เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว

วุ้นในตาเสื่อม เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร?

วุ้นในตาเสื่อม

วุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นในดวงตาโดยที่ไม่มีใครจะเป็นด้วยกันทั้งนั้น

เพราะดวงตานับเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญ ช่วยในการมองเห็นซึ่งทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเป็นไปได้อย่างราบรื่น

แต่หากวันหนึ่งเกิดปัญหาวุ้นในตาเสื่อม ย่อมทำให้การใช้ชีวิตมาพร้อมความไม่สะดวกอย่างแน่นอน

ว่าแล้วเราก็ไปทำความรู้จักกันดีกว่าว่า วุ้นในตาเสื่อมเกิดจากอะไร และควรรับมือป้องกันรักษาอย่างไรบ้าง

วุ้นตา คืออะไร?

ดวงตาของคนเราจะมีส่วนประกอบที่เรียกว่า วุ้นตา (vitereous) อยู่ภายในช่องตาส่วนหลังเพื่อคงรูปร่างของลูกตา

คืออยู่ระหว่างจอประสาทตากับเลนส์ตา มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายกับไข่ขาว หรือคล้ายกับเยลลี่ใส ๆ ยึดติดอยู่กับผิวของจอตาที่บุอยู่ภายในลูกตาโดยรอบ

ซึ่ง 99% ของวุ้นตาเป็นน้ำ ส่วนที่เหลือประกอบด้วยโปรตีนกับเส้นใย เช่น กรดไฮยาลูโรนิก คอลลาเจนและสารเกลือแร่ต่าง ๆ

แต่เมื่อคนเราก้าวเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน วุ้นตาจะเสื่อมตัว มีลักษณะเหลวเป็นน้ำ เส้นใยไฟเบอร์ขนาดเล็กในตาจะหดตัว

จับกันเป็นก้อนตะกอนขุ่น และวุ้นตาจะลอกออกจากผิวจอตา ทำให้มองเห็นเป็นเงาดำ หรืออาจเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ เส้น ๆ

หรืออาจเห็นเป็นวง ๆ ลอยไปมาในตา โดยจะเห็นชัดในเวลามองท้องฟ้าหรือพื้นผนังสีขาวสว่าง ๆ กลอกตาไปมาก็จะลอยตามไปด้วย

บางครั้งก็คล้ายใยแมงมุม บางครั้งก็คล้ายยุงลอยไปมา ซึ่งเป็นภาวะ PVD (posterior vitreous detachment)

เกิดจากการหลุดลอกของวุ้นตาที่เกาะอยู่เป็นวงรอบขั้วประสาทตา และในขณะที่วุ้นตาลอกตัวจากจอตา

อาจจะมีการดึงรั้งของวุ้นตาที่จอตาบางบริเวณที่ยึดติดแน่น ทำให้จอตาเกิดการฉีกขาด

พบในผู้ป่วยที่มีวุ้นตาเสื่อม ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วยทั้งหมด มักทำให้มีอาการเห็นแสงไฟวาบขึ้นในตา โดยจะเห็นได้ชัดเจนในที่มืด

และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจจะนำไปสู่ภาวะจอตาหลุดลอก และทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวร

สาเหตุการเกิดวุ้นในตาเสื่อม

อายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อช่วงอายุประมาณ 40-50 วุ้นตาจะเสื่อมตัว กลายเป็นของเหลว ซึ่งเมื่อเรากลอกตาวุ้นจะเกิดการกระเพื่อม

กลายเป็นสิ่งที่เรามองเห็นเป็นเส้นหรือเป็นจุด และในขณะที่กลอกตาไปมาจะมีแรงกระชาก ส่งผลให้จอประสาทตาฉีกขาด

ทำให้มองเห็นแสงแปล๊บ ๆ เหมืนกับฟ้าแลบ ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา การฉีกขาดจะรุนแรงขึ้น ทำให้จอประสายตาลอก ส่งผลให้ตาของเราบอด

การใช้สายตามากเกินไป หรือเพ่งจอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ เป็นเวลานาน เพราะตัวหนังสือบนจอคอมพิวเตอร์

จะมีลักษณะเป็นจุด ๆ ประกอบกัน เหมือนแขวนลอยอยู่บนจอ ขอบตัวหนังสือไม่มีความคมชัด ทำให้สมองสับสนในการปรับระยะโฟกัส

จึงทำให้การปรับระยะโฟกัสไม่แน่นอน และด้วยการอ่านหนังสือผ่านคอมจะต้องทำการเลื่อนบรรทัดหนังสือขึ้นลงด้วยแถบด้านข้าง

มีลักษณะการเลื่อนแบบกระตุก ๆ จึงทำให้ปวดตามาก เพราะต้องลากลูกตาตามบรรทัดที่กระตุก ๆ ไปตลอด

และการพิมพ์ตัวหนังสือ ที่ในบางครั้งเราจะต้องก้มเพื่อมองนิ้ว ว่ากดตำแหน่งบนแป้นพิมพ์ถูกตัวอักษรหรือไม่ ทำให้ต้องเดี๋ยวก้มเดี๋ยวเงย

ส่งผลให้ลูกตาปรับโฟกัสบ่อยเกินไป ลูกตาจึงต้องทำงานหนัก กว่าจะพิมพ์งานเสร็จก็จะเกิดอาการปวดตาอย่างมาก

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดวุ้นในตาเสื่อม

  • อายุมาก
  • สายตาสั้น
  • เคยมีอุบัติเหตุที่ตา
  • เบาหวานขึ้นจอตา
  • การอักเสบในตา
  • ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก

วิธีรักษาอาการวุ้นในตาเสื่อม

โดยส่วนมากแล้ว ภาวะวุ้นในตาเสื่อมไม่จำเป็นต้องทำการรักษา เพราะการเห็นเงาดำลอยไปมาในตา ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ

แต่จะก่อให้เกิดความรำคาญเพียงเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะสามารถปรับตัวได้ ส่วนแสงแฟลชจะค่อย ๆ ลดลง

และหายไปในที่สุด โดยในช่วงที่มีอาการ ผู้ป่วยสามารถใช้สายตาและทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการกระเทือน และควรงดออกกำลังกาย ส่วนรายที่มีการฉีกขาดของจอตาร่วมด้วย

แพทย์จะทำการรักษาด้วยแสงเลเซอร์หรือการจี้ความเย็น เพื่อปิดรอยฉีกขาดและป้องกันการเกิดจอตาหลุดลอกตามมา

แต่หากไม่มีรอยฉีกขาดที่จอตา แพทย์จะทำการนัดตรวจตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะจอตาฉีกขาด

แต่หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของอาการอย่างเช่น เห็นแสงระยับคล้ายแสงแฟลชถี่ขึ้น มีอาการคล้ายมีม่านบังดวงตาเป็นแถบ ๆ

สายตามัวลง จุดลอยดังกล่าวมีจุดใหม่ลอยมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยควรรีบพบจักษุแพทย์

เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด เนื่องจากอาจเกิดรอยฉีกขาดที่จอตา ซึ่งจะต้องรับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์อย่างเร่งด่วน

วิธีป้องกันโรควุ้นในตาเสื่อม

1.ไม่ควรอ่านหนังสือในที่มืด เพราะจะทำให้สายตาสั้น ซึ่งสายตาสั้นจะส่งผลให้วุ้นในลูกตาเสื่อมได้ง่าย

2.ไม่ควรนอนในที่สว่าง เพราะแม้ว่าจะหลับอยู่ แต่ลูกตาเมื่อได้รับแสงก็ยังทำงานอยู่ เมื่อลูกตาทำงานหนัก ก็จะทำให้วุ้นในลูกตาเสื่อมเร็ว

3.ปกป้องดวงตาไม่ให้ได้รับการกระทบกระเทือน ทั้งจากอุบัติเหตุ การเล่นกีฬา

และอื่น ๆ เพราะการที่ดวงตาถูกกระแทกอย่างแรง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้วุ้นในตามเสื่อมไวขึ้น

4.พบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เมื่อถึงช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งหากมีอาการจะได้ทำการดูแลอย่างถูกวิธีตั้งแต่แรก

5.เลิกสูบบุหรี่

6.ออกกำลังอย่างพอดีสม่ำเสมอ

7.รักษาโรคทางตาอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดวุ้นในตาเสื่อม

Credit : globaleyeglasses.com

ได้รู้กันไปแล้วนะคะว่า วุ้นในตาเสื่อม เกิดจากอะไร และจะมีวิธีรักษาป้องกันอย่างไรบ้าง ใครที่ไม่อยากให้ร่างกายมีปัญหาสุขภาพ

โดยเฉพาะสุขภาพดวงตาอย่างโรควุ้นในตาเสื่อมแล้วล่ะก็จากนี้หันมาดูแลสุขภาพดวงตากันให้ดีๆ และหากพบความผิดปกติก็ควรรีบพบแพทย์เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้สายเกินแก้กันล่ะ