โรครูมาตอยด์ เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักจะได้รับความเจ็บปวดเสมอหากอาการของโรคเกิดกำเริบขึ้น
จนส่งผลให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรมและแย่ลงไปเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษาเพื่อให้อาการเจ็บปวดจากรูมาตอยด์บรรเทาลง
โรครูมาตอยด์คืออะไร สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาป้องกันทำได้อย่างไรบ้าง เราไปดูกันดีกว่า
โรครูมาตอยด์ คืออะไร?
โรครูมาตอยด์ หรือ โรคไขข้ออักเสบ (Rheumatoid Arthritis) คือโรคที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อต่าง ๆ ในร่างกาย
โดยข้อต่อจะมีอาการอักเสบทำให้เกิดอาการเจ็บปวดตามข้อต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และเป็นโรคเรื้อรัง
ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติทำให้ไปทำลายอวัยวะต่าง ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการผิดปกติมากจนส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ เช่น ดวงตา ผิวหนัง และหัวใจ
สาเหตุของโรครูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์หรือไขข้ออักเสบ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติจนไปทำลายตัวเอง โดยจะทำลายเนื้อเยื้อที่หุ้มข้อต่อ
ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบและบวม ในที่สุดอาจทำลายกระดูกอ่อน กระดูกข้อต่อ เส้นเอ็นที่เป็นตัวยึดกล้ามเนื้อและกระดูก
อาจจะทำให้เอ็นข้อต่อเปราะและบางลงจนยืดขยายออก ส่งผลให้ข้อต่อผิดรูปหรือบิดเบี้ยว
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรครูมาตอยด์อย่างแน่ชัด จึงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมด้วยเช่นเดียวกัน
อาการของโรครูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์ จะมีอาการเจ็บปวดตามข้อต่อต่าง ๆ เช่น หัวเข่า ข้อมือ ข้อเท้า และจะเป็นไปอย่างช้า ๆ นานเป็นสัปดาห์
หรืออาจจะเป็นเดือน จะมีอาการเหนื่อยเมื่อยล้าร่วมด้วย อาจจะส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงและมีไข้อ่อน ๆ
อาการของโรคที่มักจะพบบ่อย คือ
- อาการปวด บวม แดง อุ่น ข้อฝืด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในร่างกายพร้อมกัน เช่น เข่า คอ ข้อมือ ข้อเท้า
- อาการข้อฝืดแข็ง จะเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายของเราไม่ได้มีการเคลื่อนไหว เช่น ตื่นนอนตอนเช้า นั่งกับพื้นเป็นเวลานาน ๆ
- ปุ่มรูมาตอยด์ เป็นปุ่มนิ่ม ๆ ที่มักจะเกิดบริเวณที่เสียดสีบ่อย ๆ เช่น ข้อศอก นิ้วข้อมือ กระดูกสันหลัง
ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อ แต่อาจจะส่งผลไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ดวงตา ผิวหนัง หัวใจ ปอด
เส้นประสาท ไขกระดูก อาการและสัญญาณของโรคจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรง และอาจจะสงบลงเป็นพัก ๆ
ระยะเวลาของโรครูมาตอยด์
เมื่อเริ่มป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ อาการจะไม่ค่อยชัดเจนทำให้การวินิจฉัยโรคเป็นได้ได้ยาก ซึ่งเวลาโดยเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มมีอาการของโรค
จะอยู่ที่ประมาณ 9 เดือน จึงจะสามารถระบุได้ว่าเป็นโรครูมาตอยด์ ความรุนแรงของโรคค่อนข้างหลากหลาย ไม่แน่นอน
โดยจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งส่วนใหญ่จะปวดบวมตามข้อ และก็จะเป็น ๆ หาย ๆ การทำลายและการอักเสบก็จะยังดำเนินอยู่
จึงทำให้มีการผิดรูปร่างของข้อและการใช้งานได้มากน้อยแตกต่างกันไป โดยเฉลี่ยผู้ป่วย 50% ที่มีอาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
จะไม่สามารถทำงานได้ และในผู้ป่วยประมาณ 15% มีอาการปวดบวมอักเสบของข้อไม่นาน ไม่มีความพิการของข้อ สามารถทำงานได้ปกติ
ผู้ที่ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ จะมีอายุโดยเฉลี่ยสั้นกว่าคนปกติทั่วไป ประมาณ 3-7 ปี ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมีความพิการตามข้อต่าง ๆ
จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป ประมาณ 2.5 เท่า สาเหตุในการเสียชีวิตจะเกิดจากการติดเชื้อ
มีเลือดออกในทางเดินอาหาร โรคหลอดเลือดหัวใจ และผลข้างเคียงจากยารักษาก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก เพราะอาการจะไม่ค่อยชัดเจนในเบื้องต้น เป็นอาการที่พบได้ในหลากหลายโรค
จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นโรครูมาตอยด์ในระยะเริ่มแรก จะสามารถระบุได้แน่ชัดก็ต่อเมื่ออาการของโรคได้แสดงผลให้เห็นชัดเจน
โดยเบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกาย ดูอาการบวม รอยแดง ความร้อน และอาจจะตรวจความไวของเส้นประสาทและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อร่วมด้วย
กระบวนการตรวจวินิจฉัยโรค
การตรวจเลือด ผู้ที่ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ จะมีการตรวจประเมินผลค่าการอักเสบของเลือด โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
เพื่อหาค่าสารภูมิต้านทาน Rheumatoid factor ในเลือด หรือตรวจหาค่าโปรตีนในร่างกายที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่ามีการอักเสบในร่างกาย
การเอกซเรย์ แพทย์อาจจะแนะนำให้เอกซเรย์ เพื่อตรวจติดตามการดำเนินของโรค การตรวจจากเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า
MRI และการทำอัลตร้าซาวด์ ก็จะช่วยให้ทราบถึงความรุนแรงของโรค ซึ่งจะทำเฉพาะในรายที่มีความจำเป็นเท่านั้น
วิธีรักษาโรครูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์เป็นโรคเรื้อรังที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคให้ดีขึ้นได้
หากเริ่มต้นรักษาอย่างทันท่วงที และรักษาตามอาการของโรคที่มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค การรักษาโรครูมาตอยด์จะทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง
โดยจะทำในทุก 2-3 เดือน ในช่วงแรกหรือทุก 6-12 เดือน ในช่วงที่อาการสงบลงแล้ว เป้าหมายของการักษาโรครูมาตอยด์ คือ
- ลดอาการปวดตามข้อต่างๆ
- ลดการอักเสบของข้อ
- ทำให้ข้อที่ไม่สามารถใช้งานได้กลับมาใช้งานได้
- รักษาอาการที่เกิดขึ้นกับส่วนอื่นในร่างกาย
การใช้ยารักษาโรครูมาตอยด์
ยาที่ใช้ในการรักษาเพื่อบรรเทาหรือลดความรุนแรง และป้องกันอาการปวดบวม มีอยู่ด้วยกัน 5 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มยาแก้ปวดที่เรียกว่า เอ็นเสด (NSAIDs,nonsteroidal anti-inflammatory drugs)
2.กลุ่มยาสเตียรอยด์
3.ยากลุ่ม DMARDs (Disease-modifying antirheumatic drugs)
4.ยาต้านการทำงานของสารเคมีและสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันต้านโรค ชื่อ TNF-alpha และ IL-1
5.กลุ่มยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย
วิธีป้องกันโรครูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถบำบัดและบรรเทาอาการให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การยกของหนัก หรือการใช้ข้อมาก หากเป็นแล้วก็ควรรักษาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
Credit : megawecare.co.th
โรครูมาตอยด์ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย หากเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถรักษาบรรเทาอาการได้
ดังนั้นควรหมั่นออกกำลังกายและใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีไม่มีโรคภัยมาคุกคาม