึ่งล้วนแต่เป็นการทำลายผนังหลอดเลือดหัวใจ และเป็นตัวขัดขวางการนำออกซิเจนเข้าสู่สมอง
- เป็นโรคอ้วน – การทานอาหารที่ไม่ถูกต้องตามโภชนาการ ส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันส่วนเกิน จึงทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดได้
- เป็นโรคเบาหวาน – หากมีปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป ก็จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดได้
- เป็นโรคเก๊าท์
อาการของภาวะสมองขาดเลือด
ถึงแม้ว่า การที่ภาวะสมองขาดเลือด จะมีผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้เซลล์สมองตายจนเกิดความเสียหายกับร่างกายได้
แต่ก็ใช่ว่าเมื่อขาดเลือดแล้ว เซลล์ต่าง ๆ ก็จะเริ่มตายทันที แต่จะมีสัญญาณเตือน หรือสัญญาณนำ เพื่อให้ผู้ป่วย
ได้มีโอกาสไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งจะสามารถรักษาให้ภาวะนี้หายเป็นปกติได้ โดยอาการนำต่าง ๆ มีเป็นสัญญาณเตือน มีดังต่อไปนี้
1.เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา หรือการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพเบลอ ภาพซ้อน หรือมีอาการตาบอดชั่วคราว
ทั้งที่ไม่เคยมีอาการนี้มาก่อน หรือไม่ได้รับการถูกกระแทกที่ศีรษะแต่อย่างใด
2.เกิดอาการสับสน และมีปัญหาในเรื่องของการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ
บางครั้งอาจพบปัญหาเรื่องของการความจำเสื่อมชั่วคราว รวมทั้งการคิดแบบไม่เป็นเหตุเป็นผล
3.มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด อาจจะไม่สามารถพูดได้ตามปกติ หรือเกิดอาการลิ้นแข็ง ลิ้นคับปาก
ในบางรายอาจจะมีปัญหาเรื่องการเรียบเรียงคำหรือเรียบเรียงประโยค ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
4.รู้สึกชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะบริเวณนิ้วมือ มือ แขน ขา หรืออาจจะเป็นที่ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งเลยก็เป็นได้
ยิ่งถ้าหากมีอาการรุนแรงมากขึ้น อาจไม่สามารถขยับได้เลย หรือที่เรียกว่าเป็นอัมพาต
5.เวียนศีรษะ ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน ขาทั้งสองข้างอ่อนแรงลงดื้อ ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดขึ้นแบะกะทันหัน และหายไปเองในเวลาไม่นาน
วิธีรักษาภาวะสมองขาดเลือด
เมื่อพบว่ามีสัญญาณเตือน หรืออาการนำตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยทันที
ว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ เพราะถ้าหากเป็นก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยที่ไม่เกิดปัญหาใด ๆ กับร่างกาย โดยส่วนมากแพทย์
มักจะทำการรักษาตามอาการก่อน ซึ่งอาจจะเริ่มจากการให้ยาสลายลิ่มเลือด หรือยาลดไขมัน ซึ่งในระหว่างนี้ก็อาจจะต้อง
ระวังเรื่องของโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเพิ่มขึ้นได้ เช่น
- ภาวะสมองบวม ที่เกิดจากเนื้อเยื่อสมองบางส่วนถูกทำลายจนได้รับความเสียหาย
- การมีเลือดออกในสมอง อันเกิดจากที่หลอดเลือดแดงแตก ทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น
- การติดเชื้อในอวัยวะส่วนต่าง ๆ
- โรคปอดบวม
ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง จนอาจถึงขั้นเป็นอัมพาตในระยะเบื้องต้นแล้ว ก็จะต้องมีการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดต่อไป
และจะต้องระวังเรื่องของแผลกดทับมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้ ซึ่งถ้าหากอาการยังไม่รุนแรง
มีการพบแพทย์ และทำกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะหายได้
วิธีป้องกันภาวะสมองขาดเลือด
เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงและควบคุมได้ ปัจจุบัน
แพทย์จึงมักจะแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ได้ทำการตรวจร่างกายเพื่อหาความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากยิ่งขึ้น เพราะถ้าหากรู้ไว
ก็สามารถรักษาได้ไวและหายขาด ซึ่งถ้าหากยังไม่พบเจอความเสี่ยง ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ และควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนจนเกินไป
- งดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงสถานอโคจรที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่
- หางานอดิเรกทำ หรือไปเที่ยวพักผ่อน เพื่อผ่อนคลายจากความตึงเครียดบ้าง
- ตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
Credit : health.mthai.com
ภาวะสมองขาดเลือด เป็นภาวะที่ยังไม่สามารถป้องกันได้แบบ 100% ทำได้เพียงการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิด
ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้เพียงเท่านั้น และถ้าหากเกิดความผิดปกติขึ้น ก็ต้องรีบพบแพทย์ในทันที
ซึ่งความรวดเร็วเท่านั้นที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยโรคนี้ให้หายเป็นปกติได้ เพราะฉะนั้นจึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง
และคนในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารถรักษาได้ทันเวลา