รอบรู้เรื่องโรคตาต้อ พร้อมวิธีดูแลรักษาอย่างถูกต้อง

โรคตาต้อ

โรคตาต้อ เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพตา และเพราะดวงตา เป็นอวัยวะที่สำคัญมากในร่างกายของคนเรา

มีหน้าที่ในการมองเห็น ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างมาก

ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจและใส่ใจในเรื่องของดวงตาให้มากขึ้น โดยเฉพาะ ปัญหาตาต้อ ที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

ก็อาจทำให้ตาบอดได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นมาทำความรู้จักกับโรคตาต้อกันหน่อยดีกว่า

ตาต้อ คืออะไร?

ตาต้อ เป็นโรคชนิดหนึ่งเกี่ยวกับดวงตา ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นค่อยๆ ลดลง จนอาจเกิดปัญหาตาบอดได้ในที่สุด

โดยโรคนี้ยังแบ่งออกได้เป็นอีกหลายประเภท ซึ่งจะมีลักษณะและความรุนแรงที่แตกต่างกันไป

รวมถึงมีวิธีการรักษาที่ต่างกันอีกด้วย เพราะฉะนั้นอันดับแรกจึงต้องทำความเข้าใจกับตาต้อแต่ละแบบก่อน

ตาต้อมีกี่ชนิด แตกต่างกันอย่างไร?

โรคตาต้อ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด ตามลักษณะของต้อที่เกิดขึ้นในดวงตา ซึ่งได้แก่

1.ตาต้อเนื้อ

ตาต้อเนื้อเป็นลักษณะการป่วยของดวงตาที่ถูกสิ่งระคายเคืองมาเป็นเวลานานหลายปี โดยส่วนใหญ่แล้วจะสืบเนื่องมาจากโรคตาต้อลม ก่อนจะลุกลามจนกลายเป็นต้อเนื้อนั่นเอง

ซึ่งลักษณะของโรคตาต้อชนิดนี้จะมีเนื้อเยื่อสีขาวออกแดงที่เห็นได้ชัดบริเวณกระจกตาทั้งทางด้านหัวและหางตา รวมถึงมีอาการระคายเคืองตาบ่อยๆ แต่จะไม่ถึงขั้นตามัวหรือตาบอดแน่นอน

สาเหตุ

– การทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน เพราะแสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ จะทำลายเยื่อบุตาให้เกิดการเสื่อมสภาพลง จนก่อให้เกิดต้อเนื้อในที่สุด

– ดวงตาได้รับความร้อนมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเชื่อมเหล็ก เป็นต้น

การรักษา

– ใส่แว่นหรือกางร่มทุกครั้งที่ต้องออกกลางแจ้ง เพราะหากดวงตาได้รับการสัมผัสกับแสงอัลตราไวโอเลตน้อยลงก็จะทำให้อาการต้อเนื้อค่อยๆ ทุเลาและหายเร็วขึ้น

– ใช้ยาหยอดตา ซึ่งจะเป็นการบรรเทาอาการเบื้องต้น ในผู้ที่มีอาการแสบตา ระคายเคืองตาและน้ำตาไหลอยู่บ่อยๆ

– ผ่าตัดลอกต้อเนื้อ ซึงแพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดในรายที่มีอาการรุนแรงหรือต้อเนื้อลุกลามเข้าไปจนถึงกระจกตาดำ

2.ตาต้อลม

ตาต้อลม เป็นโรคที่เกิดจากการที่ดวงตาถูกสิ่งระคายเคือง เช่น ลม ฝุ่นและแสงแดด ซึ่งลักษณะของต้อชนิดนี้ จะเป็นเยื่อสีขาวหรือสีเหลือง

ขึ้นอยู่บริเวณตาขาวข้างๆ ตาดำ แต่ไม่ถึงขั้นอันตราย กล่าวคือไม่ทำให้ตามัวหรือตาบอดนั่นเอง แต่อย่างไรก็อาจมีอาการเคืองตาที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวบ่อยๆ

สาเหตุ

– เกิดจากการสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อดวงตามากเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแสงแดด ลมและฝุ่นผงต่างๆ

– การที่ดวงตาสัมผัสกับความร้อนหรือแสงอัลตราไวโอเลตโดยตรง

การรักษา

– ผ่าตัดในรายที่มีอาการระคายเคืองบ่อยๆ และใช้ยาหยอดตาแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีน้อยมากที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

– ใช้ยาหยอดตา ซึ่งจะช่วยลดอาการระคายเคืองได้ดี พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้ดวงตาถูกทำร้ายมากกว่าเดิม จึงทำให้อาการค่อยๆ ทุเลาลงและอาจหายเป็นปกติได้

– เลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อลมให้มากที่สุด โดยทำได้ด้วยการใส่แว่นกันแดด ใส่หมวก กางร่มหรือหลีกเลี่ยงการอยูในที่ที่ฝุ่นควันและมลพิษ เป็นต้น

3.ตาต้อกระจก

ตาต้อกระจก เป็นโรคตาต้อที่มีความอันตราย โดยหากไม่รักษาอย่างถูกวิธีหรือได้รับการรักษาช้าเกินไปก็จะทำให้เสี่ยงต่อการตาบอดได้

โดยต้อชนิดนี้จะมีลักษณะเลนส์แก้วตาเป็นสีขุ่นคล้ายหมอกหรือควันสีขาวๆ ซึ่งเมื่อปล่อยไว้นานๆ

ก็จะมีอาการตามัวและประสิทธิภาพในการมองเห็นค่อยๆ ลดลง จนตาบอดนั่นเอง

สาเหตุ

– ด้วยอายุที่มากขึ้นจึงทำให้โปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของดวงตาเสื่อม ส่งผลให้เกิดตาต้อกระจกขึ้นมา

– เคยได้รับการผ่าตัดบริเวณดวงตา จึงมีความเสี่ยงเป็นตาต้อกระจกมากกว่าปกติ

– สัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตมากเกินไป และต่อเนื่องเป็นเวลานาน

– มีประวัติครอบครัวเคยเป็นโรคตาต้อกระจกมาก่อน จึงมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นต้อกระจกสูง

การรักษา

– ให้ใส่แว่นตาทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน หรือจ้องหน้าจอโทรศัพท์คอมพิวเตอร์ เพราะแสงจากหน้าจอก็อาจทำร้ายดวงตาได้มากเช่นกัน

– หมั่นหยอดตาด้วยยาหยอดตาบ่อยๆ จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด

– ทำการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพอสมควร

– ใส่เลนส์เทียม จะช่วยรักษาตาต้อกระจกได้ในระดับหนึ่ง

4.ตาต้อหิน

ตาต้อหินถูกจัดเป็นโรคตาต้อที่มีความรุนแรงที่สุด เพราะอาจทำให้ตาบอดสนิทได้ โดยโรคตาต้อชนิดนี้จะมีลักษณะตาแข็งขึ้นมา

และมีความดันในลูกตาสูง และด้วยอาการดังกล่าวจึงไปกดขั้วประสาทตา จนทำให้สูญเสียการมองเห็นและตาบอดสนิทนั่นเอง

สาเหตุ

– การเสื่อมสภาพของร่างกาย จึงทำให้เซลล์ประสาทตาถูกทำลายง่ายขึ้น โดยมักจะเริ่มจากความผิดปกติของความดันในลูกตาจนทำให้เกิดตาต้อในที่สุด

การรักษา

– ใช้ยาเพิ่มความดันในตา เพื่อปรับสมดุลความดันในตาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสมดุลที่สุด

– รักษาโดยการใช้เลเซอร์ เพื่อตัดแต่งเนื้อเยื่อกรองน้ำลูกตา

– ทำการผ่าตัด ในรายที่อาการรุนแรงไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้ โดยส่วนใหญ่จะผ่าตัดเนื้อเยื่อกรองน้ำลูกตาหรือม่านตาบางส่วนนั่นเอง

Credit : zenithbyogoptician.com

จะเห็นได้ว่า ตาต้อ มีหลายชนิด ซึ่งก็จะมีลักษณะสาเหตุและแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันไป

รวมถึงความรุนแรงของ โรคตาต้อ แต่ละชนิดด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่า ตาต้อบางชนิดจะไม่เป็นอันตราย

แต่ก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงควรดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคตาต้อกันดีกว่า