โรคหูชั้นกลางอักเสบ เป็นโรคที่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบในเด็กที่มีช่วงอายุ 4 เดือนถึง 4 ขวบมากเป็นพิเศษ
เนื่องจากเด็กในวัยนี้ ยังมีภูมิต้านทานที่ต่ำกว่าคนทั่วไป และร่างกายก็ยังไม่เติบโตเต็มที่ ยิ่งถ้าหากไม่ได้ทานนมแม่ตั้งแต่เด็ก
ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เนื่องจากนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมาย ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงได้
เพราะฉะนั้นหากผู้ปกครองคนไหนกำลังพบปัญหาลูกป่วยเป็นโรคนี้อยู่ ต้องมาทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้รักษาได้อย่างถูกต้อง
โรคหูชั้นกลางอักเสบ คืออะไร
โรคหูชั้นกลางอักเสบ (ภาษาอังกฤษ – Middle Ear Infection) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ ทั้งจากแบคทีเรียและไวรัส
จนทำให้เกิดการบวมและอักเสบอยู่ในหูชั้นกลาง จนทำให้เกิดน้ำใส ๆ หรือนองข้น ๆ ไหลออกมาได้
ยิ่งถ้าหากไม่ได้ทำการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้แก้วหูทะลุและอาจทำให้โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เกิดตามมาได้อีกด้วย
โดยโรคหูชั้นกลางอักเสบนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
การอักเสบเฉียบพลัน – โรคหูชั้นกลางอักเสบในลักษณะนี้ มักจะเกิดจากการติดเชื้อร่วมกับอวัยวะส่วนอื่นอย่างเช่น
ทางเดินหายใจส่วนบน บางรายก็อาจเกิดจากการแทรกซ้อนของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
การอักเสบแบบมีน้ำขังอยู่ – จะเรียกว่าอักเสบก็คงไม่ถูกนัก เพราะโรคหูชั้นกลางอักเสบในลักษณะนี้
จะไม่มีอาการบวมแดงเหมือนลักษณะอื่น ๆ แต่จะมีความรู้สึกเหมือนกับมีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา จนทำให้รู้สึกหูอื้อหรือไม่ค่อยได้ยิน
ถ้านึกไม่ออก ก็ลองนึกถึงการขึ้นเครื่องบิน หรือการดำน้ำแล้วมีน้ำเข้าไปในหูก็ได้
ซึ่งอาการแบบนี้ไม่มีความรุนแรงแต่อย่างใด เพียงแต่สร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยมาก ๆ เท่านั้น
การอักเสบแบบรุนแรงเรื้อรัง – เรียกอีกอย่างได้ว่า เป็นโรคหูน้ำหนวก เพราะแก้วหูเกิดการทะลุแล้ว
ยิ่งถ้าหากมีการติดเชื้อที่รุนแรง ก็จะทำให้ไม่ค่อยได้ยินเสียง จนถึงขั้นกลายเป็นคนหูหนวกได้
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ
1.นอกจากเรื่องของภูมิต้านทานแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบได้ โดยเฉพาะสาเหตุดังต่อไปนี้
2.ท่อยูสเตเชียน (ท่อที่เชื่อมระหว่างลำคอและหู) อุดตัน หรือบวม ซึ่งอาจเกิดจากการเป็นไข้หวัดเป็นเวลานาน
3.การเลี้ยงลูกด้วยขวดนมแบบไม่ระวัง เช่น ให้ลูกนอนหงายดูดนมจนทำให้เกิดการสำลัก
หรือการใช้จุกนมปลอม ที่ไม่ได้มาตรฐาน จนอาจเกิดการติดเชื้อต่าง ๆ ได้
4.การสั่งน้ำมูกแรง ๆ จนหูมีปฏิกิริยา ในขณะที่มีอาการอักเสบภายในโพรงจมูกอยู่แล้ว ก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลางได้
5.การสูดดมควันบุหรี่ในบ้านของเด็ก
6.การไม่ดูแลสุขอนามัยให้กับเด็ก โดยเฉพาะการส่งเด็กไปอยู่ที่เนิร์สเซอรี่ หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก
อาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบ
อย่างที่กล่าวไปแล้วนั้น ว่าโรคหูชั้นกลางอักเสบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ จึงขอแบ่งอาการตามลักษณะที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
การอักเสบเฉียบพลัน – การอักเสบแบบเฉียบพลัน มักจะเกิดในเด็กมากที่สุด เพราะภูมิต้านทานต่ำจึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายมากกว่าผู้ใหญ่
ซึ่งจะทำให้เกิดการปวดหู ร่วมกับการมีน้ำมูกไหลและเป็นหวัด และการได้ยินก็จะลดลงจากปกติลงไป
การอักเสบแบบมีน้ำขังอยู่ – ลองนึกถึงการที่เราไปดำน้ำ หรือขึ้นเครื่องบิน ที่จะรู้สึกว่าหูอื้ออยู่สักระยะ
เพียงแต่ครั้งนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อใดก็ตามที่เคี้ยวอาหาร หรือเปล่งเสียงออกจากลำคอ ก็จะรู้สึกได้ยินเพียงข้างเดียว
ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่รุนแรงมากเท่าเท่าลักษณะอื่น ๆ แต่ก็สร้างความน่ารำคาญได้เป็นระยะเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือถึงขั้นหลายเดือน
การอักเสบแบบรุนแรงเรื้อรัง – เนื่องจากการอักเสบในลักษณะนี้ เรียกได้อีกอย่างว่าหูน้ำหนวก อาการที่เห็นได้ชัด
คือการที่มีหนองข้น ๆ ส่งกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากช่องหูนั่นเอง แต่ถ้ามีอาการรุนแรง
ก็อาจถึงขั้นไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้จนทำให้หน้าเบี้ยวผิดรูปนั่นเอง
วิธีรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบ
ถึงแม้ว่าโรคหูชั้นกลางอักเสบ จะดูรุนแรงและน่ากลัวกว่าที่คาดคิด
แต่ถึงกระนั้นก็ยังสามารถดูแลอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองได้อยู่ภายหลังจากการไปพบแพทย์ ด้วยวิธีการ คือ
1.หมั่นทำความสะอาดช่องหูอยู่เสมอ ซึ่งแพทย์มักจะสั่งยาหยอดหูที่เป็นยาปฏิชีวนะให้ เพื่อทำให้หนอง
หรือเชื้อโรคภายในแห้งหายไป ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาสัก 1-2 อาทิตย์แล้วแต่อาการ แต่ถ้าหากมีอาการอักเสบอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย
เช่นการปวดหู หรือมีไข้แบบเฉียบพลัน ก็อาจจะต้องทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
2.หลีกเลี่ยงการดำน้ำ หรือลงน้ำในสระว่ายน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง ที่เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคต่าง ๆ
3.ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ยาที่ควรใช้ให้ครบตามแพทย์สั่ง
ไม่ควรหยุดยาเองเพราะเห็นว่าอาการดีขึ้นแล้ว เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเกิดการดื้อยาในภายหลังได้
แต่ถ้าหากมีอาการที่รุนแรงมาก เช่น การมีฝีขึ้นที่หู หรือไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้ จนไม่สามารถดูแลด้วยตัวเองได้
ก็ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งอาจจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการต่อไป
เพราะบางรายอาจมีโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต อย่างโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเกิดฝีขึ้นในสมองจากการติดเชื้อ
ซึ่งอาจจะทำให้ร่างกายไม่เหมือนเดิมได้อีกต่อไปถึงแม้ว่าจะทำการรักษาแล้วก็ตาม
วิธีป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบ
1.เนื่องจากโรคนี้มักเกิดขึ้นในเด็ก วิธีการป้องกันที่ได้ผลมากที่สุด ก็คือการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก
ด้วยการให้นมแม่ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป
2.ไม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมขวด โดยเฉพาะกรณีที่เด็กอายุไม่ถึง 6 เดือน และไม่ควรใช้จุกนมปลอม
เพราะเห็นแก่ราคาถูก ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในเด็กได้เพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า
3.หากไม่ว่างเลี้ยงดูลูก ก็ควรจ้างพี่เลี้ยง หรือให้ญาติเป็นผู้ดูแล อย่าส่งลูกไปที่เนิร์สเซอรี่หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก
เพราะอาจมีสุขอนามัยที่ไม่สะอาดเพียงพอ และเด็กอาจติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ มาจากเด็กคนอื่น ๆ ได้อีกด้วย
4.ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ ๆ เต็มไปด้วยควันบุหรี่ ยิ่งถ้าหากมีบุตร ก็ควรขอให้คนในครอบครัวงดสูบบุหรี่ หรือไปสูบที่อื่นแทน
5.ควรระมัดระวังเรื่องของการป่วยเป็นไข้หวัดที่อาจมีอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจได้
6.ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
7.วัคซีนป้องกันโรคบางชนิด ก็มีส่วนในการลดการติดเชื้อในหูชั้นกลางได้ โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ
Credit : popsugar.com
โรคหูชั้นกลางอักเสบ ในปัจจุบันนี้ สามารถพบได้น้อยลงแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะหายขาดเลย โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังไม่มีสุขอนามัยที่ดี
ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด และหมั่นซักถามถึงความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ เพื่อจะได้ทำการรักษาให้ทันท่วงที เพราะถ้าหากไม่ถึงขั้นที่แก้วหูทะลุ ก็ยากที่จะกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง