โรคโมโนนิวคลิโอสิส เป็นโรคที่หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนัก โดยเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
ซึ่งในปัจจุบันนี้พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคนี้แล้วทั่วโลก และจากผลการสำรวจจากทั่วโลกก็พบว่าในเด็กวัย 5 ปี มีการติดเชื้อไวรัสนี้ถึง 50% และในวัย 25 ปี พบถึง 90-95%
แต่ในประเทศไทยพบว่า 90% พบในเด็กอายุ 15 ปี จากข้อมูลดูเหมือนโรคโมโนนิวคลิโอสิส จะมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นโรคนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโรคที่ทุกคนควรทำความรู้จัก เพื่อที่จะได้รู้ถึงแนวทางในการปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากโรคนี้มากขึ้น
โรคโมโนนิวคลิโอสิส คืออะไร?
โรคโมโนนิวคลิโอสิส (Infectious mononucleosis) หรือ โรคติดเชื้อจากการจูบ (Kissing Disease)
คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัส EBV และ CMV เข้าไปยังร่างกาย ซึ่งเชื้อไวรัสที่ว่านี้จะแพร่กระจายเชื้อผ่านทางน้ำลาย
เช่น แพร่จากการไอหรือผ่านทางการจูบ เป็นต้น และยังสามารถแพร่กระจายทางเลือด รวมถึงน้ำอสุจิระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย
จากการวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสและเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ได้รับการแพร่เชื้อมาจากการจูบมากที่สุด
เป็นโรคที่ไม่ได้อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ได้
สาเหตุของโรคโมโนนิวคลิโอสิส
สาเหตุส่วนใหญ่พบว่า เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เอปสตีนบาร์ (Epstein Barr Virus, EBV) และไซโตเมกกะโลไวรัส (Cytomegalovirus, CMV)
ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ คือ เมื่อเข้าสู่ร่างกายของคนแล้ว มันจะปรับตัวเพื่อนำยีนของตัวเอง
เข้าไปรวมอยู่กับเซลล์ในร่างกายของคนต่อไป โดยเฉพาะเซลล์ลิมโฟซัยหรือเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน และเซลล์ต่อมน้ำเหลือง
ซึ่งเมื่อไวรัสเหล่านี้แทรกซึมเข้ามาอยู่ภายในได้แล้ว ก็จะอยู่ในร่างกายของบุคคลนั้นไปตลอดชีวิต ในเรื่องของความผิดปกติที่จะเกิดขึ้น
ก็ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายของคนๆ นั้นจะแข็งแรงพอที่จะรับมือกับไวรัสนี้ได้หรือไม่ สำหรับคนที่มีภูมิต้านทานที่ปกติ
ก็จะมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดเพียงไม่กี่วันก็หาย แต่ในบางรายที่ร่างกายอ่อนแอก็มีอาการเรื้อรัง คือ มีอาการไข้สูงไม่ทราบสาเหตุ
ติดต่อกันยาวนานถึง 1-2 สัปดาห์ หรือนานเป็นเดือน โดยระหว่างนั้นอาจจะมีอาการอื่นค่อยๆ แทรกซ้อนขึ้นมา เช่น ภาวะตับอักเสบ มีตัวเหลืองตาเหลือง เป็นต้น
ผู้ที่เสี่ยงจะเป็นโรคโมโนนิวคลิโอสิส
โดยส่วนมากกลุ่มคนที่เสี่ยงจะเป็นโรคนี้มักเป็นคนที่ต้องสัมผัสหรือคลุกคลีอยู่กับผู้ป่วยเป็นประจำ เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้
สามารถแพร่กระจายได้ทางน้ำลาย หรือละอองน้ำลายในขณะที่ผู้ป่วยไอ ซึ่งละอองอาจจะนำเชื้อมาแพร่ให้กับอีกคนได้
และยังพบว่ากลุ่มคนหนุ่มสาวมักจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ค่อนข้างสูง เนื่องจากเมื่อนัดพบกันมักจะมีการแลกจูบกันเพื่อสานความสัมพันธ์
อาการของโรคโมโนนิวคลิโอสิส
อาการโดยทั่วไปของโรคโมโนนิวคลิโอสิส จะคล้ายกับโรคคออักเสบ แต่จะต่างกันตรงที่สาเหตุที่ทำให้เกิด
เนื่องจากโรคคออักเสบสาเหตุมาจากแบคทีเรีย ส่วนโรคโมโนนิวคลิโอสิส มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส
ซึ่งหลังจากที่ร่างกายมีการรับเชื้อไวรัสมาได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงจะมีอาการแสดงออกมาให้เห็น อาการที่พบคือ จะมีไข้สูง
มีอาการเจ็บคอ โดยทั่วไปอาการเจ็บคอจะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 วัน หลังจากนั้นอาการก็จะหายไปเอง
ซึ่งอาการเหล่านี้จะแสดงในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อ แต่ในเด็กเมื่อมีการติดเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการให้เห็นน้อยมาก
หรือบางคนไม่มีการแสดงอาการใดๆ ให้เห็นเลย ไวรัสชนิดนี้เมื่อรับเข้ามาสู่ร่างกายแล้วจะอยู่ในร่างกายของคุณไปตลอดชีวิต
เหมือนโรคอีสุกอีใสและโรคเริม คือจะเป็นแล้วหายเองได้ แต่ก็พร้อมที่จะกำเริบขึ้นมาได้ตลอดเวลา
เมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น ร่างกายเกิดความอ่อนเพลีย ภูมิคุ้มต้านทานลดต่ำลงกว่าปกติ มีภาวะเครียด เป็นต้น
ความหนักรุนแรงของอาการก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบ เช่น อายุ เพราะคนที่มีอายุมากก็มีโอกาสที่อาการจะรุนแรงกว่า
เนื่องจากเมื่อคนเรามีอายุที่เพิ่มขึ้นภูมิต้านทานก็จะลดต่ำลงไป สุขภาพก็จะไม่ได้สมบูรณ์แข็งแรงเท่ากับเด็กหรือวัยรุ่น
หรือคนที่มีโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อเป็นโรคนี้ก็จะอาการรุนแรงกว่าคนปกติทั่วๆ ไป เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยโรคโมโนนิวคลิโอสิส ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติได้เองในระยะเวลาไม่นาน และมักไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มี เพราะว่าก็มีผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยมากจนแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ โดยส่วนใหญ่ภาวะแทรกซ้อนที่พบก็จะได้แก่
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ
- ภาวะม้ามโต
- ภาวะตับอักเสบ
- ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก
- เกิดภาวการณ์อักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ
- ภาวะแทรกซ้อนภายในระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวมโตมาก จนเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก
การวินิจฉัยโรคโมโนนิวคลิโอสิส
เบื้องต้นแพทย์จะทำการสอบถามอาการจากผู้ป่วย แต่เนื่องจากลักษณะอาการโดยทั่วไปของโรคโมโนนิวคลิโอสิส
จะคล้ายกับโรคคออักเสบ ซึ่งการจะแยกแยะโรคทั้ง 2 นี้ได้ แพทย์จะต้องทำการตรวจร่างกายเพิ่ม ด้วยการตรวจ CBC
เพื่อตรวจดูเม็ดเลือดขาวว่ามีรูปร่างผิดปกติจากเดิมและมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ และตรวจดูปริมาณเกล็ดเลือดว่าน้อยกว่าปกติหรือไม่
และหากต้องการยืนยันผลการวินิจฉัยให้แน่ชัดยิ่งขึ้นจะต้องทำการเจาะเลือดตรวจ วิธีนี้จะเรียกว่า Mono spot test
ซึ่งจะทำเพื่อตรวจหาแอนติบอดี้ที่ตอบสนองต่อ Antigen (สารก่อภูมิแพ้) ของเชื้อไวรัส EBV แต่การตรวจด้วยวิธีนี้อาจจะไม่พบเชื้อ
สำหรับคนที่ติดเชื้อในระยะแรกๆ จึงอาจจะต้องมีการส่งตรวจด้วยวิธี Mono spot test ซ้ำในทุกๆ สัปดาห์
ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการส่งตรวจด้วยวิธีนี้สักระยะหนึ่งจึงจะเห็นผล แต่ในบางกรณีแพทย์อาจจะใช้วิธีอื่นเพื่อตรวจแทนก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาว่าจะใช้วิธีใด
วิธีรักษาโรคโมโนนิวคลิโอสิส
โรคโมโนนิวคลิโอสิสยังไม่มีการรักษาจำเพาะ หรือมียารักษาที่จะทำให้อาการหยุดชะงัดลงได้ทันที ซึ่งทำได้เพียงรักษาแบบประคับประคองอาการ
เช่น การให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด พักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำเยอะๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่รุนแรง เช่น มีไข้สูงมาก หรือมีอาการเจ็บคอมากจนไม่สามารถดื่มน้ำได้ แพทย์จะให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ในการรักษา
วิธีป้องกันโรคโมโนนิวคลิโอสิส
ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ค้นพบวัคซีนที่จะสามารถป้องกันไวรัสชนิดนี้ได้ เบื้องต้นจึงทำได้แค่เพียงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำเกิดการติดเชื้อกับผู้ป่วยได้ คือ
- หลีกเลี่ยงการจูบกับคนที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ในร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำลายหรือเสมหะของผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า และหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นให้ใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร เป็นต้น
Credit : unitypoint.org
ถึงแม้ว่า โรคโมโนนิวคลิโอสิส จะไม่ได้มีความรุนแรงมากจนถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แต่การที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไปแล้ว
ไวรัสดังกล่าวจะถูกฝังอยู่ในร่างกายของเราตลอดไป ซึ่งก็หมายความว่ารักษาอย่างไรก็ไม่หาย ทำได้แค่เพียงประคับประคอง
ให้ร่างกายของตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อไวรัสกำเริบ ซึ่งการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด ก็คือการพักผ่อนให้เพียงพอ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพียงเท่านี้สุขภาพของคุณก็จะดีและปลอดภัยจากโรคภัยต่างๆ ได้แล้ว