โรคมะเร็งจอตา เป็นโรคมะเร็งที่มักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี และที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือ พ่อและแม่มักไม่รู้ว่าเด็กกำลังเป็นโรคนี้อยู่
ซึ่งก็ถือว่าเป็นอันตรายพอสมควร เพราะอาจทำให้เด็กตาบอด และอาจมีการลุกลามไปถึงกระดูกสันหลังและสมอง เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิตได้
พ่อแม่คนไหนที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยนี้ และกำลังสงสัยถึงความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นของลูก ก็ไม่ควรพลาดที่จะทำการศึกษาโรคมะเร็งจอตาจากบทความนี้เลย
โรคมะเร็งจอตา คืออะไร?
โรคมะเร็งจอตา (Retinoblastoma) เป็นที่รู้จักกันอีกชื่อคือ โรคตาวาว (Leukocoria) เป็นโรคที่ทำให้บริเวณจอตานั้น
มีการสะท้อนแสงที่ผิดปกติไปจากคนทั่วไป เมื่ออยู่ในที่มืดหรืออยู่ในช่วงเวลากลางคืน ก็อาจจะพบว่าลูกตามีความแวววาวมากกว่าปกติ
หรือคล้ายกับลูกตาแมว ซึ่งก็เกิดจากรูม่านตามีการเปลี่ยนสีเป็นสีขาว อาจจะมีการสะท้อนอยู่ตลอดเวลา หรือพบเห็นแค่ในบางครั้ง
โรคนี้สามารถพบได้กับเด็กทั่วโลก และสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา อาจจะเกิดขึ้นได้กับดวงตาข้างเดียว
หรือทั้งสองข้าง จุดสังเกตที่น่าสนใจคือ เป็นโรคติดต่อทางกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกและรุ่นหลานได้
สาเหตุของโรคมะเร็งจอตา
สำหรับสาเหตุของโรคมะเร็งจอตา สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย คือ
- การมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาตั้งแต่กำเนิด โดยเฉพาะการเป็นโรคต้อกระจก
- มีภาวะจอตาเสื่อม ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทารกที่มีภาวะคลอดก่อนกำหนด
- เกิดการอักเสบขึ้นภายในดวงตา ทำให้มีหนองปนกับเนื้อเยื่อต่าง ๆ และน้ำวุ้นตา
อาการของโรคมะเร็งจอตา
นอกจากความแวววาวของดวงตาที่จะสะท้อนออกมาในช่วงเวลากลางคืนแล้ว โรคมะเร็งจอตายังมีอาการอื่น ๆ อีกดังต่อไปนี้
1.มีอาการตาเขไปจากเดิม เนื่องจากก้อนมะเร็งมีการเจริญเติบโตอยู่ตรงกลางจอตา เมื่อตาข้างนั้น ๆ ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
จึงทำให้เกิดการเขออกไปจากเดิม (แต่ไม่ได้หมายความเด็กที่ตาเขทุกคนจะต้องเป็นโรคมะเร็งจอตา)
2.ตาโปนแดง ซึ่งเกิดจากการอักเสบภายในเบ้าตา
3.มีอาการตาลอย ไม่สามารจับโฟกัสได้ ทั้งที่กำลังคุยกันแบบมองหน้ากันอยู่
4.ในกระจกตามีเลือดออกจนสามารถสังเกตเห็นได้ชัด
5.เป็นโรคต้อหินที่อาจทำให้เกิดภาวะตาบอด
การวินิจฉัยโรคมะเร็งจอตา
โรคอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในเด็กนั้น ค่อนข้างจะวินิจฉัยยากพอสมควร โดยเฉพาะกับโรคมะเร็งจอตา ยิ่งถ้าหากเด็กไม่ให้ความร่วมมือด้วย
แพทย์อาจจะต้องวางยาสลบ เพื่อที่จะได้ทำการตรวจดูภายในจอตาอย่างละเอียด ถ้าหากว่าพบก้อนเนื้อผิดปกติ
แพทย์ก็จะต้องทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา และอาจจะต้องทำการเจาะไขสันหลังเพื่อตรวจหาการลุกลามของเชื้อมะเร็ง
เพื่อที่จะได้ทำการรักษาอย่างเหมาะสม สำหรับโรคมะเร็งจอตานั้น แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ก้อนเนื้อร้ายเกิดขึ้นภายในจอตา หรือลูกตาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ระยะที่ 2 เชื้อมะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังเบ้าตา หรือเข้าไปในประสาทตา
ระยะที่ 3 เชื้อมะเร็งเริ่มกระจายเข้าสู่สมอง และไขสันหลัง
ระยะที่ 4 เชื้อมะเร็งเริ่มเข้าสู่กระแสโลหิตและกระดูก รวมถึงอวัยวะภายในส่วนอื่น ๆ เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
วิธีรักษาโรคมะเร็งจอตา
การรักษาโรคมะเร็งจอตาที่ดีที่สุด คือ การผ่าตัดเนื้อร้ายบริเวณลูกตาออกทั้งหมด นั่นก็หมายถึงต้องผ่าตัดลูกตาออกไปทั้งตา
จึงจะช่วยรักษาให้หายขาดได้ แต่สำหรับพ่อแม่แล้ว การจะให้ผ่าเอาลูกตาของลูกออกนั้น เป็นเรื่องยากที่จะทำใจและก่อให้เกิดภาวะเครียดเป็นอย่างมาก
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีวิธีรักษาที่ยังสามารถรักษาลูกตาของเด็กไว้ก่อนได้ จนกว่าจะมองไม่เห็นหรือเมื่อเชื้อมะเร็งลุกลามอย่างหนักแล้ว
1.การจี้เนื้อร้ายด้วยความเย็น เป็นการใช้ความเย็นในระดับสูงเพื่อที่จะจี้ก้อนเนื้อนั้นให้หยุดการเจริญเติบโต
วิธีนี้สามารถทำได้ในกรณีที่ก้อนเนื้อมีขนาดเล็กและยังไม่มีการเจริญเติบโตมากนัก
2.ยิงด้วยเลเซอร์ เพื่อทำลายก้อนเนื้อร้ายด้วยเหตุผลเดียวกับการจี้ด้วยความเย็น
3.รักษาด้วยการฉายรังสี เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 ทั่วไป ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการรักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ
4.รักษาด้วยเคมีบำบัด การรักษาวิธีนี้จะเริ่มขึ้นเมื่อเชื้อโรคเริ่มมีการลุกลาม หรือก้อนเนื้อเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น
เพื่อที่จะทำให้ก้อนเนื้อมีขนาดเล็กลงและหยุดการเจริญเติบโต เมื่อได้ผลที่ต้องการแล้ว แพทย์ก็จะทำการรักษาด้วยวิธีจี้เย็น / ยิงเลเซอร์ ต่อไปโดยไม่ต้องผ่าลูกตาออก
วิธีป้องกันโรคมะเร็งจอตา
เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะหาวิธีป้องกัน เนื่องจากโรคมะเร็งจอตา เป็นโรคที่มีการติดต่อทางพันธุกรรม
เพราะฉะนั้น ก่อนมีการตั้งครรภ์ก็ควรจะทำการปรึกษาแพทย์ก่อนถึงคามเสี่ยงนี้ และเมื่อเห็นความผิดปกติขึ้นเกี่ยวกับดวงตาของเด็ก
ก็ต้องรีบพามาพบแพทย์และรีบทำการรักษาทันที ก็จะช่วยให้ดวงตาสามารถกลับมามองเห็นเป็นปกติได้
Credit : zrenie.online
โรคมะเร็งจอตา เป็นโรคอันตรายสำหรับเด็กเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นจึงอยากให้พ่อแม่คอยสังเกตดวงตาของลูกให้ดี ๆ
เพราะถ้าตรวจพบอาการตั้งแต่ระยะแรก ๆ การรักษาก็จะยังไม่ยาก และยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งก็จะไม่กระทบกระเทือนจิตใจเด็กมากนัก