เนื้องอกเส้นประสาทหู สาเหตุ อาการและวิธีรักษาอย่างถูกต้อง

เนื้องอกเส้นประสาทหู

เนื้องอกเส้นประสาทหู ถือเป็นโรคที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะมีโรคแบบนี้ขึ้นภายในหูของเราได้ เพราะหากพูดถึงเนื้องอกแล้ว

หลายคนย่อมนึกถึงแต่เนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น เนื้องอกในรังไข่ หรือในมดลูก เป็นต้น

ดังนั้น หากใครที่ยังไม่รู้จักโรคนี้ และหากต้องการทำความรู้จักโรคอย่างละเอียดมากขึ้น เราก็มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาฝาก

เนื้องอกเส้นประสาทหูคืออะไร รักษาหรือป้องกันได้อย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ

เนื้องอกเส้นประสาทหู คืออะไร?

เนื้องอกเส้นประสาทหู (acoustic neuroma หรือ vestibular schwannoma) เป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่ใช่เนื้องอกมะเร็ง (noncancerous) เป็นเนื้องอกที่เติบโตได้ช้า

โดยเกิดขึ้นบนเส้นประสาทหู (vestibular nerve) ซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณการได้ยินจากหูชั้นในไปยังสมอง

นอกจากทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินเสียงแล้ว เส้นประสาทนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวของร่างกายอีกด้วย ในกรณีที่เกิดเนื้องอกบนเส้นประสาทนี้

จะทำให้ผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยิน รวมถึงการควบคุมการทรงตัวของร่างกายเสียไป

เนื้องอกเส้นประสาทหู เกิดจากอะไร?

เนื้องอกเส้นประสาทหู มักเกิดขึ้นจากเซลล์ที่เรียกว่า เซลล์ชวานน์ (Schwan cells) ซึ่งจะอยู่ล้อมรอบเส้นประสาทหู

โดยมักพบว่าก้อนเนื้องอกมักเติบโตช้าหรือแทบไม่มีการเติบโตเลย แต่ถ้าเนื้องอกนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีขนาดที่ใหญ่พอ

ก็อาจจะกดเนื้อสมองและส่งผลต่อการทำงานของร่างกายได้ เนื้องอกบนเส้นประสาทหูมีสัดส่วนประมาณ 8% ของโรคเนื้องอกสมองทั้งหมด

อัตราการเกิดโรคในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย และเด็กจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้น้อยกว่าวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในช่วงอายุวัยกลางคน

สำหรับอัตราการเกิดโรคเนื้องอกบนเส้นประสาทหูนั้นขึ้นน้อยมาก โดยมีอัตราการเกิดประมาณ 1 คนต่อประชากร 1 แสนคน

สาเหตุของโรคเนื้องอกประสาทหู

ถึงแม้ว่า สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเนื้องอกประสาทหูอาจยังไม่แน่ชัด แต่ความผิดปกติของพันธุกรรม อาจเป็นสาเหตุของโรคนี้ได้

โดยเฉพาะความผิดปกติในโครโมโซมที่ 22 ซึ่งควบคุมการผลิตโปรตีนยับยั้งเซลล์มะเร็ง (suppressor tumor protein) ซึ่งโปรตีนนี้จะคอยควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ชวานน์ที่อยู่รอบ ๆ เส้นประสาท

อาการของโรคเนื้องอกประสาทหู

สัญญาณที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยกำลังมีเนื้องอกเส้นประสาทหู รวมถึงอาการที่แสดงออกของโรคนี้ มักจะต้องใช้เวลาหลายปี จนกว่าจะแสดงอาการที่เด่นชัด

โดยอาการที่เกิดขึ้นมักจะเกี่ยวข้องกับความสามารถในการได้ยิน และการทรงตัว

อาการวิงเวียนศีรษะ มึนงง (Vertigo) อาจพบได้ถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยโรคนี้ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกวิงเวียน บ้านหมุน ในขณะที่นั่งอยู่เฉย ๆ

การสูญเสียการได้ยิน (hearing loss) เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย กับผู้ป่วยเนื้องอกเส้นประสาทหูสูญเสียการได้ยินนั้น

จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่หูดับในทันที และจะเกิดขึ้นกับหูเพียงข้างเดียวเท่านั้น

เสียงดังในหู (tinnitus) พบได้บ่อยถึงร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเนื้องอกเส้นประสาทหูทั้งหมด เป็นอาการที่ผู้ป่วยได้ยินเสียงภายในหู

ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเสียงจากภายนอก โดยเสียงที่ได้ยินในผู้ป่วยแต่ละคนมักจะแตกต่างกันไป ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคเนื้องอกประสาทหู

มักจะมีอาการนี้ แต่อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าว อาจไม่จำเพาะต่อโรคเนื้องอกเส้นประสาทหู เนื่องจากสามารถเกิดขึ้นจากภาวะติดเชื้อในช่องหู

ช่องหูอุดตันจากขี้หู รวมถึงอายุที่มากขึ้น นอกจากนี้ ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดแรงกดบนเนื้อสมอง

หรือเส้นประสาทที่อยู่ติดกัน ก็อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติกับกล้ามเนื้อบนใบหน้า รวมถึงการรับรู้ความรู้สึกบนใบหน้าได้

โดยประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วยมักจะมีอาการชาที่ใบหน้าบางส่วน อาจพบว่ามีกล้ามเนื้อบนใบหน้ากระตุก

และอาจมีอาการเจ็บได้ และยิ่งถ้าเนื้องอกมีการขยายขนาดหรือโตขึ้น ก็จะยิ่งแสดงอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ในผู้ป่วยบางรายที่ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่มาก อาจพบว่ามีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ซึ่งพบได้น้อยในผู้ป่วยโรคเนื้องอกบนเส้นประสาทหู

อาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากเนื้องอกเติบโตจนไปปิดกั้นทางเดินของน้ำในสมอง ทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในสมอง (hydrocephalus)

ซึ่งจะเพิ่มความดันในกะโหลกศีรษะ ทำให้เนื้อสมองถูกกดดัน และอาจเกิดความเสียหายของเนื้อสมองได้

ซึ่งภาวะนี้ต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน สำหรับอาการอื่น ๆ เช่น อาการปวดหู รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับสายตา

เป็นอาการที่สามารถพบได้เช่นกัน แต่อาจพบได้ไม่มากเท่ากับอาการข้างต้น

การวินิจฉัยโรค

อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า โรคเนื้องอกเส้นประสาทหู เป็นโรคที่วินิจฉัยพบได้ยาก เนื่องจากอาการของโรคมักจะค่อยเป็นค่อยไป

และอาการแสดงส่วนใหญ่มักสามารถเกิดขึ้นกับความผิดปกติอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน แต่หากผู้ป่วยมีความผิดปกติ

และแพทย์อาจสงสัยโรคเนื้องอกเส้นประสาทหู แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด รวมถึงอาจทดสอบการทำงานของประสาทหู และประสิทธิภาพของการได้ยิน

การทดสอบการได้ยิน (audiometry) จะทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน ซึ่งจะเป็นการทดสอบที่ระดับ

และโทนเสียงที่แตกต่างกัน เพื่อหาว่าประสาทการได้ยินมีความผิดปกติอย่างไรบ้าง

การเอกซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการตรวจเพื่อค้นหาและยืนยันความผิดปกติของสมอง

โดยการใช้ MRI จะสามารถตรวจจับก้อนเนื้องอกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1 ถึง 2 มิลลิเมตรได้ นอกจาก MRI แล้ว

การวินิจฉัยโรคเนื่องอกเส้นประสาทหู อาจใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) แต่ความละเอีอดอาจต่ำกว่า ทำให้พลาดเนื้องงอกที่มีขนาดเล็ก ๆ ได้

แนวทางในการรักษา

การรักษาโรคเนื้องอกที่เส้นประสาทหู อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับขนาดและการเติบโตก้อนเนื้องอก สุขภาพและความแข็งแรงของผู้ป่วย

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้องอกเส้นประสาทหูที่มีขนาดเล็ก การเติบโตของเนื้องอกเป็นไปอย่างช้า ๆ รวมถึงผู้ป่วยไม่มีอาการของโรค

หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจจะตัดสินใจเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด และติดตามความผิดปกติเป็นระยะ ๆ

เช่น แพทย์อาจนัดให้มาถ่ายเอกซเรย์ดูขนาดก้อนเนื้อ หรือนัดมาทดสอบการทำงานของระบบประสาทการได้ยินทุก ๆ 6-12 เดือน

หากพบว่าก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงขึ้น ก็จะได้วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ และรักษาประสิทธิภาพการได้ยินไว้ให้มากที่สุด

การผ่าตัดรักษาโรคเนื้องอกเส้นประสาทหู

เป้าหมายของการผ่าตัด คือ การขจัดเนื้องอกเส้นประสาทหูออกให้หมด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อระบบประสาทการได้ยิน

รวมถึงเส้นประสาทอื่น ๆ โดยเฉพาะเส้นประสาทใบหน้าใบหน้า เพื่อป้องกันภาวะอัมพาตบนใบหน้า

โดยประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยจะสามารถตัดเนื้องอกออกได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอีกร้อยละ 5

แพทย์อาจไม่สามารถเอาเนื้องอกออกได้หมด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการผ่าตัด

โดยเฉพาะที่เนื้องอกอยู่ติดหรืออยู่ใกล้กับส่วนสำคัญของสมอง แพทย์อาจใช้วิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การฉายรังสี

ในบางครั้งการผ่าตัดอาจมีความเสี่ยง ทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทหูและเส้นประสาทใบหน้า ซึ่งแพทย์จะแจ้งความเสี่ยง

และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ กับผู้ป่วยและญาติก่อนการผ่าตัดทุกครั้ง โดยภาวะแทรกซ้อนหลังจากการผ่าตัดที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • การรั่วไหลของน้ำไขสันหลังผ่านรอยแผลผ่าตัด
  • การสูญเสียการได้ยิน
  • อัมพาตบนใบหน้า
  • อาการชาบนใบหน้า
  • ได้ยินเสียงก้องอยู่ในหู
  • ปัญหาการทรงตัว
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดหัวถาวร
  • การติดเชื้อในไขสันหลัง
  • โรคหลอดเลือดสมองหรือเลือดออกในสมอง

การรักษาด้วยการฉายรังสี

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้องอกขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร มีอายุเยอะ หรือไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดได้ แพทย์อาจแนะนำการรักษา

ด้วยการฉายรังสีร่วมพิกัดหรือรังสีศัลยกรรม (Stereotactic Radiotherapy หรือ Stereotactic Radiosurgery)

ซึ่งเป็นวิธีการฉายรังสีที่มีพลังงานสูงและมีลำแสงเล็กจากหลายทิศทาง โดยให้มีจุดรวมของรังสีตรงบริเวณที่มีเนื้องอกหรือความผิดปกติ

ซึ่งการระบุตำแหน่งนั้นจะมีความแม่นยำสูง อีกทั้งผู้ป่วยยังไม่เกิดความเจ็บปวดจากการรักษาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมพิกัดนี้ มีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง รวมถึงต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษและแพทย์เฉพาะทางในด้านนี้

การรักษาแบบประคับประคอง (supportive therapy)

นอกจากการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดและการฉายรังสีแล้ว แพทย์อาจแนะนำการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ อาการปวดศีรษะ สมดุลร่างกายที่เสียไป เดินเซ รวมถึงการสูญเสียการได้ยิน เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด

Credit : thefitglobal.com

โรคเนื้องอกประสาทหู เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้ไม่มากนัก อาการของโรคมักค่อยเป็นค่อยไป

ไม่แสดงอาการในทันที ผู้ป่วยหลายรายอาจมาด้วยการได้ยินไม่ชัด เดินเซ หรืออาการวิงเวียน ปวดศีรษะ

ซึ่งอาจทำให้ได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดได้ เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจกดทับเส้นประสาทหรือเนื้อสมองบางส่วน

ทำให้อาการรุนแรง อาจทำให้แรงดันในสมองเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต สำหรับการรักษาโรคเนื้องอกประสาทหู

สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการผ่าตัดที่อาจมีความเสี่ยง และการฉายรังสีในกรณีที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือเนื้องอกมีขนาดเล็ก