โรคคอตีบ โรคนี้คืออะไร ทำไมต้องมีการฉีดวัคซีน ?

อาการ โรคคอตีบ

โรคคอตีบ เป็นโรคที่เราอาจจะคุ้นเคย ในเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่วัยเด็กเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่า

โรคคอตีบที่แท้จริงแล้ว มีอาการอย่างไร และมีอันตรายหรือไม่ ในอดีตนั้น โรคคอตีบมีการระบาดและแพร่กระจายอยู่เป็นระยะ

สามารถพบได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มนำวัคซีนมาฉีดให้เด็กตั้งแต่ปี 2538 ก็พบว่า ผู้ป่วยโรคนี้มีจำนวนลดลง

อย่างเป็นที่พอใจ แต่ก็ยังพบได้เป็นบางครั้ง เราจึงได้รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับโรคคอตีบมาให้ทำความรู้จักกันมากยิ่งขึ้น

โรคคอตีบ คืออะไร ?

โรคคอตีบ (Diphtheria) เป็นโรคที่มีการเรียกทับศัพท์อยู่บ่อยครั้ง ว่า โรคดิพทีเรีย ซึ่งโรคนี้ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ

ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยเชื้อโรคที่ชื่อว่า Corynbacterium Diphtheria  เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคชนิดนี้

(มีระยะฟักตัว 1-7 วัน) เริ่มแรกเชื้อโรคจะเข้าไปอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ของทางเดินหายใจ เช่น กล่องเสียง ลำคอ โพรงจมูก

ต่อมทอนซิล เป็นต้น และจะค่อย ๆ สร้างสารพิษที่ทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในบริเวณนั้น ๆ จนเกิดการอักเสบได้ และเมื่อเชื้อโรค

เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ และตายไป ก็จะทำให้เกิดการสะสมจนมีลักษณะเป็นแผ่นเยื่อบาง  ๆ มีสีเทาหม่น ๆ ซึ่งจะอุดกั้นทางเดินหายใจ จึงเป็นชื่อมาของ “โรคคอตีบ

นอกจากนี้โรคคอตีบนี้ สามารถพบได้ตั้งแต่ทารกอายุ 2 เดือนไปจนถึงผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

ซึ่งจะได้พบได้มาก หากไม่มีการฉีดวัคซีนเพื่อเป็นผู้ต้านทานสำหรับโรคนี้ สามารถติดต่อกันได้โดยง่าย และระบาดได้ในเวลาอันรวดเร็ว

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ

อย่างที่กล่าวไปแล้วนั้น ว่าสาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อ Corynbacterium Diphtheria แต่ด้วยความที่โรคนี้เป็นโรคระบาด

สามารถติดต่อได้ง่าย จึงมีสาเหตุอื่น ๆ นอกจากเชื้อโรคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ

  • การติดต่อแพร่เชื้อโดยตัวผู้ป่วย ที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้ (เนื่องจากบางคนติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการในทันที) ด้วยการไอ จาม น้ำมูก รวมทั้งการใช้ภาชนะเครื่องใช้ร่วมกัน)
  • การไม่รักษาสุขอนามัยในสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น
  • การไม่ฉีดวัคซีนโรคคอตีบป้องกันตั้งแต่เด็ก

อาการของโรคคอตีบ

อาการของโรคคอตีบนั้น มีหลายอาการ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

  • หลังจากที่เกิดการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีไข้ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ หนาวสั่น ทานอาหารไม่ค่อยได้ คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ ร่วมอยู่ด้วย
  • มีอาการต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณลำคอ ซึ่งถ้าหากมีการกดทับมาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดเลือดคั่งบริเวณใบหน้าได้
  • หากอ้าปากก็อาจจะพบเนื้อเยื่อสีเทาปนเหลือง ที่เกิดจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เกาะอยู่บริเวณลิ้นไก่ คอหอย เพดานปาก ไม่สามารถเขี่ยออก หรือกำจัดออกได้ด้วยตัวเอง
  • ถ้าเชื้อโรคเข้าไปกระจายตัวอยู่ที่กล่องเสียง ผู้ป่วยจะมีลักษณะของโรคไอกรน คือไอเสียงก้อง และมีเสียงดังฮี้ดเวลาหายใจ บางครั้งอาจมีอาการตัวเขียวร่วมอยู่ด้วย
  • ในบางรายอาจพบการติดเชื้อบริเวณผิวหนังร่วมอยู่ด้วย

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ก็จะเกิดอาการแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ตามมา

  • ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน – เป็นภาวะที่มีความรุนแรงและอันตรายมาก เพราะแพทย์จะต้องทำการผ่าตัดเจาะคอเพื่อรักษาชีวิตคนไข้ ซึ่งถ้าหากรักษาไม่ทันก็จะทำให้เสียชีวิตได้
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ – จะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีอาการบวมของต่อมน้ำเหลือง จนทำให้ระบบต่าง ๆ ทำงานไม่ปกติ รวมทั้งหัวใจด้วย ซึ่งถ้าหากอาการยังรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดหัวใจวาย ที่เป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตในทันที
  • เส้นประสาทอักเสบ – ผู้ป่วยอาจมีการเป็นอัมพาต จากการติดเชื้อในระบบประสาท ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ ถ้าพบแพทย์ทันเวลา และอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

วิธีรักษาโรคคอตีบ

ถึงแม้ว่า อาการของโรคจะดูน่ากลัว และมีระยะเวลาในการฟักตัวของโรคที่สั้นมาก ๆ แต่โรคนี้ก็ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้

หากมาพบแพทย์ทันเวลา ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การให้ยาต้านพิษของโรคคอตับ และการให้ยาเพนนิซิลินเพื่อฆ่าเชื้อโรค ซึ่งระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจจะต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังเชื้อโรคต่างที่อาจแทรกซ้อน และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย แพทย์ก็จะทำการรักษาตามอาการ เช่น หากมีแผ่นเยื่อแบคทีเรียหนา ก็อาจจะต้องเจาะคอ หากทานอาหารไม่ได้ กลืนลำบาก แพทย์ก็อาจจะให้น้ำเกลือ เป็นต้น
  • หากผู้ป่วยเป็นเด็ก เมื่อทำการรักษาแล้ว จะต้องพักฟื้นอย่างน้อย 2 – 3 สัปดาห์ แต่ถ้าหากเป็นผู้ใหญ่ จะต้องพักฟื้นอย่างน้อย 1 เดือน เมื่อพ้นระยะพักฟื้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถทำงานหนักได้ และยังต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนของโรคได้

วิธีป้องกันโรคคอตีบ

  • วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน ก็คือการฉีดวัคซีนให้ครบตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเป็นการดูแลของผู้ปกครองโดยตรง และถ้าหากผู้ใหญ่คนใดไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบเลย แต่อยากฉีดเพื่อสร้างความภูมิคุ้มกัน ก็สามารถฉีดได้ที่โรงพยาบาล และคลินิกทางการแพทย์ทั่วไป
  • หากสังเกตเห็นคนรอบข้าง มีอาการคล้ายกับเป็นโรคคอตีบ ก็ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อที่จะได้ไม่เป็นพาหะติดต่อสู่ผู้อื่นและตัวท่านเอง
  • หากต้องเข้าไปในชุมชนแออัด หรือสถานที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี ควรพกหน้ากากอนามัยไปด้วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคและแบคทีเรียเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ

Credit : www.koukugeka-book.net

โรคคอตีบในปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่ค่อยพบผู้ป่วยแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะหายขาดไปจากสังคมไทย โดยเฉพาะตามชนบทต่าง ๆ

ที่สาธารณสุขยังเข้าไม่ถึง และสุขอนามัยยังไม่ดีพอ เพราะฉะนั้นเราจึงควรดูแลตัวเอง และคนในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อถึงกำหนดฉีดวัคซีนก็ควรรีบไปตามนัด เพื่อไม่ให้เป็นโรคนี้ เพราะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต