โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาป้องกันอย่างเข้าใจ

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สาเหตุ อาการ

เมื่อไรที่เป็นไข้หวัดใหญ่ หลายคนอาจจะคิดแค่ว่าป่วยเป็นแค่โรคนั้น แต่จริงๆ แล้ว อาจไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่เสมอไป

เพราะคุณอาจจะกำลังเป็น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อยู่นั่นเอง เมื่อเอ่ยถึงโรคที่เกี่ยวกับสมองแล้ว ค่อนข้างน่ากลัวอย่างมาก

เพราะไม่มีใครที่อยากจะมีปัญหาสุขภาพสมองแน่นอน วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาฝากกัน

โรคนี้เป็นอย่างไร จะมีวิธีรักษาป้องกันได้อย่างไรบ้าง รีบไปติดตามพร้อมๆ กันเลยค่ะ

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คืออะไร?

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส

รวมถึงเชื้อราบริเวณเยื่อหุ้มที่หุ้มรอบสมองและไขสันหลัง จนทำให้บริเวณนั้นเกิดการอักเสบบวม

ส่งผลทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้ เช่น มีอาการปวดหัว มีไข้ คอแข็งขยับไม่ได้ เยื่อหุ้มสมองจะพบได้มากในเด็กอ่อน

เด็กเล็ก วัยรุ่น จนถึงผู้ใหญ่ บางชนิดมีอันตรายมาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

อาการเริ่มต้นของเยื่อหุ้มสมอง ในระยะเริ่มต้นจะมีอาการเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ แต่อาการจะรุนแรงมากขึ้น

เมื่อผ่านเวลาไปหลายชั่วโมงหรือเป็นเวลา 2 – 3 วัน โดยจะมีอาการที่เด่นชัดดังต่อไปนี้

  • คอแข็ง
  • ไม่ค่อยมีสมาธิ เกิดอาการสับสน
  • มีไข้ขึ้นสูงอย่างเฉียบพลัน
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • แพ้แสง ไวต่อแสง
  • ชัก
  • ไม่มีความรู้สึกกระหายน้ำหรืออยากอาหาร
  • ปวดหัวอย่างรุนแรงมากผิดปกติ
  • ง่วงนอน ตื่นนอนยาก
  • ผิวหนังเป็นผื่น

อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดกับเด็กอ่อน

  • ร้องไห้ตลอดเวลา
  • มีไข้สูง
  • ตัวและลำคอแข็ง
  • นอนหลับมากเกินไป
  • เฉื่อยชา เคลื่อนไหวน้อย
  • กระหม่อมนูน
  • ดื่มนมได้น้อยลง

สาเหตุที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

เยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนสาเหตุรองลงมาเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

เราไปดูกันดีกว่าว่าสาเหตุที่เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราจะมีอาการเป็นอย่างไร

และส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ติดตามได้ดังนี้

สาเหตุที่เกิดจากเชื้อไวรัส เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะเป็นชนิดที่มีความรุนแรงน้อย

โดยร่างกายอาจเกิดการติดเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย แต่เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส

จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเยื่อหุ้มสมองน้อยมาก เพราะหลังจากอาการติดเชื้อบรรเทาลง ก็จะทำให้โรคหายไปได้เอง

ไวรัสที่สามารถติดเชื้อไปสู่เยื่อหุ้มสมองที่ก่อให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้แก่ ไวรัสคางทูม ไวรัสโรคเริม ไวรัสอีสุกอีใส ไวรัสไข้หวัด

สาเหตุที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อจากแบคทีเรียที่เยื่อหุ้มสมอง จะส่งผลอันตรายอย่างรุนแรง

ผู้ป่วยจึงจำเป็นจะต้องได้รับการรักษา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การติดเชื้อจะก่อให้เกิดอันตรายจนทำให้เสียชีวิตได้

ส่งผลเสียต่อสมองและร่างกายในส่วนอื่น ๆ อย่างถาวร เชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ด้วยการไอหรือจาม

โดยเชื้อแบคทีเรียจะเข้าไปสู่เลือด ผ่านโพรงจมูก หู รวมถึงระบบทางเดินหายใจตอนบน และเข้าไปสู่สมอง

แบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้แก่ แบคทีเรียที่ทำให้เกิดไข้กาฬหลังแอ่น เชื้อวัณโรค เชื้ออีโคไล

สาเหตุที่เกิดจากเชื้อรา เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อราพบได้น้อยมาก สำหรับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

มักจะไม่ติดเชื้อชนิดนี้ แต่สำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเอดส์มักจะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อนี้

การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

การรักษานั้นจะต้องพิจารณาจากชนิดของการติดเชื้อ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลัน จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาทันที

โดยการรักยาปฏิชีวนะเข้าสู่เส้นเลือดดำ การเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ จะขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ

เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสนั้น จะสามารถบรรเทาลงไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์

ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย โดยผู้ป่วยสามารถรักษาตนเองได้ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ดื่มน้ำให้มาก ๆ รับประทานยาลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้ ยังอาจมีการใช้ยาคอร์ติสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

เพื่อลดอาการบวมในสมอง รวมถึงยาต้านไวรัส หากเกิดการติดเชื้อที่เกิดจากไวรัส Herpes

การป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

เชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบสามารถแพร่กระจายได้จากการไอหรือจาม รวมถึงการใช้ของส่วนตัวบางอย่างร่วมกัน

เช่น การใช้แปรงสีฟันหรือช้อน การรักษาสุขภาพอนามัย เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

การล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยป้องกันการสะสมของเชื้อโรค หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจากภาชนะเดียวกับผู้อื่น

ควรเสริมระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

สำหรับผู้ที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ทานยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการเกิดโรค

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบก็เป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีประสิทธิภาพ โดยการใช้วัคซีนดังต่อไปนี้

1.วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฮิบ เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

รวมถึงโรคอื่น ๆ เช่น ปวดบวม ข้ออักเสบ ปอดอักเสบ จะฉีดให้กับเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป วัคซีนชนิดนี้ยังมีราคาแพง

2.วัคซีน IPD เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียนิวโมคอกคัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดบวม

ติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยแพทย์จะฉีดวัคซีนชนิดนี้ให้ตามความเหมาะสม

แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ทำให้เกิดอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้อ่อน ๆ แล้วอาการจะค่อย ๆ บรรเทาเมื่อเวลาผ่านไป 2 – 3 วัน

วัคซีน IPD มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียนิวโมคอกคัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีราคาแพง

มีระยะในการป้องกันโรคเพียง 2 – 3 ปี การฉีดวัคซีนชนิดนี้จะพิจารณาฉีดให้กับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี

รวมถึงเด็กที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ม้ามหรือหัวใจทำงานไม่ดี

3.วัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน (MMR) วัคซีนชนิดนี้สามารถรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ได้ด้วย โดยจะฉีดเข้าไปใต้ผิวหนัง

Credit : medthai.com

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการติดเชื้อไวรัส

แต่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเยื่อหุ้มสมองสามารถหายได้เอง ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

เป็นชนิดที่จะต้องทำการรักษาด้วยการใช้ยา การป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย

และเมื่อเกิดโรคนี้ขึ้นแล้ว หรือหากพบว่าร่างกายมีอาการผิดปกติก็ควรพบแพทย์ อย่าปล่อยไว้จนสายเด็ดขาด