โรคเมลิออยด์ เป็นอีกหนึ่งโรคที่คนในประเทศไทยอาจจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักว่าโรคนี้คืออะไร
มีสาเหตุ อาการอย่างไรบ้าง โดยโรคนี้ส่วนใหญ่มักจะพบในสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ที่อยู่ในฟาร์ม
โดยในประเทศไทยที่พบส่วนมากจะอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และด้วยความที่โรคนี้เป็นชื่อที่อีกหลายคนไม่คุ้นหูกันเท่าไร
หลายคนจึงอยากรู้ว่า โรคเมลิออยด์ คืออะไร ร้ายแรงหรือไม่ มีวิธีรับมือรักษาอย่างไรบ้าง? บทความนี้เราเลยจะพาคุณไปติดตามรายละเอียดอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
โรคเมลิออยด์ คืออะไร?
โรคเมลิออยด์ หรือ โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) หรือเรียกอีกชื่อว่า โรคมงคล่อเทียม
ในประเทศไทยสามารถที่จะพบโรคนี้ได้จากหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะสาเหตุซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
ความน่ากลัวของโรคอยู่ตรงที่ ในบางครั้งผู้ที่มีการติดเชื้ออาจจะไม่รู้ตัวว่าตนเองได้รับเชื้อ
เพราะร่างกายอาจจะไม่ได้มีการแสดงอาการผิดปกติให้พบ ทั้งที่ในขณะเดียวกัน เชื้อกลับสามารถที่จะลุกลามขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
โรคเมลิออยด์ เกิดขึ้นได้กับใครบ้าง?
โรคเมลิออยด์สามารถที่จะพบได้ทุกๆ เชื้อชาติ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนเอเชียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และที่สำคัญไม่ได้มีการจำกัดอายุหรือเพศ
แต่ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในช่วงอายุ 30-40 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีโอกาสได้สัมผัสกับเชื้อโรคนี้ได้ง่ายมากที่สุด
สาเหตุของโรคเมลิออยด์
สาเหตุของการติดเชื้อโรคเมลิออยด์ เกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Burkholderia pseudomallei
แต่การที่จะติดเชื้อขึ้นได้นั้น ต้องเกิดจากการที่ร่างกายได้ไปสัมผัสกับดินหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ แต่ทั้งนี้ บริเวณที่สัมผัสอาจจะมีแผล
ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และไม่ใช่เพียงแค่การสัมผัสแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แม้กระทั่งการสูดดมอากาศ
รวมถึงได้รับละอองน้ำที่มีเชื้อปะปนอยู่ เชื้อก็จะสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปอด จะเห็นได้ว่าปัจจัยเหล่านี้
ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้โดยง่ายทั้งสิ้น ซึ่งก็ถือเป็นการติดเชื้อจากธรรมชาติทั่วไป
แต่นอกจากนี้แล้ว ผู้ป่วยยังสามารถที่จะติดเชื้อได้จากสัตว์ รวมไปถึงสารคัดหลั่งที่ออกมาจากสัตว์ได้ด้วยเช่นเดียวกัน
ระยะเวลาฟักตัวของโรคเมลิออยด์
เมื่อร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเมลิออยด์ ในเรื่องของระยะการฟักตัวของโรค
ก็ไม่สามารถที่จะบ่งบอกได้อย่างชัดเจน เพราะผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะได้รับปริมาณเชื้อไม่เท่ากัน รวมไประดับภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันไป
โดยส่วนใหญ่เร็วสุดคือ 1-2 วัน แต่ทั้งนี้ก็สามารถที่จะใช้ระยะฟักตัวได้เป็นปี เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้จึงจำเป็นที่จะต้องให้การระมัดระวังไม่น้อย
อาการของโรคเมลิออยด์
ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ การแสดงออกของอาการพื้นฐานแล้วส่วนใหญ่จะเริ่มจากเป็นไข้ อ่อนเพลีย และอาจจะมีน้ำหนักตัวที่ลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นอาการเบื้องต้นของโรคเมลิออยด์ แต่ในเรื่องของอาการ หากจะให้จำเพาะเจาะจงก็สามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มตามการติดเชื้อ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
การติดเชื้อโรคเมลิออยด์ แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ
1.ติดเชื้อเฉพาะที่แบบเฉียบพลัน (Acute localized infection) การติดเชื้อในส่วนนี้มักจะเป็นบริเวณที่สัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง
ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังที่เป็นแผล ซึ่งอาจจะทำให้รูปแบบของแผลเป็นหนองหรือเปื่อย แต่หากเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นตาหรือต่อมน้ำลาย ในส่วนนี้ก็จะมีความผิดปกติเกิดขึ้นอย่างแตกต่างกันไป
2.ติดเชื้อในกระแสโลหิต (Acute localized infection) เป็นการติดเชื้อที่ผ่านการสัมผัสจากแผลรวมไปถึงการหายใจ
ดังนั้น จึงต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะการติดเชื้อรูปแบบนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
โดยผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน และไม่สามารถที่จะหายใจเองได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
3.ติดเชื้อที่ปอด (Pulmonary form) เป็นอาการที่มีความคล้ายคลึงกับการติดเชื้อในกระแสโลหิต
แต่ทั้งนี้อาจจะมีการไอเป็นเลือด รวมไปถึงการเป็นปอดอักเสบ และเกิดหนองในปอด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเมลิออยด์
ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์จะมีภาวะแทรกซ้อนคือ เกิดภาวะช็อกอันเนื่องจากโลหิตเป็นพิษ และภาวะของการหายใจล้มเหลว
ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนอันร้ายแรง และถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้สูง
นอกจากนี้ อาจจะสามารถพบภาวะหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ภาวะลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด
โดยเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับทางปอดได้นั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้น ในผู้ป่วยบางรายยังอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง
อันเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากระบบประสาทร่วมด้วย และหากผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นเวลานาน
ย่อมทำให้เกิดผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆ ร่วมด้วยได้ เช่น ปอด หรือสมอง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดหนองหรือฝี
การวินิจฉัยโรคเมลิออยด์
สำหรับโรคเมลิออยด์ เริ่มแรกจะต้องมีการดูจากประวัติ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ที่อยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งโรคประจำตัว
สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องเพื่อที่จะช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์ได้ทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้อาจจะต้องมีการตรวจภาพเอกซเรย์ปอด
และการตรวจเพาะเชื้อจากเลือด รวมถึงสารคัดหลั่ง เพื่อที่จะใช้ในการหาสารก่อภูมิต้านทาน
สำหรับการตรวจภาพจากอวัยวะต่างๆ ในส่วนนี้ก็จะมีทั้งการทำเอกซเรย์ การอัลตร้าซาวด์ และการทำ MRI
วิธีรักษาโรคเมลิออยด์
สำหรับวิธีรักษาโรคเมลิออยด์ แพทย์จะทำการรักษาไปตามอาการหรือรักษาควบคู่ไปกับการประคับประคอง
โดยเริ่มแรกแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ แต่ในส่วนระยะของการเวลารักษาว่าผู้ป่วยจะดีขึ้นช้า-เร็วอย่างไรนั้น
ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันในร่างกาย และระดับความรุนแรงของแต่ละคนนั่นเอง แต่หากผู้ป่วยมีอาการเพิ่มเติม
เช่น เกิดอาการติดขัดในการหายใจ ยิ่งหากมีอาการรุนแรงแพทย์อาจพิจารณาให้ใส่ท่อช่วยหายใจ
แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีหนองตามอวัยวะต่างๆ หรือตามข้อในส่วนนี้อาจจะต้องมีการผ่าตัดและเจาะหนองออก
วิธีป้องกันโรคเมลิออยด์
โรคเมลิออยด์ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ถูกคิดค้นเพื่อการรักษาโรคโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้แนะนำว่า
อาจจะต้องมีการระมัดระวังตัวเองมากพอสมควร โดยสามารถทำได้ดังนี้
- กรณีทำสวน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำหรือดินด้วยมือโดยตรง เพราะน้ำหรือดินอาจมีเชื้อโรคปะปนอยู่ แนะนำให้สวมถุงมือพลาสติกก่อนสัมผัสทุกครั้งจะดีที่สุด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสตัว และสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโรคเมลิออยด์
- ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่มีการเข้าสวนหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีเชื้อ
Credit : honestdocs.co
โรคเมลิออยด์ บางคนอาจจะมองว่าเป็นโรคไกลตัว เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ที่สัมผัสเชื้อต่างๆ เหล่านี้มักเป็นเกษตรกร
แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจนต้องได้รับ ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
ในส่วนนี้ก็ถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการการติดเชื้อได้ง่าย โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องไปสัมผัสดินหรือละอองน้ำโดยตรง
เพราะฉะนั้น จึงควรระมัดระวังและใส่ใจดูแลตัวเองในทุกๆ ด้านเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสุขอนามัยหรือเรื่องของความสะอาดนั่นเอง