โรคเนื้องอกไกลโอม่า คืออะไร รักษาได้อย่างไรบ้าง?

โรคเนื้องอกไกลโอม่า Glioma

เนื้องอก เมื่อเอ่ยถึงคำนี้ หลายคนเป็นต้องกังวลไปตามๆ กัน เพราะเนื้องอกสามารถแบ่งได้เป็นทั้งแบบไม่อันตราย

และแบบที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม เมื่อภายในร่างกายเกิดเนื้องอกขึ้นมาไม่ว่าจะส่วนไหนก็ตาม เราไม่ควรปล่อยปละละเลย

ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาจะดีที่สุด ดั่งเช่น โรคเนื้องอกไกลโอม่า โรคนี้หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อก็ว่าได้

เรามาดูกันดีกว่าว่า เนื้องอกไกลโอม่า คืออะไร อันตรายหรือไม่ และมีวิธีรักษาอย่างไร ไปดูกันค่ะ

โรคเนื้องอกไกลโอม่า คืออะไร?

โรคเนื้องอกไกลโอม่า (Glioma) เป็นโรคเนื้องอกในระบบประสาท สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในสมองและไขสันหลัง

เนื้องอกไกลโอม่า อาจเป็นเนื้องอกมะเร็งหรือไม่ใช่เนื้องอกมะเร็งก็ได้ และสามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

ตั้งแต่เด็กไปจนสูงอายุ โดยเนื้องอกไกลโอม่า เกิดขึ้นมาจากเซลล์เกลีย (glial cell) หรือ นิวโรเกลีย (neuroglia)

ซึ่งเป็นเซลล์ผู้ช่วยเซลล์ประสาท มีหน้าที่ช่วยค้ำจุนเซลล์ประสาท เป็นแหล่งอาหาร รักษาความสมดุล

สร้างเยื่อไมอีลินห่อหุ้มเซลล์ประสาท และยังเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของกระแสประสาท

ซึ่งในระบบประสาทนั้น จำนวนเซลล์เกลียมีมากกว่าจำนวนเซลล์ประสาทถึง 10 เท่าตัว

อาการของโรคเนื้องอกไกลโอม่า

ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการของโรคเนื้องอกไกลโอม่าได้แตกต่างกันไป ขึ้นกับประเภท ขนาด ตำแหน่ง และอัตราการเจริญเติบโตของเนื้องอกที่เกิดขึ้น

โดยสัญญาณและอาการแสดง (signs and symptoms) ที่สามารถได้พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเนื้องอกไกลโอม่า ได้แก่

  • มีอาการปวดหัว
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ผู้ป่วยอาจมีความสับสน การทำงานของสมองลดลง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น มองเห็นไม่ชัด
  • การสูญเสียความทรงจำ
  • การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพหรือหงุดหงิดง่าย
  • ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะไม่ได้
  • ความยากลำบากในการพูด
  • มีอาการชัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ไม่มีประวัติโรคลมชัก

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

ในปัจจุบัน สาเหตุที่แท้จริงของโรคเนื้องอกไกลโอม่ายังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็อาจมีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกชนิดนี้ ได้แก่

อายุ พบว่าความเสี่ยงของเนื้องอกไกลโอม่าจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยมักพบมากในผู้ใหญ่อายุระหว่าง 60-80 ปี

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับชนิดของเนื้องอกไกลโอม่าด้วย อย่างเช่น เนื้องอกชนิด ependymomas มักจะพบได้บ่อยในเด็กและวัยหนุ่มสาวมากกว่า

การสัมผัสกับรังสี จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเนื้องงอกในสมอง โดยตัวอย่างของการสัมผัสรังสี

ได้แก่ รังสีที่ใช้บำบัดโรคมะเร็ง และรังสีที่เกิดจากการระเบิดปรมาณู เป็นต้น

ประวัติคนในครอบครัว อาจมียีนบางตัวที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเนื้องอกไกลโอม่า

ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเนื้องอกไกลโอม่า ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้ถึงสองเท่า

การวินิจฉัยโรค

การตรวจเบื้องต้นทางระบบประสาท เช่น การทดสอบการมองเห็น การทดสอบการได้ยิน การทรงตัว

การประสานงานของกล้ามเนื้อ การตอบสนองของกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งปัญหาที่พบจากการตรวจดังกล่าว

จะทำให้แพทย์สามารถระบุถึงบริเวณของสมองที่ได้รับผลกระทบจากเนื้องอกได้อย่างคร่าว ๆ

การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ใช้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมอง

ในบางกรณีแพทย์อาจมีการฉีดสีย้อมเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อสมอง

กับก้อนเนื้องอกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการถ่ายภาพเอกซเรย์วิธีอื่น ๆ ที่นิยมใช้ ได้แก่ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นต้น

แพทย์ผู้ตรวจอาจใช้เทคนิคพิเศษโดยการตัดชิ้นเนื้อด้วยการเจาะผ่านกะโหลกศีรษะ และนำชิ้นเนื้อมาตรวจด้วยวิธีการทางพยาธิวิทยา

ก็จะทำให้ทราบได้ว่าเซลล์เนื้องอกไกลโอม่าในตัวผู้ป่วยนั้น เป็นเซลล์ชนิดไหนและการแบ่งตัวของเนื้องอกเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เนื้องอกไกลโอมาเป็นโรคที่มักไม่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ

เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด หรือกระดูก ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องตรวจหาระยะของโรค

แต่แพทย์อาจทำการตรวจสุขภาพอื่น ๆ โดยทั่วไป เช่น ตรวจนับจำนวนเม็ดเลือด ตรวจดูการทำงานของตับ ไต รวมถึงการตรวจปัสสาวะ

ระยะและความรุนแรงของโรคเนื้องงอกไกลโอม่า

ถึงแม้ว่าเนื้องอกไกลโอมาส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง และไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ

จึงทำให้ไม่มีการจัดระยะของโรค แต่โดยทั่วไปแพทย์อาจจัดระยะของโรคตามลักษณะตามความรุนแรงทางคลินิก ได้ดังนี้

  • เนื้องอกที่สามารถผ่าตัดออกได้หมด
  • เนื้องอกที่สามารถผ่าตัดเอาออกได้ แต่ไม่สามารถเอาออกได้หมด
  • ไม่สามารถผ่าตัดเอาออกได้เลย
  • การกลับเป็นซ้ำหลังจากการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือการใช้รังสีรักษา

นอกจากการแบ่งความรุนแรงและระยะของโรคตามลักษณะทางคลินิกแล้ว อาจแบ่งระยะของโรคเนื้องอกไกลโอม่า

จากลักษณะทางพยาธิวิทยา โดยอาศัยลักษณะการแบ่งตัวของเซลล์เนื้องอก ซึ่งแบ่งได้ 4 ระดับ (grade) ดังนี้

  • Grade 1 หรือ G1 เซลล์มีการจำแนกลักษณะชัดเจน (well differentiated)
  • Grade 2 หรือ G2 เซลล์มีการจำแนกลักษณะชัดปานกลาง (moderated differentiated)
  • Grade 3 หรือ G3 เซลล์มีการจำแนกลักษณะไม่ชัดเจน (poorly differentiated) หรือเรียกว่า aplastic
  • Grade 4 หรือ G4 เซลล์ไม่มีการจำแนกลักษณะอย่างชัดเจนเลย (undifferentiated) หรือเรียกว่า Glioblastoma multiforme (GBM) ซึ่งเป็นโรคเนื้องอกไกลโอม่าที่รุนแรงที่สุด

เรียกรวมเนื้องอกในระดับ G1 และ G2 ว่าเป็น low grade glioma ซึ่งเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง

ส่วนเนื้องอกในระดับ G3 และ G4 จะเรียกว่าเป็น high grade glioma จัดเป็นเนื้อเยื่อชนิดที่เป็นมะเร็ง

วิธีรักษาโรคเนื้องอกไกลโอม่า

วิธีการรักษาโรคเนื้องอกไกลโอม่า จะขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และตำแหน่งของเนื้องอก รวมถึงอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

วิธีหลักในการรักษาโรคเนื้องอกไกลโอม่าคือการผ่าตัด โดยเนื้องอกในระดับ G1 และ G2 อาจใช้วิธีการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว

ก็สามารถกำจัดเนื้องอกออกได้ทั้งหมด แต่ในกรณีเนื้องอกระดับ G3 และ G4 รวมถึงโรคเนื้องอกไกลโอม่าที่มีการกลับเป็นซ้ำ

ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่า มักจะใช้วิธีการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี แต่หากแพทย์ประเมินแล้วว่า

ลักษณะเนื้องอกไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด เพราะอาจมีขนาดใหญ่ หรือการผ่าตัดอาจไปกระทบกับสมองส่วนอื่น

ก็จะใช้วิธีการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว โดยหลังจากการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการพิจารณา

เพื่อให้ยาเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการฉายรังสีควบคู่ไปกับการได้รับยาเคมีบำบัดก็ได้

แต่การใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว โดยปราศจากการผ่าตัดหรือการฉายแสงร่วมด้วย

มักไม่สามารถรักษาโรคเนื้องอกนี้ได้ เนื่องจากเนื้องอกไกลโอม่าตอบสนองต่อยาไม่ดีนัก

การฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการรักษา

เนื่องจากเนื้องอกในสมองอาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทที่ควบคุมทักษะการพูดและการคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความยากลำบากในการพูด

แพทย์อาจแนะนำการฟื้นฟูทักษะด้านการพูด ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาและความอดทนของตัวผู้ป่วยและญาติ ร่วมถึงต้องอาศัยความร่วมมือเป็นอย่างสูง

การทำกายภาพบำบัด สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูทักษะการเคลื่อนไหว ทั้งการเคลื่อนไหวร่างกายส่วนบนและส่วนล่าง

ทำให้ช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ซึ่งการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ความแข็งแรงและการตอบสนองของกล้ามเนื้อค่อย ๆ ฟื้นคืนมา

Credit : gurucheck.in.th

โรคเนื้องอกไกลโอม่า เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นในระบบประสาท ส่วนใหญ่แล้วมักไม่มีอันตราย แต่ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้น

หรือมีการพัฒนากลายเป็นเนื้อเยื่อมะเร็ง ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างมหาศาล อาการแสดงของโรคเนื้องอกไกลโอม่า

มักจะเกี่ยวข้องกับทักษะในด้านการพูดการมองเห็นลดลง ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน สูญเสียความทรงจำ

บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง หรือในบางรายอาจมีอาการชัก ถ้าผู้ป่วยได้รับการตรวจและวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว

ก็จะทำให้สามารถรักษาโรคเนื้องอกไกลโอม่าได้ทันท่วงที ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด การฉายรังสี

รวมถึงการใช้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดหรือร่วมกับการฉายรังสี และหลังจากการรักษาเสร็จสิ้นลง

การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยในด้านที่เสียไป ก็มีความสำคัญยิ่งเพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข