เนื้องอกทับเส้นประสาทตา เกิดขึ้นได้อย่างไร รักษาอย่างไรให้หาย?

เนื้องอกเส้นประสาทตา

โรคเนื้องอกทับเส้นประสาทตา เป็นโรคที่มีอันตราย ทำให้การมองเห็นผิดปกติ ในผู้ป่วยบางรายอาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

ส่วนใหญ่แล้วโรค เนื้องอกทับเส้นประสาทตา มักเกิดจาก เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง (pituitary tumor) เจริญเติบโต

จนมีขนาดใหญ่จนมากดทับที่เส้นประสาทตา ซึ่งการรักษาก็คือ การนำเนื้องอกดังกล่าวออกไป วันนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันมากยิ่งขึ้น

โรคเนื้องอกทับเส้นประสาทตาเกิดขึ้นได้อย่างไร อาการและวิธีรักษาทำได้อย่างไรบ้าง ไปไขคำตอบพร้อมๆ กันเลย

เนื้องอกทับเส้นประสาทตา เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เนื้องอกทับเส้นประสาทตา เกิดจากเนื้องอกที่เกิดขึ้นในระบบประสาท มีการขยายขนาดแล้วมากดทับเส้นประสาทตา (optic nerve)

ซึ่งเป็นเส้นประสาทสมองเส้นที่ 2 ทำหน้าที่ส่งสัญญานจากดวงตาไปยังสมองเพื่อแปรผลให้เป็นภาพ

โดยเนื้องอกที่มากดทับส่วนใหญ่ล้วนเป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณต่อมใต้สมอง (pituitary gland)

อาการของโรคเนื้องอกทับเส้นประสาทตา

ผู้ป่วยส่วนมากมักมาพบแพทย์ด้วยปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น มักมีการสูญเสียการมองเห็นภาพ ตามัว

มีความยากลำบากในการอ่านหนังสือ สังเกตเห็นภาพมืดลงในตาข้างใดข้างหนึ่งในทันที ในกรณีที่เนื้องอกไปกดทับที่ตำแหน่งเส้นประสาท

ตามซ้ายและตาขวาไขว้กัน (optic chiasm) จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นในบริเวณลานสายตาทั้งสองข้าง

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับความผิดปกติของการมองเห็น จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (pituitary tumor)

ที่ส่งผลต่อระดับของฮอร์โมนในร่างกายหลาย ๆ ตัว เช่น โกรทฮอร์โมน (growth hormone) ซึ่งควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย

ฮอร์โมนโปรแลคติน (prolactin) ซึ่งควบคุมการหลั่งน้ำนม รวมถึงผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ยังมีโอกาสเกิดโรคไทรอยด์รวมถึงโรคเบาหวานอีกด้วย

การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกทับเส้นประสาทตา

เมื่อแพทย์สงสัยว่า ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคเนื้องอกทับเส้นประสาทตา หรือสงสัยว่ามีภาวะอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติ แพทย์อาจจะตรวจและทดสอบดังต่อไปนี้

  • ความคมชัดของการมองเห็น
  • ระดับสายตา ความสามารถในการมองใกล้และไกล
  • การมองสี
  • การเคลื่อนไหวของลูกตา
  • การตรวจภายในลูกตา

การเอกซเรย์เพื่อถ่ายภาพดูภายในสมอง จะทำให้แพทย์สามารถระบุและวิเคราะห์ลักษณะของเนื้องอกได้ รวมถึงยังสามารถวางแผนการรักษาในอนาคต

การเอกซเรย์สามารถทำได้ โดยใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

วิธีรักษาโรคเนื้องอกทับเส้นประสาทตา

1.การผ่าตัด

ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ การผ่าตัดเพื่อตัดเอาเนื้องอกที่กดทับออกให้มากที่สุดมีความจำเป็น และบางครั้งก็สามารถตัดเนื้องอกออกได้จนหมด

ถ้าเนื้องอกมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป ไม่อยู่ใกล้กับเส้นประสาท หรือสมองส่วนสำคัญอื่น ๆ แพทย์อาจผ่าตัดเอาเนื้องอกโดยผ่านทางช่องจมูก

ซึ่งจะลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด ผู้ป่วยไม่เสียเลือด ผู้ป่วยพักฟื้นและกลับมาเป็นปกติได้เร็ว แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่

และไม่สามารถใช้เทคนิคผ่าตัดทางช่องจมูกได้ ก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้วิธีผ่าตัดโดยการเปิดกะโหลกศีรษะ

2.การฉายรังสี

บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้ การฉายรังสีซึ่งมีความเข้มข้นสูงเข้าไปที่ก้อนเนื้อโดยตรง

ก็จะทำเกิดการสลายของเนื้องอกได้ หรือแพทย์อาจใช้การฉายรังสีร่วมกับการผ่าตัดก็ได้

3.การใช้ยา

แพทย์อาจใช้ยาเพื่อรักษาโรคเนื้องอกทับเส้นประสาทตา โดยยาส่วนใหญ่ที่ใช้มักเป็นยาที่ใช้รักษาโรคเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง

โดยยาที่เลือกใช้จะขึ้นกับชนิดของเนื้องอกที่ผู้ป่วยเป็น หากเนื้องอกเป็นชนิดที่ผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน

ยาที่ใช้อาจเป็นยา cabergoline หรือยา bromocriptine ซึ่งจะยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนโปรแลกติน รวมถึงทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลงด้วย

ยาในกลุ่มดังกล่าว อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก สับสน และบ่อยครั้งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าขึ้นในผู้ป่วยบางราย

ในกรณีที่เนื้องอกต่อมใต้สมองที่กดทับเส้นประสาทตา เป็นชนิดที่ผลิตโกรทฮอร์โมน (growth hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต

สามารถใช้ยา somatostatin ซึ่งจะยับยั้งการสร้างฮอร์โมนได้ หลังใช้ยาอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และปวดท้อง เป็นต้น

Credit : bagiraclub.ru

เนื้องอกทับเส้นประสาทตา เป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของการมองเห็น ผู้ป่วยจะมีอาการสายตาพร่ามัว มองไม่ชัด

โรคเนื้องอกในต่อมใต้สมองเป็นสาเหตุหลักของโรคนี้ เมื่อเนื้องอกดังกล่าวเติบโตมากขึ้น ก็จะขยายมากดทับเส้นประสาทตา

การรักษาโรคเนื้องอกทับเส้นประสาทตามีหลายวิธี ขึ้นกับลักษณะและชนิดของเนื้องอกที่ผู้ป่วยเป็น ในกรณีก็สามารถใช้ยาได้

บางกรณีก็ต้องฉายแสง ส่วนการผ่าตัดนั้นสามารถทำได้ทั้งการเปิดกะโหลกศีรษะ และการผ่าตัดผ่านช่องจมูก

ถึงแม้ว่าโรคเนื้องอกทับเส้นประสาทตาจะเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ถ้ารู้สึกว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและรักษาโดยเร็วที่สุด