พืชในตระกูล “หอม” ไม่ว่าจะเป็น ต้นหอม หอมแดง หรือหอมหัวใหญ่ ล้วนจัดอยู่ในกลุ่มของพืชสมุนไพรชนิดเครื่องเทศมีกลิ่นฉุน แต่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระและป้องกันโรคต่างๆ ได้
เพราะมีสรรพคุณทางยา ที่เมื่อใครได้ทราบแล้วอาจต้องเลิกพฤติกรรมเขี่ยคุณค่าดีๆ ทิ้งไว้ข้างจาน นั่นก็เพราะว่า…
ต้นหอม แม้จะมีรสเผ็ดและมีกลิ่นฉุน แต่ก็มีสรรพคุณใช้แก้หวัด คัดจมูก แก้ไข้กำเดา และโรคตาได้
หัวหอมหรือหอมแดง หอมลูกเล็กแต่สรรพคุณมากมาย ทั้งใช้แก้ไข้ ละลายเสมหะ แก้ปวดกระบอกตา แสบร้อนในตา น้ำตาไหล
แก้โรคในปากและลำคอ ช่วยบำรุงผม และกระตุ้นการงอกของเส้นผม รวมทั้ง ยังมีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุ และลดไขมันในเลือดได้ด้วย
หอมหัวใหญ่ มีสรรพคุณครอบจักรวาล คือ ช่วยเจริญอาหาร แก้หวัด คัดจมูก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องร่วง ช่วยขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด และความดันโลหิต
ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็งลำไส้ และมะเร็งตับ ช่วยลดอาการของคนที่เป็นหอบหืด แก้ภูมิแพ้ และช่วยขับพยาธิ
ทั้งยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยฆ่าเชื้อโรคและกำจัดสารพิษประเภทตะกั่วและโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับอาหารที่สะสมอยู่ในร่างกายได้ด้วย
นอกจากนี้ ในน้ำมันหอมระเหยของพืชในตระกูลหอม ยังมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางประเภท คนรุ่นใหม่นิยมใช้แต้มหัวสิวที่อักเสบ เพราะช่วยลดอาการอักเสบได้
ในขณะที่คนโบราณมักใช้หอมแดงราว 5 – 6 หัวนำมาทุบพอแตก แล้วห่อด้วยผ้าขาวบางนำมาวางไว้ใกล้หมอน ก็จะช่วยลดอาการหวัด คัดจมูก และช่วยให้นอนหลับสบาย
สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บปวด เนื่องจากถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ให้ใช้หัวหอมตำให้แหลกผสมกับเหล้าโรง นำมาพอกหรือทาบริเวณที่เกิดถูกกัดก็จะช่วยลดอาการลงได้
ปัจจุบัน ยังมีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า “หอม” อุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นพฤกษเคมีที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ
จึงมีฤทธิ์ป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เพราะทำหน้าที่ขัดขวางไม่ให้ไขมันไปเกาะตามผนังของหลอดเลือด จึงช่วยลดไขมันในเลือดได้
ทั้งยังมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดไม่แข็งตัวจนไปอุดตามหลอดเลือดได้ง่าย จึงช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและอัมพฤก อัมพาต
นอกจากนี้ สารเคอร์ซีทิน ในพืชตระกูลหอม ยังสามารถปกป้องร่างกายจากอนุมูลอิสระ จึงช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่างๆ ได้ด้วย
จากสรรพคุณดังกล่าว หากยังไม่อยากถูกโรคต่างๆ รุมเร้า โดยเฉพาะโรคหัวใจ ก็ควรหันมาบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของพืชสมุนไพร
โดยเฉพาะต้นหอม หอมแดง และหอมหัวใหญ่กันให้มากขึ้น โดยแทรกในอาหารประจำวันในแต่ละมื้อ และรับประทานไม่ต้องมากแต่อย่าให้ขาด เพราะ “หอม” รักษาโรคได้