เกลื้อน (ภาษาอังกฤษ – Tinea Versicolor) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรามาลาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia Furfur)
ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดตื้นที่อาศัยอยู่บริเวณชั้นนอกสุดของผิวหนังและในรูขุมขน ซึ่งเชื้อราชนิดนี้
โดยปกติจะไม่ก่อให้เกิดโรคจนกว่าจะได้รับปัจจัยภายจากนอก ได้แก่ เหงื่อและความร้อน
อุบัติการณ์ของโรคนี้ จึงมักเกิดขึ้นกับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอากาศร้อน
โดยเฉพาะ กับคนที่มีเหงื่อออกมากและใส่เสื้อผ้าที่อับชื้นด้วยเหงื่อเป็นประจำ
ลักษณะอาการของโรคเกลื้อนเป็นอย่างไร
จะเห็นเป็นวงผื่นเล็ก ๆ มีลักษณะคล้ายขุยบาง ๆ ซึ่งมีสีที่แตกต่างกันไป คือ สีขาว สีชมพู และสีขี้เถ้า
แต่โดยทั่วไป จะพบเป็นปื้นที่มีสีจางกว่าสีของผิวหนังปกติ ตรงบริเวณที่เกิดเกลื้อนขึ้น
ส่วนในคนที่มีผิวมัน ก็อาจพบเป็นเพียงรอยด่างตามผิวหนัง ซึ่งจะพบได้มากตามลำตัว แขน ขา และบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่มาก
แม้ “เกลื้อน” จะเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง เพราะไม่ก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง
แต่ก็ถือเป็นศัตรูสำคัญของความสวยความงาม ทั้งยัง ส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพ เนื่องจาก ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการคันเวลาที่มีเหงื่อออก
“เกลื้อน” เป็นโรคเรื้อรังที่แม้จะรักษาให้หายแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีก
โดยเฉพาะในวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามาก และในผู้ที่ต้องทำงานหรืออยู่ในสถานที่ที่ร้อนอบอ้าว ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เป็นโรคนี้ได้ง่าย
ดังนั้น การรักษาสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการชำระล้างร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ
อย่าปล่อยให้มีเหงื่อไคลหมักหมมเป็นเวลานาน ๆ และสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดไม่อับชื้นหรือมีกลิ่นอับ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ดี
แต่สำหรับใครที่กำลังเป็นโรคนี้อยู่ ก็อาจรักษาด้วยการทายาฆ่าเชื้อราชนิดครีมที่มีส่วนผสมของโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) หรือไมโครนาโซล (Miconazole)
สำหรับผื่นเกลื้อนที่เป็นบริเวณไม่กว้างมาก และการใช้ยาฆ่าเชื้อรา ที่มีส่วนผสมของโซเดียมทัยโอซัลเฟต (Sodium Thiosulfate) 20% สำหรับผู้ที่เป็นมาก
นอกจากนี้ ก็อาจใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น สบู่หรือแชมพูที่มีส่วนผสมของสารคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
หรือสารเซเลเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ใช้หลังจากอาบน้ำให้สะอาดครั้งหนึ่งแล้ว
โดยลูบไล้สบู่หรือแชมพูให้ทั่วตรงบริเวณที่เป็น ทิ้งไว้ 5 นาที แล้วค่อยล้างตัวยาออกด้วยการอาบน้ำให้สะอาดอีกครั้ง
สำหรับใครที่ไม่อยากใช้สารเคมีเพราะกลัวจะเสี่ยงต่ออาการแพ้ โดยเฉพาะคนที่มีผิวแพ้ง่าย
การหันมารักษาเกลื้อนด้วยสมุนไพร ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้ผลดีและประหยัด เช่น กะเพรา หรือ กระเทียม ตามสะดวก นำมาล้างให้สะอาด
หากเป็นกระเทียม ควรปอกเปลือกออกก่อน จากนั้นนำมาโขลกให้ละเอียด แล้วใช้ถูแรง ๆ บริเวณที่เป็น
ทิ้งไว้ระยะหนึ่งจึงล้างออก ทำเช่นนี้วันละ 3-4 ครั้ง อาการของโรคเกลื้อนก็จะทุเลาลงจนกระทั่งหายไปในที่สุด