โรคจอประสาทตาเสื่อม อาการเป็นอย่างไร รักษาให้หายได้หรือไม่?

โรคจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับดวงตาของเรา ซึ่งดวงตานับเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้

หากเรามองไม่เห็น การใช้ชีวิตก็จะมีความลำบากตามมา และดวงตาก็ยังจัดว่าเป็นอวัยวะที่มีความบอบบางอย่างมากอีกด้วย

ซึ่งเมื่อหากใช้งานเป็นเวลานาน จอประสาทตาที่อยู่ภายในก็จะมีการเสื่อมสภาพลงไปด้วยตามกาลเวลา

และปัจจุบันก็มีโรคเกี่ยวกับตาเกิดขึ้นมากมายหลายโรค โดยเฉพาะโรค จอประสาทตาเสื่อม ซึ่งเป็นโรคที่เราควรทำความรู้จักกันไว้

บทความนี้ เราจึงจะมาพูดถึงโรคจอประสาทตาเสื่อมกัน เพราะเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงถึงขนาดทำให้ผู้ป่วย

สูญเสียการมองเห็นได้เลยทีเดียว โรคจอประสาทตาเสื่อม คืออะไร สาเหตุ อาการและวิธีรักษาทำได้อย่างไรบ้าง? ไปติดตามกันเลยค่ะ

โรคจอประสาทตาเสื่อม คืออะไร?

โรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-Related Macular Degeneration หรือ AMD) คือ โรคที่จุดกึ่งกลางของการรับภาพจากจอประสาทตาเกิดความผิดปกติขึ้น

โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และพบจากพันธุกรรม โดยปกติแล้ว จอประสาทตา ถือเป็นส่วนที่อยู่ในตำแหน่งบริเวณด้านหลังสุดของลูกตา

เมื่อเราใช้สายตามองไปยังสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แสงที่ตกกระทบสิ่งของนั้นจะเกิดการส่งผ่านเข้าไปในรูปแบบสัญญาณไฟฟ้า

โดยแล่นผ่านเส้นประสาทตาไปสู่สมอง และในบริเวณของจอประสาทตาก็จะมีส่วนสัมผัสที่ไวที่สุดคือ แมคูลา ลูเตีย

อันประกอบไปด้วยเซลล์รับแสงนับล้านเซลล์ที่มีบทบาทช่วยให้การมองเห็นภาพเป็นไปได้อย่างคมชัดมากขึ้น

แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาจอประสาทตาเสื่อม แมคูลา ลูเตียจะได้รับการทำลายไปทีละน้อยๆ เรื่อยๆ จนกระทั่งอาจมีผลทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

ซึ่งผู้ป่วยอาจจะตาบอดได้ข้างเดียวหรือบอดทั้ง 2 ข้างก็ได้ และโรคนี้ก็จัดว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหาตาบอดได้ด้วยนั่นเอง

สาเหตุของโรคจอประสาทตาเสื่อม

จอประสาทตาของคนเราจะมีจุดที่อยู่ตรงกลางซึ่งเรียกว่า จุดรับภาพ ซึ่งจุดรับภาพจะเป็นตัวที่มีความไวต่อแสง

และทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่เมื่อใดที่จุดรับภาพมีความบางลงหรือมีความเสื่อมสภาพเกิดขึ้น

ทำให้เราสูญเสียการมองเห็นภาพตรงกลาง แต่ภาพบริเวณด้านข้างยังสามารถมองเห็นได้ปกติ อย่างไรก็ตาม ด้วยอาการที่เกิดขึ้น

จึงส่งผลให้ภาพที่เรามองเห็นมีความเบลอหรือบิดเบี้ยว ซึ่งความเสื่อมก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆ ดังนี้

1.เกิดจากจุดรับภาพมีความเสื่อมสภาพหรือบางลงตามอายุ

พบมากในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เบื้องต้นผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นภาพเบลอ และมีจุดสีดำเกิดขึ้นบริเวณกลางภาพ

เมื่อปล่อยไว้นานๆ ไม่ทำการรักษาจุดดำจะค่อยๆ ขยาย จนส่งผลให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพได้ไม่ชัด

2.เกิดจากมีเส้นเลือดฝอยที่อยู่บริเวณหลังจอประสาทตามีอาการผิดปกติ

มีเลือดไหลรั่วไปทับจุดรับภาพ หรือมีเส้นเลือดงอก,คดงอ บริเวณจอประสาทตา จนเกิดอาการบวมภายใน ส่งผลให้ภาพที่มองเห็นบิดเบี้ยว

ประเภทของโรคจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD)

เกิดจากมีจุดสีเหลืองเกิดขึ้นที่จอประสาทตาบริเวณจุดรับภาพ เรียกว่า ดรูเซ่น (Drusen) และเกิดการสะสมที่ใต้จอประสาทตา

และจุดสีเหลืองดังกล่าวยังเป็นตัวทำลายเซลล์รับแสงอีกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การมองเห็นที่บิดเบี้ยว ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยประเภทนี้มากที่สุด

2.จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD)

เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดฝอยหลังจอประสาทตา เกิดการรั่วไหลของของเหลวในหลอดเลือดไปยังจุดรับภาพ

ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นทั้งแบบเฉียบพลันและถาวร ซึ่งพบแค่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ทางการแพทย์พบว่า

มีผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกไม่มากนัก แต่ประเภทนี้มีความรุนแรงค่อนข้างมากกว่าแบบแห้ง อาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม

1.อายุ เมื่อคนเรามีอายุที่มากขึ้น อวัยวะต่างๆ ก็ย่อมเสื่อมสภาพตามไปวัยด้วย ดวงตาก็เช่นกัน ซึ่งโรคนี้มักจะเกิดกับคนที่มีอายุมาก

โดยเฉพาะคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้อย่างมากทีเดียว

2.เผชิญกับแสงแดดหรือรังสีที่เป็นอันตรายนานๆ หรือบ่อยครั้ง ก็จะทำให้ดวงตาต้องทำงานยังหนัก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้

3.การสูบบุหรี่ กลุ่มคนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติทั่วไป

4.กรรมพันธุ์ หากมีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ ก็จะทำให้ลูกหลานมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงเช่นกัน ซึ่งอาจจะมีการถ่ายถอดทางพันธุกรรมได้

5.เชื้อชาติและเพศ โรคจอประสาทตาพบมากในชาวต่างชาติที่มีผิวขาว และเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมักจะมีความเสี่ยงสูง

6.น้ำหนักตัวมาก คนที่มีน้ำหนักมากหรือคนอ้วนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากร่างกายจะมีไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

7.ความดันโลหิต คนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจะต้องรับประทานยาลดความดัน และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง มีระดับแคโรทีนอยส์ในเลือดต่ำ ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ค่อนข้างสูงได้เช่นกัน

อาการของจอประสาทตาเสื่อม

อาการของจอประสาทตาเสื่อม แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ซึ่งมีทั้งชนิดแห้งและเปียก โดยมีรายละเอียดของอาการดังนี้

1.อาการจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง

ในช่วงแรก ผู้ป่วยจะมองเห็นภาพเบลอ เห็นจุดบอดหรือจุดดำบริเวณตรงกลางภาพ ซึ่งเมื่อปล่อยทิ้งไว้นานๆ จุดดังกล่าวจะขยายใหญ่ขึ้นทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพไม่ชัด อ่านหนังสือลำบากขึ้น

2.อาการจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก

ผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่ามัว มองเห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำขนาดใหญ่บริเวณภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากมีเลือดหรือของเหลวรั่วไหลไปอยู่ยังจุดรับภาพ

อาการโดยทั่วไปที่มักพบในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้ง 2 ประเภท

1.มีอาการตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด

2.ไม่สามารถมองเห็นในที่สว่างและมีแสงแดดจ้าๆ ได้ คล้ายกับตามีอาการต่อต้านกับแสง

3.มีการมองเห็นสีและภาพผิดเพี้ยนจากความจริง

4.มองเห็นจุดสีดำหรือมีเงาบังอยู่ตรงกลางภาพ ทำให้ภาพบิดเบี้ยว

5.ไม่สามารถปรับสภาพการมองเห็นในที่มืดมาในที่สว่างได้

การวินิจฉัยโรคจอประสาทตาเสื่อม

1.แพทย์จะทำการตรวจสอบจอประสาทตาเบื้องต้นก่อน คือการหยอดยาขยายม่านตา และทำการใช่อุปกรณ์ส่องจอตาด้านล่างว่าเพื่อดูความผิดปกติของจอประสาทตา

2.แพทย์จะถ่ายภาพจอประสาทตา เพื่อใช้ในการค้นหาจุดที่มีความผิดปกติ

3.ทำการทดสอบโดยใช้ตารางพิเศษที่เรียกว่า ตารางแอมส์เลอร์กริด (Amsler Grid) ซึ่งในตารางจะมีทั้งเส้นแนวตั้งแนวนอน

และยังมีจุดอยู่ด้วย หากทำการทดสอบพบว่าผู้ป่วยมองเห็นบางเส้นไม่ชัด หรือบางเส้นขาดหายไป ก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

4.แพทย์จะทำการเอ็กซเรย์ตรวจสอบเส้นเลือด โดยจะทำการฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือด แล้วทำการถ่ายภาพไว้

ว่ามีบริเวณใดที่มีสีรั่วออกจากเส้นเลือด เพื่อจะได้นำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์การรักษาต่อไป

วิธีรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม

การรักษามีหลากหลายรูปแบบ แต่ ณ ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาดได้ มีเพียงวิธีรักษาตามอาการ

เพื่อชะลอความเสื่อมของจอประสาทตาไม่ให้มีความรุนแรงมากขึ้น และยังสามารถช่วยลดความเสี่ยง ไม่ให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดนั่นเอง

โดยวิธีรักษาจะแบ่งตามประเภทได้ดังนี้

การรักษาจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง

1.พบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจสอบสภาพความเสื่อมของจุดรับภาพ และเพื่อวิเคราะห์วิธีการรักษาตามอาการ

2.หลีกเลี่ยงที่จะต้องออกไปเจอแสงแดด หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้ใส่แว่นกันแดด หรือแว่นตากันแสงในเวลาที่จะต้องออกไปเผชิญกับแสงแดด

3.รักษาโดยวิธีเลเซอร์ แต่อาจจะได้ผลดีกับผู้ป่วยเพียงบางรายเท่านั้น เนื่องจากความรุนแรงของอาการแต่ละขั้นที่เป็นอยู่มีความแตกต่างกัน

การรักษาจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก

1.รักษาโดยใช้ยายับยั้งการสร้างเส้นเลือด เช่น ยาอาวาสติน (Avastin) หรือยาลูเซนทิส เป็นต้น เพื่อยับยั้งการสร้างเส้นเลือดส่วนเกินในจอประสาทตา

2.รักษาโดยใช้ยาไวต่อแสงฉีดเข้าไปยังกระแสเลือด เพื่อให้ยาซึมไปยังบริเวณหลอดเลือดที่กำลังมีความผิดปกติอยู่

หลังจากนั้นจะทำการฉายแสงเลเซอร์เย็น เพื่อกระตุ้นตัวยาที่ฉีดเข้าไปก่อนหน้านี้ให้ไปทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติ

3.รักษาโดยการเข้ารับการผ่าตัด เพื่อนำเอาเส้นเลือดที่งอกมาใหม่ออกมา

วิธีป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม

1.หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือรังสีอัลตร้าไวโอเลตที่เป็นตัวทำลายจอประสาทตา

2.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

3.ทานอาหารที่มีประโยชน์ คือเลือกทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะผักใบเขียวหรือผลไม้ที่จะช่วยในการบำรุงสายตา

อย่างเช่น ผักบุ้ง ตำลึง คะน้า ที่ให้สายอาหารจำพวกเบต้าแคโรทีน ส่วนผลไม้ก็จะเป็นพวกสายพันธุ์เบอรี่ชนิดต่างๆ เป็นต้น

4.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เพื่อลดการอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง

5.กรณีที่ทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ให้เลือกทานอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของวิตามิน C และ E

5.หากเป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสอบสุขภาพตาทุกๆ ปี หรือถ้ามีอาการมองเห็นผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน

Credit : mali-imc.com

โรคจอประสาทตาเสื่อม แม้เป็นโรคที่ไม่ได้สร้างความเจ็บปวดหรืออันตรายถึงแก่ชีวิต หากก็ทำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหานี้ ใช้ชีวิตได้อย่างไม่ค่อยสะดวกราบรื่นนัก

เนื่องจากมักจะเกิดความรู้สึกรำคาญกับการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน ทั้งยังมีความผิดปกติของดวงตาที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ง่าย

แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลด้านบนที่กล่าวมา อาจจะมีประโยชน์กับหลายๆ ท่านที่ยังไม่เคยทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้

อย่างน้อยก็จะได้นำไปเป็นข้อมูลในการตรวจสอบตัวเอง และคนรอบข้างว่า มีอาการหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่?

จะได้หาทางรักษากันได้อย่างทันทวงที เพราะหากรักษาช้าอาจจะทำให้คุณหรือคนรอบข้างต้องสูญเสียการมองเห็นเลยทีเดียว