เกลื้อน: โรคจากเชื้อราที่มาพร้อมกับความร้อน
เกลื้อน (ภาษาอังกฤษ – Tinea Versicolor) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรามาลาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia Furfur) ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดตื้นที่อาศัยอยู่บริเวณชั้นนอกสุดของผิวหนังและในรูขุมขน ซึ่งเชื้อราชนิดนี้ โดยปกติจะไม่ก่อให้เกิดโรคจนกว่าจะได้รับปัจจัยภายจากนอก ได้แก่ เหงื่อและความร้อน อุบัติการณ์ของโรคนี้ จึงมักเกิดขึ้นกับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอากาศร้อน โดยเฉพาะ กับคนที่มีเหงื่อออกมากและใส่เสื้อผ้าที่อับชื้นด้วยเหงื่อเป็นประจำ ลักษณะอาการของโรคเกลื้อนเป็นอย่างไร จะเห็นเป็นวงผื่นเล็ก ๆ มีลักษณะคล้ายขุยบาง ๆ ซึ่งมีสีที่แตกต่างกันไป คือ สีขาว สีชมพู และสีขี้เถ้า แต่โดยทั่วไป จะพบเป็นปื้นที่มีสีจางกว่าสีของผิวหนังปกติ ตรงบริเวณที่เกิดเกลื้อนขึ้น ส่วนในคนที่มีผิวมัน ก็อาจพบเป็นเพียงรอยด่างตามผิวหนัง ซึ่งจะพบได้มากตามลำตัว แขน ขา และบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่มาก แม้ “เกลื้อน” จะเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง เพราะไม่ก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง แต่ก็ถือเป็นศัตรูสำคัญของความสวยความงาม ทั้งยัง ส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพ เนื่องจาก ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการคันเวลาที่มีเหงื่อออก “เกลื้อน” เป็นโรคเรื้อรังที่แม้จะรักษาให้หายแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีก โดยเฉพาะในวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามาก และในผู้ที่ต้องทำงานหรืออยู่ในสถานที่ที่ร้อนอบอ้าว ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เป็นโรคนี้ได้ง่าย ดังนั้น การรักษาสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการชำระล้างร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้มีเหงื่อไคลหมักหมมเป็นเวลานาน […]