โรคคาวาซากิ ตรวจพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 โดยนายแพทย์ชาวญี่ปุ่น ที่มีชื่อว่า โทมิซากุ คาวาซากิ จัดว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงไม่น้อยเลยทีเดียว
เพราะถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที เป็นโรคที่พบในเด็กเล็ก
เพราะฉะนั้นจึงเป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จักไว้ เพื่อใช้เป็นความรู้ในการปกป้องลูกน้อยของคุณให้ห่างจากโรคนี้ได้
โรคคาวาซากิ คืออะไร
โรคคาวาซากิ (Kawasaki’s Disease) คือ ภาวะที่มีการอักเสบเฉียบพลันโดยเกิดขึ้นที่บริเวณหลอดเลือด ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดเกิดการอักเสบ
ทำให้เกิดการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดกลางในบริเวณร่างกายโดยเฉพาะที่บริเวณหลอดโคโรนารี่ที่ไปเลี้ยงหัวใจ เป็นโรคที่พบมากในเด็กเล็ก
สาเหตุของโรคคาวาซากิ
ในขณะนี้ยังไม่สามารถทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดโรคคาวาซากิได้ แต่ได้มีการสันนิษฐานว่า
อาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นบางอย่างที่ทำให้ร่างกายเกิดภาวะการตอบสนองที่มากเกินไป หรือเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
ที่ได้รับการกระตุ้นจากการรับเชื้อโรคเข้าไป เช่น การรับแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสบางชนิดเข้าไปในร่างกาย
ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอักเสบจนนำไปสู่การทำลายหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีปัจจัยทางพันธุกรรม ที่ส่งผลเสี่ยงทำให้เกิดโรคนี้ได้
ผู้ที่เสี่ยงจะเป็นโรคคาวาซากิ
โรคนี้ส่วนมากพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่พบในอายุเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปี และพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2:1 คน
อาการของโรคคาวาซากิ
โดยโรคนี้จะมีระยะเวลาในการแสดงอาการประมาณ 6 สัปดาห์ สามารถแบ่งได้ 3 ระยะดังต่อไปนี้
1.ระยะเฉียบพลัน (Acute Phase) อยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงระหว่าง 38-40 องศาเซลเซียส โดยปกติจะมีไข้อยู่ประมาณ 5 วัน หากไม่ได้รับการรักษาอาจจะเป็นนานถึง 11 วัน
และในบางรายอาจจะเป็นนานถึง 3-4 สัปดาห์ โดยอาจจะมีอาการเป็นๆ หายๆ มีอาการไข้ขึ้นอย่างรวดเร็ว
และไม่มีอาการตอบสนองต่อยา เช่น ยาลดไข้ หรือยาพารา ตาบวมแดงทั้งสองข้าง ริมฝีปากแห้ง แตก บวม และลอก
อาจมีการอักเสบภายในปากและลำคอ ลิ้นมีตุ่มแดงบวม ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณลำคอจนสามารถคลำได้
อาจพบเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรืออาจจะพบทั้งสองข้างก็ได้ โดยจะทำให้รู้สึกตึงและเจ็บ
และมีโอกาสบวมขึ้นจนมีขนาดใหญ่ถึง 1.5 เซนติเมตร มีผื่นแดงคันเป็นจุดกระจายไปทั่วลำตัวใบหน้า และบริเวณอวัยวะเพศ
มือและเท้ามีอาการบวมแดง หรือเกิดอาการเจ็บเมื่อลงน้ำหนัก อาจมีผิวหนังลอกที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย
2.ระยะกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Phase) อยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 2-4
อาการไข้สูงหรืออาการต่างๆ จะเริ่มลดความรุนแรงลง แต่อาจจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ง่วงซึม
หมดแรง อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดตามข้อหรือข้อเกิดอาการบวม ผิวหรือตาเหลืองกว่าปกติ มีหนองในปัสสาวะ
ผิวลอกบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือหรือที่ฝ่าเท้า เป็นต้น ในระยะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
3.ระยะพักฟื้น (Convalescent Phase) อยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 5-6
ผู้ป่วยจะมีอาการที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังคงรู้สึกอ่อนแรง เหนื่อยง่าย ซึ่งในระยะนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน แต่มีดอกาสน้อยกว่าระยะกึ่งเฉียบพลัน
การวินิจฉัย
โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วยเด็กที่มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสติดต่อกันนานเกิน 5 วันขึ้นไป และสังเกตว่าพบอาการ 4 ใน 5 อย่างต่อไปนี้หรือไม่
– อาการตาบวมแดงทั้งสองข้าง โดยที่ไม่มีขี้ตา
– ริมฝีปากแห้งแตก บวมแดง มีอาการลิ้นบวม คอแห้ง
– มีอาการปวดบวมที่บริเวณมือหรือเท้า หรือมีผิวหนังลอกที่บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า
– มีผื่นแดงคันตามลำตัว
– ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอโต จนสามารถคลำได้
แพทย์อาจมีการวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบผลกระทบของโรคที่มีต่อหัวใจ ดังนี้
การตรวจเลือด (Blood Tests) โดยแพทย์จะต้องนำผลเลือดที่ได้มาทำการตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือด
เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคคาวาซากิจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากขึ้นกว่าเดิม และมีเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยลง มีเกล็ดเลือดที่สูงขึ้น
และตรวจปริมาณโปรตีนไข่ขาวในเลือดต่ำหรือไม่ ตรวจดูการอักเสบของร่างกาย ตรวจการทำงานของตับ เพราะอาจมีการเพิ่มของเอนไซม์ในตับ
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiograph) หรือการทำเอคโคหัวจใน เป็นขั้นตอนในการจำลองภาพของหัวใจ
และหลอดเลือดด้วยคลื่นเสียง เพื่อใช้ในการตรวจจดูว่าลักษณะของหลอดเลือดหัวใจมีความผิดปกติหรือไม่
– การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) เพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
– การเอกซเรย์ (X-Ray) โดยทำที่บริเวณหน้าอกเพื่อตรวจหาสัญญาณเตือนของภาวะหัวใจล้มเหลว
– การตรวจปัสสาวะ โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจจะพบเม็ดเลือดขาวปนอยู่ในปัสสาวะด้วย
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย คือ หลอดเลือดหัวใจโคโรนารีโป่งพอง เนื่องจากผนังของหลอดเลือดไม่แข็งแรง
ในขณะที่ลำเลียงเลือดเข้าสู่หัวใจ ความดันเลือดจะเป็นตัวทำให้ผนังของหลอดเลือดนูนหรือโปร่งขึ้นคล้ายกับบอลลูน
แต่อาการอาจจะดีขึ้นได้เองเมื่อผ่านไป และบางครั้งอาจมีลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นที่ผนังของหลอดเลือดที่ไม่แข็งแรง
ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอุดตันที่บริเวณเส้นเลือดหัวใจ เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดออกซิเจน และยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ด้วย
ในบางกรณีที่หลอดเลือดโป่งพองมากจนเกิดการแตกฉีก ทำให้เลือดออกภายในร่างกายจนส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
วิธีรักษาโรคคาวาซากิ
เนื่องจากยังไม่สามารถทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ จึงยังไม่มียารักษาเฉพาะ ทำได้เพียงให้ยา
ที่ช่วยลดความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับหัวใจและหลอดเลือดเพียงเท่านั้น โดยการรักษาก็จะมี 2 วิธีดังต่อไปนี้
1.การให้อิมมิวโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้เป็นแอนตี้บอดี้ที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสู่ร่างกาย
จะช่วยลดปฏิกิริยาการอักเสบภายในร่างกาย และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ หลังจากการรักษาอาการจะดีขึ้นภายในเวลา 3 วัน
แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องทำการฉีดซ้ำอีก 1 ครั้ง โดยระหว่างที่ให้ยาต้องคอยสังเกตอาการที่โรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด
2.การใช้ยา โดยส่วนใหญ่จะใช้ยาแอสไพริน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด ลดไข้ ลดอาการบวม ลดอาการอุดตันของเกล็ดเลือด
และช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับหลอดเลือดหัวใจ แต่การใช้ยาตัวนี้อาจมีผลข้างเคียงต่อกลุ่มผู้ป่วยบางรายได้ที่มีอาการไรย์ซินโดรม
เพราะยาตรวจนี้จะมีผลต่อตับ และอาจทำให้้เกิดความเสียหายให้กับสมองของผู้ป่วยได้ด้วย แต่ก็มีโอกาสพบได้ค่อนข้างน้อย
ในความเป็นจริงแล้วสามารถใช้ยาอื่นๆ ในรักษาได้ด้วย เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาอินฟลิซิแมบ หรือยากันเลือดแข็งตัว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์เห็นสมควร
วิธีป้องกันโรคคาวาซากิ
เนื่องจากโรคคาวาซากิยังไม่มีใครทราบถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ จึงยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์
ทำได้เพียงสังเกตุอาการของลูกน้อยหากอยู่ในเกณฑ์ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา เพื่อจะได้วินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที
Credit : chennainationalhospital.com
จากข้อมูลข้างต้น ก็พอจะสรุปได้แล้วว่า โรคคาวาซากิ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็กโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น ท่านที่มีเด็กเล็กอยู่ในการดูแล
ควรหมั่นสังเกตลูกหลานของท่านว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษา เพื่อที่จะได้รักษาได้ทันเวลา ไม่ควรปล่อยให้มีอาการรุนแรงก่อนเพราะอาจจะทำให้รักษาได้ยากขึ้น