มะเร็ง เป็นโรคที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะอวัยวะใดก็ตาม ล้วนย่อมทำให้ผู้ป่วยเกิดความไม่สบายใจ
หมดกำลังใจกับการมีชีวิตอยู่ต่อ บางรายอาจถึงขั้นคิดมากจนทำให้อาการของมะเร็งกำเริบหนัก และเสียชีวิตได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น
วันนี้เราจึงนำข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับ โรคมะเร็ง มาฝาก แต่เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในสมอง นั่นก็คือ มะเร็งสมอง GBM นั่นเอง
มะเร็งชนิดนี้คืออะไร ร้ายแรงแค่ไหน สามารถรักษาได้หรือไม่ รีบตามไปทำความรู้จักพร้อมๆ กันเลยค่ะ
มะเร็งสมอง GMB คืออะไร?
มะเร็งสมอง GMB (Glioblastoma Multiforme) เป็นเนื้องอกไกลโอม่าชนิด G4 (grade 4) หรือระดับที่ 4 ซึ่งเป็นเนื้องอกไกลโอม่า
ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และจัดเป็นเนื้องอกที่เป็นมะเร็ง โดยมักจะพบมะเร็งสมอง GBM ในวัยผู้ใหญ่มากกว่าในวัยเด็ก
มะเร็งสมอง GBM อาจเกิดขึ้นกับสมองส่วนใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นกับสมองกลีบหน้า (Frontal lobe)
ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิดความอ่าน และสมองกลีบขมับ (Temporal lobe) ที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกเกี่ยวกับกลิ่นและการได้ยินเสียง
เนื่องจากมะเร็งสมอง GBM เป็นโรคที่ร้ายแรง จึงส่งผลทำให้ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 15 เดือนหลังจากได้รับการวินิจฉัย
สาเหตุของมะเร็งสมอง GBM
มะเร็งสมอง GBM เป็นมะเร็งที่เกิดจากเนื้องอกไกลโอม่า ซึ่งเนื้องอกไกลโอม่านั้นเกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์เกลีย (gial cell)
ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือการทำงานของเซลล์ประสาท โดยทั่วไปแล้วเนื้องอกไกลโอม่ามักเป็นเนื้องอกธรรมดา
(เนื้องอกในระดับ G1 และ G2 หรือ low grade glioma) แต่ถ้าเนื้องอกมีการเจริญเติบโตมากขึ้นรวมถึงมีการแพร่กระจาย
ก็จะกลายเป็นเนื้องอกที่เป็นมะเร็งในที่สุด ซึ่งมะเร็งสมอง GMB จัดอยู่ในเนื้องอกไกลโอม่าชนิด G4 (high grade glioma)
ซึ่งลักษณะทางพยาธิวิทยาของเซลล์จากเนื้องอก จะไม่สามารถจำแนกลักษณะของเซลล์ได้อย่างชัดเจน (undifferentiated)
ความชุกและอุบัติการณ์
จากการรวบรวมข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา โรคมะเร็งสมอง GBM มีอุบัติการณ์การเกิดในประชากร 2-3 คน
ต่อประชาการ 100,000 คนต่อปี โดยคิดเป็นร้อยละ 52 ของโรคเนื้องอกในสมองชนิดปฐมภูมิ และคิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์
ของเนื้องอกในสมองทั้งชนิดปฐมภูมิ (primary) และชนิดทุติยภูมิ (secondary) หรือชนิดที่เกิดจากการกระจายตัว
จากมะเร็งส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย (metastasis) โรคมะเร็งสมอง GBM มักจะเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่อายุระหว่าง 45 ถึง 70 ปี
อาการและอาการแสดง (signs and symptoms)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งสมอง GBM มักมีประวัติความเจ็บป่วยก่อนได้รับการวินิจฉัยเพียงระยะเวลาสั้น ๆ โดยเฉลี่ยน้อยกว่า 3 เดือน โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- การเสียประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท โดยเฉพาะการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อแขน ขา และกล้ามเนื้อลาย
- อาการปวดหัว
- อาการที่เกิดขึ้นจากความดันภายในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น เช่น อาการปวดหัว คลื่นไส้ และอาเจียน
- ชัก (โดยที่ไม่เคยเป็นโรคลมชักมาก่อน)
นอกจากนี้ อาการต่าง ๆ ที่แสดงออกมา ยังอาจมีความเกี่ยวข้องกับบริเวณของสมองที่มีเนื้องอกหรือได้รับผลกระทบจากเนื้องอก
เช่น การสูญเสียการรับสัมผัส การสูญเสียการมองเห็น การมองเห็นผิดปกติ การได้ยินผิดปกติ รวมถึงอัมพฤกษ์ครึ่งซีก (hemiparesis)
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งสมอง GBM
สาเหตุของโรคมะเร็งสมอง GBM ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสของมะเร็งสมอง GBM ได้แก่
ความเสี่ยงจากการสัมผัสกับตัวทำละลายเคมีต่าง ๆ โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืช น้ำมัน รวมถึงพลาสติกไวนิลคลอไรด์ (PVC)
ประวัติการเป็นโรคเนื้องอกสมองในครอบครัว เชื้อชาติ สารประกอบไนโตรโซ (nitroso) รวมถึงการได้รับสัมผัสรังสีหรือสารกำมันตภาพ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคมะเร็งสมอง GBM
การใช้ภาพถ่ายจากการเอกซเรย์ เป็นวิธีหลักและเป็นสิ่งจำเป็นต่อการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็งสมอง GBM โดยแพทย์อาจใช้วิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- เอกซเรย์ด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) และอาจมีการใช้สารทึบรังสีร่วมด้วย (contrast media)
- Positron emission tomography
- Magnetic resonance spectroscopy
แนวทางในการรักษามะเร็งสมอง GBM
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันอาจยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถรักษามะเร็งสมอง GBM ให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีมาตรฐานที่สามารถช่วยยืดอายุและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้ ได้แก่
การผ่าตัด
การผ่าตัดเปิดกระโหลดศีรษะ เป็นวิธีหลักในการรักษาโรคมะเร็งสมอง GBM โดยแพทย์จะผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอก ออกให้ได้มากที่สุด
และอาจทำเพื่อลดความกดดันในสมองที่เกิดจากเนื้องอก ซึ่งจะช่วยลดความบาดเจ็บที่เนื้องสมองได้
การฉายรังสี
การฉายรังสีอาจเป็นวิธีที่แนะนำหลังจากการผ่าตัด เพื่อช่วยกำจัดเนื้องอกออกไปให้ได้มากที่สุด แต่ในบางกรณีที่ตำแหน่งของเนื้องอกไม่สามารถเอาออกด้วยการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย
แพทย์ก็อาจจะเลือกวิธีการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว และในบางกรณีแพทย์ก็อาจใช้การฉายรังสีร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 70 ปี
อาจรักษาด้วยการฉายรังสีหรือใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยมีความอ่อนแอ อาจไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดได้
การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy, IMRT)
เป็นเทคนิคการฉายรังสีแบบ 3 มิติขั้นสูง มีความแม่นยำ และครอบคลุมรอยโรคมะเร็งมากกว่าการฉายรังสีแบบ 3 มิติทั่ว ๆ ไป
โดยแพทย์จะอาศัยข้อมูลจากภาพเอกซเรย์ นำมาวางแผนการรักษา โดยจะมีการกำหนดขอบเขตของก้อนเนื้อมะเร็งและบริเวณเนื้อเยื่อปกติ
ซึ่งการฉายรังสีนั้นจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการคำนวณและการปรับความเข้มของลำแสงไปยังบริเวณต่าง ๆ
ผลที่ได้ก็จะช่วยลดอันตรายของรังสีที่มีต่อเนื้อเยื่อปกติ แต่ในขณะเดียวกันก้อนเนื้อมะเร็งก็จะได้รับปริมาณรังสีสูงขึ้น
ยาเคมีบำบัด
มียาเคมีบำบัดหลายชนิด ทั้งชนิดรับประทานหรือชนิดที่ให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งการใช้วิธีการฉายรังสี ร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด
มักเป็นแนวทางที่แนะนำในการรักษาโรคมะเร็งสมอง GBM โดยยาเคมีบำบัดที่นิยมใช้มีอยู่ด้วยกันหลายตัว
การรักษาด้วยการเจาะจงไปที่เป้าหมาย (targeted therapy)
เป็นยาที่กำหนดเป้าหมายไปที่เซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ โดยเป้าหมายที่ว่านี้คือส่วนต่าง ๆ ของเซลล์มะเร็งที่แตกต่างจากเซลล์ปกติ ซึ่งยาใหม่ ๆ เหล่านี้
ก็ถือว่า เป็นอีกหนึ่งความหวังของการรักษาโรคมะเร็งสมอง GBM รวมถึงมะเร็งอีกหลาย ๆ ชนิด
มะเร็งสมอง GBM เป็นโรคที่ร้ายแรง เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในระบบประสาท
ซึ่งผลกระทบของมะเร็งสมอง GBM มีได้ตั้งแต่การควบคุมแขนขาเสียไป การสูญเสียความทรงจำ การสูญเสียการได้ยินและการมองเห็น
รวมถึงอาจเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกได้ ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถช่วยลดผลกระทบข้างต้นได้
การรักษาโรคมะเร็งสมอง GBM มีด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี การใช้ยาเคมีบำบัด
รวมถึงการรักษาโดยเน้นไปที่เป้าหมายเซลล์มะเร็ง ซึ่งนับว่าเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยยืดอายุของผู้ป่วยให้นานขึ้น