โรคละเมอแชท เป็นโรคที่มาพร้อมเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ โดยมาในรูปแบบคนที่ติดแชทเป็นส่วนใหญ่
สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าโรคนี้เป็นอย่างไร หรืออยากรู้ว่าตนเองเข้าข่ายเป็นโรคนี้หรือไม่ งั้นไปทำความรู้จักโรคนี้พร้อมๆ กันเลยค่ะ
โรคละเมอแชท (Sleep Texting) คืออะไร
โรคละเมอแชท (Sleep texting) คือ การส่งข้อความมือถือขณะหลับ โดยส่วนใหญ่มักเป็นการตอบข้อความที่แจ้งเตือนเข้ามา
หรืออาจเป็นการส่งข้อความที่เขียนขึ้นมาใหม่ การแจ้งเตือนข้อความใหม่ที่ได้ยินจะเป็นตัวกระตุ้นการตื่นตัวของเราระหว่างการนอนหลับ
ซึ่งการตอบกลับข้อความเกือบจะเป็นพฤติกรรมที่เราทำโดยอัตโนมัติ เนื่องจากระหว่างการนอนหลับเราจะระมัดระวังตัวน้อยกว่าตอนกลางวัน
และการละเมอตอบกลับข้อความที่ผิดพลาดอาจเกิดความเสียหายตามมาได้ โดยเราอาจตอบกลับข้อความไม่ครบหรือใช้ข้อความไม่เหมาะสม
ทำให้ผู้อื่นสับสน เข้าใจผิด หรือไม่พอใจได้ ซึ่งการกระทำของบุคคลที่ได้รับผลกระทบอาจไม่สาสมารถเรียกคืนได้ในภายหลัง
สาเหตุของโรคละเมอแชท
ในสภาพความเป็นจริง สมองเราไม่ได้มีภาวะหลับหรือตื่น เพียงแต่สมองที่สั่งการในส่วนนั้นๆ อาจถูกระงับหรือกระตุ้นการทำงาน
ดังนั้นคุณจึงสามารถมีระดับสติที่แตกต่างกันเกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมกึ่งสมเหตุสมผล
หรือกึ่งตั้งใจ (semi-conscious or semi-purposeful behaviors) เมื่อพฤติกรรมผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นในระหว่างการนอนหลับ
ก็จะเรียกว่าภาวะละเมอ (parasomnias) ซึ่งเป็นความผิดปกติด้านการนอน (sleep disorder) ชนิดหนึ่ง รวมไปถึงความผิดปกติด้านการนอนอื่น ๆ
เช่น การเดินละเมอ (sleepwalking) การละเมอพูด (sleeping talking) การกลัวการนอนหลับ (sleep terrors) ละเมอกิน (sleep eating)
และยังรวมไปถึงพฤติกรรมที่ซับซ้อน เช่น การขับรถหรือการมีเพศสัมพันธ์ ในบางรายความสามารถในการแสดงออกถึงความฝัน
อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงการนอนแบบ REM (REM sleep disorder)
ลักษณะอาการจะเป็นเหมือนคนนอนดิ้นและละเมออย่างรุนแรง จะสะบัดแขนขาอย่างรุนแรง เหมือนกำลังต่อสู้กับใครอยู่
ซึ่งจริงๆ แล้วอาการละเมออย่างรุนแรงแบบนี้จะเป็นผลเนื่องมาจากขณะที่ฝัน แต่ในคนปกติ เมื่อเข้าสู่สภาวะการฝัน กล้ามเนื้อ
แขนขาจะหยุดการเคลื่อนไหว ไม่ออกแรงหรือเคลื่อนไหวตามเนื้อหาความฝัน แต่ในคนกลุ่มนี้
การควบคุมการหยุดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อในขณะฝันผิดปกติไป จึงเกิดการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงตามเนื้อหาของความฝัน
ในทำนองเดียวกัน การละเมอแชทอาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในพฤติกรรมเหล่านี้ที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ ซึ่งอาจมีประเด็นเหล่านี้เกี่ยวข้อง ได้แก่
1.ความเครียด ความกดดันหรือความกังวลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหรือชีวิตส่วนตัวส่งผลต่อรูปแบบการนอนหลับของบุคคล
2.กิจกรรมในตอนกลางวันที่เกินตัว เช่น ถ้าสมองกระวนกระวายมากในตอนกลางวันรูปแบบคลื่นสมองยังคงเหมือนเดิมในเวลากลางคืน
ส่งผลให้สมองพักผ่อนไม่เต็มที่และมีรูปแบบการแสดงออกโดยที่บุคคลนั้นไม่รู้สึกตัว
3.การกีดกันการนอนหลับ มีผลการวิจัยที่บ่งชี้ว่า สำหรับคนที่ทำงานได้ดีที่สุดนั้น ต้องพักผ่อนนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
แต่ถ้าหากบุคคลนั้นพักผ่อนไม่เพียงพอหรือมีอาการฝืนการนอน ก็อาจส่งผลต่อการละเมอได้
4.พันธุกรรม เมื่อพ่อหรือแม่หรือทั้งคู่มีความผิดปกติของการนอนหลับ ลูก ๆ ก็จะมีความเสี่ยงของความผิดปกตินั้นด้วย
5.การรู้สึกตัวบ่อยขณะการนอนหลับ การนอนหลับที่ไม่สบาย หรือหลับไม่สนิท เกิดขึ้นเนื่องจากจิตใจที่ถูกรบกวน
นอกจากนี้ โรคละเมอแชทอาจมีสาเหตุมาจากลักษณะการทำงานที่ต้องโทรติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
และสำหรับผู้ที่ทำงานบนคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ การส่งข้อความอาจเป็นสาเหตุหลักในความผิดปกตินี้ได้ด้วยเช่นกัน
อาการของผู้ป่วยโรคละเมอแชท
ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมที่ค่อนข้างซับซ้อนขณะนอนหลับ แต่ไม่มีความทรงจำในภายหลังและไม่มีจิตใต้สำนึกขณะทำกิจกรรม
บ่อยครั้งที่เนื้อหาของข้อความมีปริมาณมากและเนื้อหาเป็นภาษาที่มีความไม่สุภาพ ผู้ป่วยมักจะคิดถึงการนอนหลับในระยะเวลาที่จำกัด
ซึ่งผลที่ตามมาทำให้สมองส่วนหนึ่งพร้อมจะควบคุมร่างกายให้ตื่นขึ้นมา ในขณะที่สมองที่ควบคุมหน่วยความจำและการตัดสินอาจยังคงหลับอยู่
ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่บางคนสามารถแสดงความเคลื่อนไหว เช่น การเดิน การพูดคุย การส่งข้อความหรือแม้แต่การขับรถ ขณะกำลังนอนหลับ
การวินิจฉัยโรคละเมอแชท
การวินิจฉัยจะคล้ายกับการวินิจฉัยโรคการนอนหลับทั่วไป โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับจะวินิจฉัยว่า
การนอนหลับของคุณมีผลต่อชีวิตประจำวันของคุณอย่างไร แพทย์จะต้องทราบประวัติทางการแพทย์ที่ครบถ้วน ประวัติเกี่ยวกับการใช้ยาทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน
รวมทั้งประวัติของเครือญาติที่เคยมีโรคการนอนหลับ นอกจากการใช้โทรศัพท์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับจะพยายามตรวจสอบว่ามีสิ่งอื่นใดอีกบ้าง
ที่ก่อให้เกิดอาการหวาดกลัวในการนอนหลับของคุณหรือทำให้อาการแย่ลง เช่น ความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ
ความผิดปกติของสุขภาพจิต หรือการใช้สารเสพติด นอกจากที่กล่าวมาแล้ว แพทย์จะการวัดคลื่นสมองหัวใจและกล้ามเนื้อขณะนอนหลับ
และพิจารณาถึงวิธีที่แขนและขาของคุณเคลื่อนที่ พร้อมบันทึกพฤติกรรมของคุณในระหว่างที่คุณหลับบนวิดีโอ
ซึ่งจะช่วยแสดงให้เห็นว่า คุณลุกขึ้นจากเตียงและทำอะไรผิดปกติระหว่างการศึกษาเรื่องการนอนหลับของคุณหรือไม่
วิธีรักษาโรคละเมอแชท
โรคละเมอแชท ในขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจน มีเพียงแนวทางปฏิบัติเพื่อลดการละเมอแชท ดังนี้
1.ปล่อยให้โทรศัพท์ของคุณอยู่ในห้องอื่นในเวลากลางคืน เมื่อไฟและเสียงเตือนไม่กระตุ้นรบกวนการนอน
ก็จะทำให้หลับสนิท แต่ถ้าคุณถูกกระตุ้นโดยอัตโนมัติร่างกายจะมีการตอบสนอง นอนจากนี้ควรจัดสภาพห้องนอน
ให้เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการนอนหลับ หากคุณใช้ฟังก์ชั่นปลุกบนโทรศัพท์มือถือตอนเช้า ควรเปลี่ยนมาใช้นาฬิกาปลุกแทน
2.กำหนดเวลา 1-2 ชั่วโมงก่อนนอน เพื่อเป็นเวลาว่างสำหรับการลดหรือหยุดทำงานกับโทรศัพท์และเครื่องคอมพิวเตอร์
และควรจัดการตารางการนอนหลับให้สม่ำเสมอ กลยุทธ์เหล่านี้ช่วยให้ร่างกายและสมองของคุณเข้าใจเมื่อถึงเวลาที่ต้องพักผ่อนสำหรับกลางคืน
3.ลดความเครียดที่อาจนำไปสู่ parasomnias (ความผิดปกติของการนอนหลับซึ่งบุคคลแสดงพฤติกรรมแปลก ๆ ในขณะนอนหลับ) โดยการฝึกเทคนิคการผ่อนคลายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การทำสมาธิ
4.หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน ถ้าคุณจำเป็นต้องมีโทรศัพท์ในห้องนอน ให้ใช้โทรศัพท์แบบปกติที่ไม่มีรูปแบบการรับส่งข้อความ และวางตำแหน่งให้ห่างจากเตียงของคุณให้ได้มากที่สุด
หากวิธีเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะช่วยบำบัดอาการของโรคละเมอแชทได้ แนะนำให้พูดคุยกับแพทย์ เนื่องจาก parasomnias อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยของปัญหาสุขภาพ
เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบบอุดกั้น ภาวะกรดไหลย้อน อาการชักหรือโรคขากระสับกระส่าย ซึ่งอาการเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข
นอกจากนี้ยังอาจเป็นผลข้างเคียงของยาที่มีผลต่อการนอนหลับ (รวมถึงการกินยานอนหลับที่มีปริมาณมากเกินไป)
และหากปัญหายังคงอยู่ คุณต้องรีบไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อทดสอบการนอนหลับและช่วยระบุสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง
วิธีป้องกันโรคละเมอแชท
ในความเป็นจริง เราไม่ควรนอนกับโทรศัพท์ เพราะการแจ้งเตือนข้อความหรือสายโทรเข้าจะรบกวนสิ่งแวดล้อมในการนอน
นอกจากนี้ยังทำให้คุณต้องตื่นนอน เพื่อสนทนา เล่นเกม หรือท่องอินเตอร์เน็ต แสงจากหน้าจออาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการนอนหลับและอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับตามมาได้ในที่สุด
และควรตั้งค่าขีดจำกัด การมีระเบียบวินัยในตนเองและการจัดการเวลาในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่บ้าน หรือการพาตัวเองออกไปทำกิจกรรม
ไม่ว่าจะเป็นกีฬาหรือการท่องเที่ยว ซึ่งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการสัมผัสกับแสงแดดจะช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
5 สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคละเมอแชท
1.การส่งข้อความแบบละเมอแชท จะไปขัดขวางกระบวนการของร่างกายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในขณะหลับ
ได้แก่ การซ่อมแซมกล้ามเนื้อ การรวมหน่วยความจำ และการผลิตฮอร์โมนเพื่อควบคุมการเจริญเติบโต
2.การนอนหลับมีผลต่อความคิดและรู้สึกในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพและความสามารถในการทำงานอย่างเต็มที่
การละเมอแชทในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดความอ่อนล้าในตอนกลางวันและการทำงานบกพร่อง การส่งข้อความขณะหลับ
อาจเป็นสัญญาณของปัญหาด้านสุขภาพที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA)
3.วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ทุกคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือก็ล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น
4.การส่งข้อความแบบละเมอแชท แสดงถึงเทคโนโลยีที่รุกล้ำเข้าไปในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เรากำลังเผชิญหน้ากับเทคโนโลยีมากเกินไปและขาดการควบคุมในปริมาณที่เหมาะสม
5.วิธีง่าย ๆ ในการหลีกเลี่ยงการส่งข้อความคือ การปิดโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน หรือตั้งไว้ห่างๆ จากเตียงนอน หากต้องการใช้ตั้งปลุก แนะนำให้ใช้เป็นนาฬิกาปลุกแทนดีกว่า
Credit : doctorulzilei.ro
โรคละเมอแชท เป็นโรคที่ไม่ได้อันตรายร้ายแรงใด แต่หากเกิดโรคนี้แล้ว อาจจะเป็นการรบกวนการนอนหลับ ทำให้นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
ส่งผลทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง และอาจทำให้เกิดการส่งข้อความผิดพลาดไปยังผู้อื่นโดยที่ไม่เจตนาได้ ดังนั้น การรับมือรักษาป้องกันไว้ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน