โรคปอดอักเสบ ภัยเงียบจากการติดเชื้อในปอดที่ควรเฝ้าระวัง !

โรคปอดอักเสบ ติดเชื้อในปอด

โรคปอดอักเสบ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรคปอดบวม เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย

และยังนับเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวคนเราทุกคนอย่างมาก ดังนั้น เราจึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

เพื่อลดโอกาสในการเจ็บป่วยเป็นโรคดังกล่าว ในวันนี้เราจึงหยิบเอาสาระความรู้เกี่ยวกับโรคปอดอักเสบมาให้ทุกคนได้ศึกษาทำความเข้าใจกัน

โรคปอดอักเสบคืออะไร สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาป้องกันทำได้อย่างไรบ้าง รีบไปติดตามพร้อมๆ กันเลยค่ะ

โรคปอดอักเสบ คืออะไร?

โรคปอดอักเสบ (pneumonia) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรียภายในปอด สำหรับบางรายอาจจะเป็นเพียงแค่ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้

สาเหตุของโรคปอดอักเสบ

สำหรับสาเหตุหลักของโรคปอดอักเสบจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ แต่รูปแบบของการติดเชื้อจะสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ โดยอธิบายได้ดังนี้

1.โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อในชุมชน

โรคปอดอักเสบ สามารถที่จะติดเชื้อขึ้นได้หลายชนิด โดยส่วนใหญ่มักจะติดเชื้อในบริเวณชุมชนหรือที่อยู่อาศัย โดยแบ่งได้ดังนี้

เชื้อแบคทีเรีย สำหรับเชื้อแบคทีเรียถือเป็นสาเหตุหลักของโรคปอดอักเสบ โดยจะติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Streptococcus, Chlamydophila และ Legionella

เชื้อไวรัส เป็นเชื้อที่ส่งผลต่อเด็กและผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก โดยเชื้อที่ส่งผล คือ Respiratory syncytial virus

แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่ากับการติดเชื้อแบคทีเรียและใช้ระยะเวลาในการรักษาไม่นาน

เชื้อไมโครพลาสม่า เป็นเซลล์ที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนกับเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

โดยจะทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่แล้วจะทำให้เกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ

เชื้อรา สาเหตุเกิดจากการสูดดมหรือได้กลิ่นดินหรือมูลนกมากจนเกินไป

ทำให้เชื้อราที่อยู่ในดินเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ และทำให้เกิดการอักเสบจนเป็นโรคปอดอักเสบได้

2.โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล

บางรายอาจจะมีปัญหาในขณะที่ไปโรงพยาบาล แล้วได้รับเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสในขณะที่อ่อนแอ

โดยอาจจะรับเชื้อโรคเหล่านี้ผ่านทางระบบทางเดินหายใจ และทำให้เชื้อโรคฟักตัวจนส่งผลทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ

นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายก็อาจจะเกิดการติดเชื้อโรคปอดอักเสบได้จากการใช้เครื่องช่วยหายใจเช่นกัน

3.โรคปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร

เป็นสาเหตุที่มักจะเกิดกับผู้ป่วยนอนติดเตียง เกิดการสำลักเศษอาหาร หรือเครื่องดื่ม ทำให้สิ่งเหล่านั้นเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง

แต่หากเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียงก็อาจจะเป็นการสำลักได้แบบไม่รู้ตัว แต่สำหรับผู้ที่เพิ่งผ่าคลอด

ก็อาจจะเป็นการสำลักที่รวดเร็วและมีปริมาณเศษอาหารหรือเครื่องดื่มไหลเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้มากกว่า

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบ

สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยทั้งนี้อาจจะมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย คือ

  • โรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหอบ หรือโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับปอด
  • การรักษา หากกรณีต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ก็อาจจะทำให้เกิดการเพาะตัวของเชื้อต่างๆ ได้ง่าย
  • การสูบบุหรี่ สามารถที่จะสร้างความเสียหายให้กับปอด จึงทำให้ไม่สามารกำจัดเชื้อต่างๆ ออกจากปอดได้
  • ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายอ่อนแอ ผู้ที่มีโอกาส เช่น ผู้มีเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ต้องปลูกถ่ายอวัยวะ หรือแม้แต่การได้รับการบำบัดจากยาและเคมีมาอย่างยาวนาน

อาการของโรคปอดอักเสบ

อาการของโรคปอดอักเสบก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากหากร่างกายอ่อนแอ

ก็จะทำให้สามารถแสดงอาการออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยอาการที่แสดงออกมีดังนี้

  • เจ็บหน้าอก
  • มึนงง
  • มีเสมหะ
  • ไอ
  • มีไข้
  • เหงื่อออกมาก
  • หนาวสั่น
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • หายใจถี่

อาการอื่นๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อชนิดต่างๆ

นอกจากอาการเบื้องต้นแล้ว ยังสามารถที่จะแบ่งอาการได้จากการติดเชื้อชนิดต่างๆ ได้อีกดังนี้

ติดเชื้อแบคทีเรีย หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีไข้ทันที หลังจากนั้นก็จะมีอาการเหงื่อออกมาก และริมฝีปากรวมถึงเล็บจะมีสีที่ซีดลง

ติดเชื้อไวรัส เริ่มแรกอาการจะเหมือนไข้หวัดทั่วไป หลังจากนั้นจะมีปัญหาที่ระบบทางเดินหายใจ และภายใน 12-36 ชั่วโมง ผู้ป่วยก็จะเริ่มเป็นไข้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคปอดอักเสบ      

ภาวะแทรกซ้อนของโรคปอดอักเสบ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยทุกราย แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายด้วย โดยภาวะแทรกซ้อนของโรคที่พบมีดังนี้

ภาวะน้ำท่วมปอด เมื่อเกิดการติดเชื้อทำให้ปอดบวม ของเหลวที่อยู่บริเวณนั้นจะไม่สามารถไหลออกได้ จึงทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด โดยจะต้องรีบเข้ารับการรักษาในทันที

ฝีที่ปอด จะเกิดขึ้นภายในโพรงปอด สาเหตุจะมาจากการติดเชื้อ แต่สามารถรักษาได้ด้วยการทานยา หรือการผ่าตัด

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด สาเหตุเกิดจากแบคทีเรียที่ปอดมีการลุกลามและแพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ ผ่านทางกระแสเลือด ก็จะทำให้ระบบภายในร่างกายล้มเหลวได้ง่ายมากขึ้น

การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ

ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะเริ่มจากการถามคำถามกับผู้ป่วย เกี่ยวกับอาการรวมถึงประวัติของคนในครอบครัว

หรือแม้แต่ประวัติการเข้ารับการรักษา นอกจากนี้ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายผ่านผลตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย ดังนี้

การตรวจเลือด เป็นการตรวจเพื่อที่จะหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ

การทดสอบเสมหะ เป็นการตรวจเพื่อที่จะหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ

การเอกซเรย์ทรวงอก เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติภายในทรวงอก

การตรวจปัสสาวะ การตรวจเพื่อที่จะหาเชื้อ Streptococcus และ Legionella

การตรวจของเหลวอื่นๆ เป็นการตรวจเพื่อที่จะหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ ผ่านการเจาะเข็มลงไประหว่างซี่โครง

วิธีรักษาโรคปอดอักเสบ

สำหรับวิธีรักษาโรคปอดอักเสบ สามารถที่จะแบ่งการรักษาได้ตามระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้

1.โรคปอดอักเสบ ระดับเริ่มต้น

เป็นอาการโรคปอดอักเสบที่ยังไม่มีอาการที่ร้ายแรง ซึ่งวิธีรักษาจะเริ่มจากการจ่ายยาปฏิชีวนะ รวมถึงผู้ป่วยจะต้องพักฟื้น 7-10 วัน

โดยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และอาการจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับในระยะเวลา 48 ชั่วโมง

2.โรคปอดอักเสบ ระดับปานกลาง

โรคปอดอักเสบระดับปานกลาง เป็นอาการที่ระบบทางเดินหายใจมีการทำงานแย่ลง ซึ่งแพทย์จะทำการจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วย

แต่จะเปลี่ยนชนิดของการให้ยาปฏิชีวนะ โดยจะให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำเพื่อให้ระบบภายในร่างกายได้รับยาทันที

นอกจากนี้ อาจจะต้องเพิ่มความเข้มข้นให้กับออกซิเจนภายในเลือดร่วมด้วย

3.โรคปอดอักเสบ ระดับรุนแรง

เมื่อผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ เกิดอาการอักเสบขั้นรุนแรง แพทย์จะต้องทำการใส่ท่อเพื่อช่วยหายใจ

เนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว พร้อมกันนี้ แพทย์จะทำการจ่ายยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำเช่นเดียวกัน

แต่จะต้องมีการจ่ายยาช่วยเพิ่มความดันโลหิตเพื่อป้องกันภาวะช็อกที่จะเกิดขึ้นให้แก่ผู้ป่วยร่วมด้วย

วิธีป้องกันโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบ สามารถที่จะป้องกันได้ตั้งแต่ยังเด็ก นอกจากนี้ ก็ยังสามารถป้องกันได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต คือ

1.การฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนนั้นสามารถที่จะแบ่งได้ 2 รูปแบบคือ การฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังเด็ก และการฉีดวัคซีนในขณะที่ร่างกายอ่อนแอ

การฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังเด็ก จะเริ่มฉีดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ที่สามารถทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้

การฉีดวัคซีนในขณะที่ร่างกายอ่อนแอ เป็นวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ สามารถที่จะฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18-64 ปี

2.การรักษาความสะอาด

การรักษาความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการทำความสะอาดมือ เนื่องจากมือสามารถสัมผัสกับเชื้อโรคได้หลากหลายชนิด

และสัมผัสกับอาหาร จึงทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปในร่างกายได้ง่าย ทางที่ดีควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ และล้างอย่างถูกวิธี

3.การดูแลตัวเอง

เพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบได้อย่างมากขึ้น การดูแลตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญ

โดยจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่สม่ำเสมอ โดยใส่ใจตั้งแต่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

และหมั่นออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ หากร่างกายได้รับสารอาหารหรือวิตามินแร่ธาตุไม่เพียงพอ

ก็ควรรับประทานวิตามินเสริมเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง โอกาสในการติดเชื้อจนเจ็บป่วยก็จะลดน้อยลง

โรคปอดอักเสบ เมื่อเกิดโรคนี้ขึ้นแล้ว แน่นอนว่าย่อมสามารถก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้

จากการที่ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ดังนั้น จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

และเมื่อเกิดอาการผิดปกติทางร่างกายก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องต่อไปจะดีที่สุด