โรคหินปูนเกาะกระดูกหู เป็นโรคที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยนัก แต่เนื่องจาก “หู” คือหนึ่งในอวัยวะภายนอก ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เป็นอวัยวะรับสัมผัสที่ทำหน้าที่การได้ยินและการทรงตัว
ซึ่งส่วนของหูเกือบทั้งหมดจะซ่อนอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หูชั้นนอก, หูชั้นกลาง และหูชั้นใน ดังนั้น จึงนับว่าจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องใส่ใจศึกษา อาการหรือโรคที่เกิดขึ้นกับหู
โดยวันนี้เราก็มีรายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้มาฝากกัน เป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ
ทำความรู้จักชั้นหูในส่วนต่างๆ
หูชั้นนอก
ประกอบด้วยใบหู ช่องหูชั้นนอก และแก้วหู โครงสร้างของใบหูมีลักษณะเป็นกระดูกอ่อน ทำหน้าที่ในการรับและรวบรวมคลื่นเสียงให้ผ่านช่องหูชั้นนอก
ภายในรูหูจะมีต่อมสร้างไขมันมาเคลือบไว้ ทำให้ผนังรูหูไม่แห้ง ช่วยป้องกันอันตรายไม่ให้แมลงกับฝุ่นละอองเข้าสู่ภายใน ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
เมื่อมีจำนวนมากจะกลายเป็นขี้หูและจะหลุดออกมาเอง จึงไม่ควรแคะหูบ่อยๆ เพราะเป็นการกระตุ้นทำให้ต่อมสร้างขี้หูเพิ่มขึ้น
ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงเยื่อแก้วหูได้ และถ้าแคะหูลึกไปถึงเยื่อแก้วหูทำให้เยื่อแก้วหูขาด ก็อาจส่งผลทำให้หูหนวก
หูชั้นกลาง
คือโพรงอากาศขนาดเล็กติดต่อกับโพรงจมูกและมีท่อติดต่อกับคอหอยเรียกว่า ท่อยูสเตเชียน (eustachian tube หรือ auditory tube) โดยปกติท่อนี้จะปิด แต่ในขณะที่กำลังเคี้ยวหรือกลืนอาหาร
ท่อจะขยับเปิด เพื่อปรับความดัน 2 ด้านของเยื่อแก้วหูให้เท่ากัน ถ้าหากท่อนี้เกิดการอุดตันจะทำให้เกิดอาการหูอื้อ หรือปวดหู
ในหูชั้นกลางมีกระดูกนำเสียง 3 ชิ้น คือ ค้อน ทั่ง และโกลน ติดต่อจากแก้วหูไปที่ช่องรูปรี (oval window)
ซึ่งกระดูกทั้ง 3 ชิ้น จะยึดติดกันเป็นระบบคานดีดคานงัด (lever system) เพื่อนำคลื่นเสียงที่มากระทบเข้าไปสู่หูชั้นใน
หูชั้นใน
มีอวัยวะประสาทสัมผัส 2 อย่างฝังอยู่ในกระดูกที่แข็งแรงมาก คือ อวัยวะรูปหอยโข่ง (cochilea) มีหน้าที่ในการรับเสียง,
อวัยวะหลอดกึ่งวง (semicircular canal) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว
ในหูชั้นใน จะมีน้ำหล่อเลี้ยงอวัยวะทั้งสองเป็นระบบเดียวกันและติดต่อถึงกัน หูชั้นในจะมีช่องเปิดเข้าหูชั้นกลาง 2 อัน
ซึ่งช่องทั้งสองเป็นตำแหน่งให้เสียงเข้าออกหูชั้นในและป้องกันไม่ให้น้ำหล่อเลี้ยงหูชั้นในไหลออกมาด้วย
มีลักษณะเป็นช่องรูปรีซึ่งมีฐานของกระดูกโกลนปิดอยู่ โดยมีเยื่อบางๆ ยึดไว้และช่องรูปกลม (round window) ซึ่งมีเยื่อบางๆ ปิดไว้
โดยทั่วไปประสาทหูจะเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่อายุ 20 ปี และสร้างปัญหาการได้ยินเมื่อได้อายุประมาณ 55-65 ปี
และเมื่อประสาทหูเสื่อมก็จะไม่สามารถกลับมาได้ยินชัดเจนอย่างที่เคยเป็น ผู้ป่วยโดยส่วนมากจึงต้องใช้เครื่องช่วยฟังไปตลอดชีวิต
ซึ่งในบางรายมีอาการซึมเศร้าเมื่อใช้เครื่องช่วยฟังในระยะแรกๆ แต่ก็มีผู้ป่วยหลายรายที่เริ่มมีปัญหาการได้ยิน
ตั้งแต่ช่วงยังอายุน้อยๆ (อายุ 20-40 ปี) คือการได้ยินลดลง เนื่องจากป่วยเป็นโรคหินปูนเกาะกระดูกหู
โรคหินปูนเกาะกระดูกหู คืออะไร
โรคหินปูนเกาะกระดูกหู (otosclerosis) คือ โรคที่เกิดจากหินปูนที่มีการเจริญผิดปกติในหูชั้นกลาง
โดยไปเกาะระหว่างฐานของกระดูกโกลน (stapes) กับช่องรูปไข่ (oval window) ซึ่งเป็นช่องทางติดต่อ
ระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน ส่งผลให้กระดูกโกลนไม่สามารถสั่นสะเทือน เพื่อตอบสนองต่อคลื่นเสียงได้ตามปกติ
จึงทำให้เสียงไม่สามารถผ่านจากหูชั้นกลาง เข้าไปในหูชั้นในได้ตามปกติ เสียงที่ผ่านได้จึงลดลง ทำให้มีอาการหูอื้อหรือหูตึง
และในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดหินปูนเจริญผิดที่ในหูชั้นใน หรือหินปูนที่ผิดปกติในหูชั้นกลางปล่อยเอนไซม์บางชนิด
เข้าไปในหูชั้นใน ทำให้เกิดมีเสียงดังในหู หรือมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ (cochlear otosclerosis)
สาเหตุของโรคหินปูนเกาะกระดูกหู
โรคหินปูนเกาะกระดูกหู เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่จากผลงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า
มีแนวโน้มที่โรคหินปูนเกาะกระดูกหู เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มักมีประวัติคนในครอบครัว
โดยเฉพาะพ่อหรือแม่ป่วยเป็นโรคหินปูนเกาะกระดูกหู โดยถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ ลูกจะมีโอกาสเป็น 25% แต่ถ้าพ่อและแม่เป็นโรคนี้ทั้งคู่
ลูกจะมีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50, และอาจมีสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างที่ตั้งครรภ์
(เพราะพบว่าในระหว่างตั้งครรภ์ อาการหูอื้ออาจมากขึ้นได้) หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด
และโรคนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า มักพบในคนอายุ 20-40 ปี และพบในคนขาวมากกว่าคนเอเชียหรือคนผิวดำ
อาการของโรคที่พบบ่อย
อาการที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคหินปูนเกาะกระดูกหูคือ การได้ยินลดลงหรือที่ผู้ป่วยเรียกว่าหูอื้อ
โดยจะมีอาการหูอื้อมากขึ้นเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมีผู้ป่วยบางรายอาจให้ประวัติว่าไม่สามารถได้ยินเสียงกระซิบ
และผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือมีเสียงดังในหู ซึ่งเสียงจะดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโรคเป็นมากขึ้น
หรืออาจมีการสูญเสียการได้ยินแบบประสาทเสียงเสียร่วมด้วย โดยมักจะเสียที่ความถี่สูงก่อน แล้วจึงมาเสียที่ความถี่ต่ำ
วิธีรักษาโรคหินปูนเกาะกระดูกหู
ในการรักษาโรคหินปูนเกาะกระดูกหู แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ ซึ่งผู้ป่วยรายที่มีปัญหาหูอื้อมาก
จนมีปัญหาในการสื่อสาร อาจต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ด้วยการเอากระดูกหูส่วนที่เป็นโรคออก
(มักจะเป็นกระดูกโกลน) และใส่วัสดุเทียมเข้าไป เพื่อทำให้การสูญเสียการได้ยินดีขึ้น
และการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการได้ยินไม่มาก จะใช้เครื่องช่วยฟัง ทำให้ผู้ป่วยได้ยินดีขึ้นได้
Credit : hatyailike.com
โรคหินปูนเกาะกระดูกหู เป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่างมาก ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีอาการหูอื้อมากขึ้นเรื่อยๆ และมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น
มีเสียงดังในหู ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้ อาจจะทำให้อาการแย่ลงเรื่อยๆ