เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฟังแค่นี้ย่อมทำให้รู้สึกใจหายไม่น้อย เพราะโรคที่เกิดขึ้นกับสมอง มักเป็นโรคที่เราไม่ควรนิ่งนอนใจ
เนื่องจากความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตย่อมมีสูง โดยเฉพาะหากเป็น เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค ด้วยแล้ว
ยิ่งควรรีบสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเร็วจะดีที่สุด วันนี้เลยพาคุณมาทำความรู้จักกันค่ะว่า
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค คืออะไร สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาป้องกันทำได้อย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค คืออะไร?
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค เกิดจากอะไร?
- ปัจจัยเสี่ยงของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
- อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
- การวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
- ภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
- วิธีรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
- วิธีป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค คืออะไร?
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค (Tuberculous Meningitis หรือ TBM) เป็นโรคติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง
และบ่อยครั้งมักก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาทอย่างถาวร จึงทำให้ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
จำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด ก่อนที่อาการของโรคจะรุนแรงหนักขึ้น
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค เกิดจากอะไร?
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค เกิดจากการติดเชื้อวัณโรค (Mycobacterium Tuberculosis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง
สามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศและสารคัดหลั่ง ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะติดเชื้อในอวัยวะอื่น ๆ ก่อน โดยเฉพาะการติดเชื้อวัณโรคที่ปอด
ร้อยละ 1-2 จะมีการแพร่กระจายมาที่เยื่อหุ้มสมอง โดยผู้ป่วยผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 จะได้รับผลกระทบระยะยาว
โดยมักเกี่ยวข้องกับสมอง โรคลมชัก อัมพาต และสูญเสียการได้ยิน อีกทั้งผู้ป่วยร้อยละ 15-30 จะเสียชีวิตแม้ได้รับการรักษาเป็นอย่างดี
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
ถึงแม้ว่าโรควัณโรคและโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กและผู้ใหญ่ทุกเพศทุกวัย
แต่ในบุคคลบางกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพบางประการ จะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่
- ประวัติการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) / เอดส์ (AIDs)
- มีประวัติติดแอลกอฮอล์
- มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ
- กำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาเคมีบำบัด
- เป็นโรคเบาหวาน
อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยในระยะเริ่มแรกอาจจะมีอาการที่ไม่ชัดเจน หรือมีความคลุมเครือกับโรคอื่น ๆ
เช่น อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เหนื่อยล้า ไข้ต่ำ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้นานหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน
เมื่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรคมีอาการรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจะไม่แสดงลักษณะอาการที่คล้ายกับ
อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (bacterial meningitis) เช่น ปวดศีรษะ คอแข็ง (stiff neck) หรือภาวะไวต่อแสง (light sensitivity) แต่อาจพบอาการเหล่านี้แทน
- มีไข้
- ผู้ป่วยอาจรู้สึกสับสน
- คลื่นไส้และอาเจียน
- อ่อนเพลีย
- ฉุนเฉียวหรือหงุดหงิดง่าย
- ผู้ป่วยอาจหมดสติ
การวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและอาจสอบถามประวัติของผู้ป่วย เกี่ยวกับอาการและประวัติทางการแพทย์ที่ผ่าน ๆ มา
โดยเฉพาะการติดเชื้อที่ปอด รวมถึงโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรคจริง ๆ อาจสั่งให้มีการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ ได้แก่
- การเจาะน้ำไขสันหลังไปตรวจ
- การเพาะเชื้อจากเลือด
- เอกซเรย์ปอด
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ที่ศีรษะ
- การทดสอบที่ผิวหนังเพื่อดูการติดเชื้อวัณโรค (PPD skin test)
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
การป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากในบางกรณี
ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดผลที่ตามมาอย่างถาวร รวมถึงอาจมีอันตรายถึงชีวิต โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- ชัก
- สูญเสียการได้ยิน
- สมองขาดเลือด
ในกรณีที่ความดันในสมองเพิ่มขึ้น ความดันที่เพิ่มขึ้นในสมองอาจทำให้สมองเกิดความเสียหายอย่างถาวร
ไม่สามารถฟื้นฟูย้อนกลับให้เป็นปกติเหมือนเดิมได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนนี้สามารถป้องกันได้โดยการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะมากร่วมกับมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของความดันในสมองที่เพิ่มขึ้น
วิธีรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
ยายับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ใช้ในการรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค ได้แก่ isoniazid (INH), rifampin (RIF), pyrazinamide (PZA) และ streptomycin (SM)
ซึ่งยาทั้ง 4 ชนิดนี้ มีความสามารถผ่านเข้าไปในน้ำไขสันหลังได้ ส่วน ethambutol อาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่าในโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
ยกเว้นแต่ว่าจะใช้ในปริมาณที่สูงพอ ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยา แพทย์อาจใช้ยาตัวเลือกที่สอง
ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาในตัวเลือกแรก ได้แก่ ethionamide, cycloserine, ofloxacin และ para -aminosalicylic acid (PAS)
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับระบบประสาท
ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรคยังไม่แน่นอน
โดยระยะเวลาของการรักษาแบบเดิมคือ 6-9 เดือน แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่สนับสนุนให้มีการรักษานานถึง 24 เดือน
วิธีป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค คือ การป้องกันการติดเชื้อวัณโรค ซึ่งเชื้อวัณโรคเป็นเชื้อที่พบได้บ่อยในชุมชน
หลายคนเป็นพาหะของโรคแม้ว่าจะมีร่างกายปกติ ซึ่งการป้องกันการติดเชื้อวัณโรคสามารถทำได้โดย
1.การฉีดวัคซีน Bacillus Calmette-Guérin หรือวัคซีน BCG จะสามารถช่วยควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคได้
โดยอายุที่เหมาะสมที่สุดในการรับวัคซีน BCG คือตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปี และควรได้รับวัคซีนซ้ำอีก 1 ครั้ง เมื่อเข้าเรียนในโรงเรียนปีแรก
2.ในกรณีที่ได้รับสัมผัสโรค สัมผัสกับสารคัดหลั่ง เลือด น้ำลายจากผู้ป่วย หรือมีผู้อยู่บ้านเดียวกันเป็นวัณโรค ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับยาป้องกันวัณโรค
3.การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ถึง 4 ครั้ง เลือกรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่
จะทำให้ภูมิต้านทานมีความแข็งแรง สามารถต้านทานต่อเชื้อวัณโรคได้
4.ผู้ป่วยที่เป็นโรควัณโรคปอดหรือวัณโรคที่อวัยวะอื่น ๆ ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลืมทานยา
รับประทานยาตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด การหยุดยาเองถึงแม้ว่าอาการดีขึ้น อาจทำให้โรควัณโรคกำเริบขึ้น และอาจดื้อยาที่รักษาอยู่ได้
และบ่อยครั้งก็มีโอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายไปยังเยื่อหุ้มสมอง เกิดเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรคได้
5.ผู้ป่วยโรควัณโรคควรปิดปาก ปิดจมูก ในเวลาไอหรือจาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่คนในครอบครัวหรือผู้อื่น
6.ถ้ามีผู้ติดเชื้อวัณโรคอยู่ในบ้าน ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ควรแยก ช้อน จาน ชาม
ของผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ และหลังจากใช้ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยการต้มในน้ำเดือด
Credit : womanadvice.ru
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค เป็นโรคที่อันตรายอย่างมาก เพราะมีอัตราของการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
และอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายอย่างถาวร การป้องกันความเสียหายดังกล่าว
สามารถทำได้โดยการได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุด ก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น