โรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคที่เป็นแล้วอาจทำให้พิการตลอดชีวิต

โรคเส้นเลือดสมองตีบ stroke

โรคเส้นเลือดในสมองตีบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในยุคสมัยปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค

ความเครียด ความเร่งรีบ และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเป็นโรคนี้แล้วมักจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

เกิดการสูญเสียทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโรค เส้นเลือดในสมองตีบ มาฝาก

โรคเส้นเลือดในสมองตีบคืออะไร สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาป้องกัน มาฝากดังนี้ค่ะ

โรคเส้นเลือดสมองตีบ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคเส้นเลือดสมองตีบ (stroke) หรือ โรคสมองขาดเลือด (ischemic stroke) เป็นอาการชนิดหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง

สามารถพบได้มากกว่า 85% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด จะเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองมีภาวะตีบตัน

หรือมีการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งการอุดตันมักเกิดขึ้นจากไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว

ไม่ยืดหยุ่น และการอักเสบที่เกิดขึ้นภายใน ยังกระตุ้นทำให้เกิดการอุดตันของลิ่มเลือด เมื่อเกิดการตีบตันขึ้นแล้ว

จะทำให้เนื้อเยื่อสมองขาดเลือดและออกซิเจน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้แก่ ตาพร่ามัว มองไม่ชัด มีอาการชาครึ่งซีก

พูดไม่เป็นคำ พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้ เป็นต้น

ส่วนใหญ่แล้วโรคเส้นเลือดในสมองตีบ มักเกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งโรคเส้นเลือดในสมองตีบนั้น คนไทยมักคุ้นกันในชื่ออาการอัมพฤกษ์อัมพาตนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม โรคเส้นเลือดในสมองตีบสามารถรักษา และฟื้นฟูให้หายเป็นปกติได้ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาและความร่วมมือของผู้ป่วย

รวมถึงการได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีที่เริ่มเกิดอาการ ก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้เร็วที่สุด

กลไกการเกิดโรคสมองตีบ แบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

1.ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งอาจเป็นผลมาจากภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ทำให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดที่ตีบตันไปเลี้ยงสมองได้

2.การอุดตัน (Embolic Stroke) ซึ่งเป็นการอุดตันของลิ่มเลือดจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะลิ่มเลือดที่เกิดจากหัวใจ

จะทำให้หลอดเลือดอุดตัน จนเลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจนในที่สุด

นอกจากโรคเส้นเลือดในสมองตีบแล้ว ยังมีอีกหนึ่งโรคที่มีอาการคล้ายกัน กลไกการเกิดก็คล้ายกัน

คือ ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient Ischemic Attack: TIA) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดสมอง

แต่การอุดตันนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ร่างกายสามารถสลายลิ่มเลือดได้ทัน ทำให้เลือดสามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้เป็นปกติ

ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ภาวะ TIA นี้ถือเป็นสัญญาณเตือนถึงโอกาสในการเกิดโรคเส้นเลือดสมองอุดตันในอนาคต

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

โรคเส้นเลือดในสมองตีบ อาจมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคได้ดังต่อไปนี้

  • อายุมากกว่า 55 ปี
  • เพศชายมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศหญิง
  • ประวัติการเกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • มีระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • มีระดับของคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) สูง
  • มีระดับของคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ต่ำ
  • มีโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (carotid artery disease)
  • มีประวัติสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรงเคยเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบ
  • การสูบบุหรี่
  • อ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน
  • การับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด และยาในกลุ่มสเตียรอยด์

อาการของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

อาการของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ มักเป็นอย่างฉับพลัน บางครั้งผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกตัว ซึ่งญาติหรือคนใกล้ชิดสามารถสังเกตอาการอย่างคร่าว ๆ ได้ดังนี้

  • ผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่ามัว บางครั้งอาจมองเห็นภาพซ้อน
  • มึนงง สับสน ไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถตอบสนองต่อคำสั่งหรือคำถามได้
  • แขนขาอ่อนแรง ร่วมกับมีอาการชา ไม่สามารถลุกหรือเดินได้
  • หน้าเบี้ยว ริมฝีปากตก หนังตาตก
  • พูดลำบาก พูดไม่เป็นภาษา
  • อาจมีอาการเดินเซ ทรงตัวไม่ได้ เดินแล้วจะล้ม
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • กลืนน้ำหรืออาหารลำบาก กลืนไม่เข้า

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวเพียงระยะเวลาครู่หนึ่ง แล้วหายไปเองภายในไม่กี่นาที ผู้ป่วยอาจมีภาวะ TIA ได้

ซึ่งก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง แต่ในกรณีที่อาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอาการนาน 10-30 นาที

ต้องรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลในทันที เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาสลายลิ่มเลือดโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสมอง

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาในทันที อาจทำให้เซลล์สมองเกิดความเสียหายเป็นบางส่วน ทำให้เป็นอัมพฤกษ์

ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 3-6 เดือน แต่ถ้าเซลล์สมองตายบางส่วนอย่างถาวร

อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต ซึ่งจะส่งผลทำให้อวัยวะบางส่วนไม่สามารถใช้งานได้อย่างถาวร

การวินิจฉัยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

การซักประวัติถึงอาการเจ็บป่วยในปัจจุบัน อาการที่ผู้ป่วยมีมานานแค่ไหน อาการเป็นอย่างไร ได้รับประทานยาอะไร

เพื่อรักษาอาการดังกล่าวมาก่อนหรือไม่ รวมถึงโรคและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ นอกจากนี้แพทย์อาจจะทำการตรวจเลือดผู้ป่วย

เพื่อดูระดับเกลือแร่และสารเคมีในเลือด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเส้นเลือดในสมองตีบได้แม่นยำมากขึ้น

ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจจะเอกซเรย์ดูหลอดเลือดภายในสมอง โดยอาจใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

หรือการเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งจะทำให้เห็นความผิดปกติของหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน

ทำให้แพทย์สามารถวางแผนรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจพิเศษอื่น ๆ

เช่น การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดแดงที่คอ (carotid ultrasound) การฉีดสีที่หลอดเลือดสมอง (cerebral angiogram)

และการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram) ซึ่งเป็นการตรวจการทำงานของหัวใจ

วิธีรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

การได้รับการรักษาทันทีหลังเริ่มเกิดอาการ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

ยิ่งปล่อยไว้นานเท่าไร เซลล์สมองจะถูกทำลายมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้ยากหรือไม่ได้เลย

ซึ่งการรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบนั้น จะเน้นไปที่การใช้ยาเพื่อลดการอุดตันของหลอดเลือด

การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ รวมถึงยาอื่น ๆ ที่ช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนหรือการกลับเป็นซ้ำของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

1.ยาละลายลิ่มเลือด

เป็นยาที่ช่วยกำจัดลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ในเส้นเลือด ยาละลายลิ่มเลือดจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด เมื่อผู้ป่วยได้รับยาเร็วที่สุดภายหลังเริ่มเกิดอาการ

สำหรับยาละลายลิ่มเลือดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด จะสงวนไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาไม่นานเกินกว่า 4 ชั่วโมง 30 นาที

รวมถึงไม่มีข้อห้ามสำหรับการใช้ยาละลายลิ่มเลือด เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง

2.ยาต้านเกล็ดเลือด

ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยาแอสไพริน (aspirin) จะช่วยป้องกันการเกาะเป็นกลุ่มของเกร็ดเลือด ลดการอุดตันในหลอดเลือดได้

3.ยาต้านการแข็งตัวของเลือด

นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีลิ่มเลือดที่ขา หรือเคยมีประวัติการเกิดลิ่มเลือดมาก่อน

ผู้ป่วยอาจจะได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (warfarin) ยาดาบิกาแทรน (dabigatran) เป็นต้น

4.ยาอื่น ๆ ที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

นอกจากนี้ถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง

แพทย์ก็อาจจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเลือด เพื่อป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบในระยะยาว

วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 – 300 นาที หรือวันละ 30 นาที 3-4 วันต่อสัปดาห์
  • ถ้าสูบบุหรี่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้าร่วมคลินิกเลิกบุหรี่
  • ทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง เพื่อลดการดูดซึมไขมันและคอเลสเตอรอล
  • ลดการบริโภคอาหารเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เนื่องจากทำให้ความเสี่ยงของโรคความดันสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งความดันสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

 Credit : variety.domunz.com

โรคเส้นเลือดในสมองตีบ (stroke) เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองตีบแคบ ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน

โดยโรคนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุและหลายปัจจัยเสี่ยง ซึ่งปลาย ๆ ปัจจัยสามารถป้องกันได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง

แต่หลายปัจจัยก็ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะในเรื่องของกรรมพันธุ์ อาการเด่น ๆ ของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

ได้แก่ อาการชา หน้าเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินเซ ซึ่งเมื่อเริ่มเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์สมอง

ได้รับความเสียหายมากเกินไปนัก ถ้าเซลล์สมองเกิดความเสียหายมาก ผู้ป่วยก็จะฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติได้ยากและใช้เวลานาน