โรครองช้ำ เป็นอีกหนึ่งโรคที่มักจะเกิดในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะหรือคนอ้วนนั่นเอง โดยเฉพาะผู้ที่มักจะออกกำลังกาย
ที่จะต้องลงแรงกระแทกที่ส้นเท้าหรือฝ่าเท้าอยู่เป็นประจำ เช่น นักวิ่งหรือคนที่ชอบกระโดดบ่อยๆ
ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวล้วนแล้วแต่เสี่ยงต่อการก่อให้เกิดโรครองช้ำมาก ดังนั้น เราจึงควรทำความรู้จักโรคนี้เอาไว้
เพื่อจะได้ศึกษาเข้าใจรายละเอียดที่มาที่ไปของโรค โรครองช้ำคืออะไร สาเหตุ อาการและวิธีรักษาป้องกันทำได้อย่างไร ไปติดตามพร้อมๆ กันเลย
โรครองช้ำ คืออะไร?
โรครองช้ำ หรือ โรคพังผืดส้นเท้าอักเสบ (Plantar Fasciitis) คือ โรคที่เกิดจากพังผืดมีปัญหา เนื่องจากพังผืดเป็นตัวช่วยสำคัญของเท้า
ที่จะช่วยในการรับน้ำหนักของร่างกาย โดยอาจจะเกิดการบาดเจ็บ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับเอ็นร้อยหวาย หากตึงเกินไปก็มีผลเช่นเดียวกัน
สาเหตุของโรครองช้ำ
สำหรับสาเหตุของโรครองช้ำ สามารถที่จะเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยสามารถอธิบายได้ ดังนี้
1.อายุ โดยทั่วไปแล้วช่วงอายุที่จะส่งผลต่อการเกิดโรครองช้ำ คือ 40-60 ปี ซึ่งอาจจะมาจากความเสื่อมของอวัยวะภายในร่วมด้วย
2.ลักษณะการออกกำลังกาย สำหรับลักษณะของการออกกำลังกายสามารถที่จะส่งผลได้ เพราะส่งผลต่อส้นเท้าและเนื้อเยื่อที่ส้นเท้า
โดยการออกกำลังกายที่ส่งผลได้ เช่น วิ่งระยะไกล กระโดดไกล เต้นบัลเล่ต์ และเต้นแอโรบิก ล้วนเป็นการออกกำลังกายที่ส่งผลอย่างแน่นอน
3.ลักษณะของเท้า แม้กระทั่งรูปแบบของเท้าที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นเท้าลักษณะแบน หรือมีความโค้งสูงมากเกินไป
หรือบางรายอาจจะมีลักษณะการเดินที่ผิดปกติ ก็จะเป็นผลในการกระจายน้ำหนักตัวไปที่เท้าในขณะที่ยืน ซึ่งก็จะทำให้พังผืดตึงมากเกินไป และทำให้เกิดโรครองช้ำได้
4.น้ำหนักตัว น้ำหนักตัวที่มากเกินกว่าเกณฑ์กำหนด ก็ทำให้พังผืดตึงได้เช่นเดียวกัน สาเหตุเป็นเพราะต้องรับน้ำหนักตัวที่มากจนเกินไป
5.อาชีพ เป็นสาเหตุที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่า อาชีพก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่อการเป็นโรครองช้ำได้
โดยเฉพาะอาชีพ ครู พนักงานโรงงาน พนักงานต้อนรับ พนักงานร้านอาหาร ซึ่งจะต้องยืนนาน หรือเดินอยู่บ่อยๆ
และพื้นที่เดินก็อาจจะแข็งมากจนเกินไป จึงสามารถที่จะทำให้พังผืดที่เท้าถูกทำลายหรือใช้งานมากเกินไป
แต่จริงๆ ก็ยังมีบางสาเหตุที่มีผลเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใส่รองเท้าที่ไม่พอดีกันกับขนาดเท้า หรืออาจจะใส่รองเท้าส้นสูงอยู่บ่อยๆ ก็เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรครองช้ำได้
อาการของโรครองช้ำ
สำหรับอาการของโรครองช้ำ เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถบ่งบอกโรคได้อย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่แล้วอาการมักจะเกิดขึ้นเพียงแค่ข้างเดียว และยังมีอาการแสดงออกที่มากไปกว่านี้ คือ
- ปวดบริเวณส้นเท้า
- มักจะมีอาการปวดหลังจากลุกจากที่นอน หรือลุกจากที่นั่ง เมื่อเดินไปสักพักก็จะหาย
- มีอาการปวดเมื่อออกกำลังกาย
อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดยังมีอยู่ และหากยังคงฝืนในการทำกิจกรรมต่างๆ พังพืดอาจจะแตกและเกิดความเสียหายได้
โดยจะแสดงอาการคือ มีเสียงคลิก และเกิดการบวมที่ส้นเท้าข้างเดียว ก็เป็นอาการที่อันตรายควรรีบไปปรึกษาแพทย์ในทันที
ภาวะแทรกซ้อนของโรครองช้ำ
การเป็นโรครองช้ำ ก็สามารถที่จะส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกัน โดยการเกิดภาวะแทรกซ้อนนั้น มีดังนี้
- อาการปวดหลัง
- อาการปวดสะโพก
- อาการปวดเข่า
- อาการปวดเท้า
การวินิจฉัยโรครองช้ำ
การวินิจฉัยโรครองช้ำ แพทย์จะทำการวินิจฉัยไปตามประวัติการแพทย์ของผู้ป่วย และอาจจะต้องใช้วิธีต่างๆ ในการตรวจเพื่อที่จะหาความชัดเจนโรค โดยมีดังนี้
1.การตรวจลักษณะ
สำหรับการตรวจลักษณะ แพทย์จะทำการตรวจลักษณะของเท้าว่ามีความผิดปกติส่วนใดบ้าง เช่น
- ความโค้งของเท้า
- ส่วนด้านหน้าของเท้า
- การเคลื่อนไหวของข้อเท้า
2.การ X-ray
การวินิจฉัยรูปแบบนี้จะช่วยในเรื่องของการสร้างความชัดเจน เพราะสามารถที่จะมองเห็นได้ว่าสาเหตุของอาการปวดส้นเท้า
มาจากการปวดข้อ หรืออาจจะเป็นเพราะกระดูกบริเวณข้อเท้าหัก เลยทำให้เกิดอาการปวด
3.การถ่ายภาพ
สำหรับวิธีการวินิจฉัยรูปแบบนี้ อาจจะไม่ใช่วิธีที่แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้ทำ เพราะไม่ได้มองเห็นถึงความจำเป็น
แต่ก็สามารถทำให้เห็นรายละเอียดที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดฝ่าเท้าได้จากการถ่ายรูป อย่างเช่น MRI
วิธีรักษาโรครองช้ำ
ในเรื่องของวิธีรักษามีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดและวิธีที่ไม่ใช้การผ่าตัด ซึ่งสามารถอธิบายได้ ดังนี้
1.การผ่าตัด การผ่าตัดมีรูปแบบที่สามารถจะแบ่งออกได้มากมาย โดยขึ้นอยู่กับแต่ละส่วนที่จะส่งผลทำให้เกิดการปวดฝ่าเท้าได้ โดยอธิบายได้คือ
การผ่าตัดกล้ามเนื้อน่อง (Gastrocnemius recession) การผ่าตัดกล้ามเนื้อน่องจะช่วยลดความตึงให้กับพังผืด
ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการบิดเท้า เพราะฉะนั้น เมื่อทำการผ่าตัดกล้ามเนื้อน่องก็จะสามารถขยับเท้าได้ตามปกติ
2.การไม่ผ่าตัด สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรครองช้ำการรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด มีประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ในการเลือกใช้วิธีนี้ ซึ่งก็มีดังนี้
การพักผ่อน สำหรับการพักผ่อนถือเป็นวิธีรักษาที่สำคัญ โดยการหยุดทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ดีมากขึ้น
โดยเฉพาะกีฬาที่ควรจะหยุด เพราะการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาบางชนิดจะส่งผลทำให้อาการของโรคกำเริบหนักอีกได้
การประคบน้ำแข็ง สามารถเลือกได้ทั้งการใช้น้ำแข็งประคบโดยตรง หรือหากไม่สามารถหาได้
การเลือกใช้ขวดน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นจัดก็สามารถทดแทนได้เช่นกัน โดยจะช่วยในการรักษาอาการปวดได้นั่นเอง
การใช้ยา อย่างเช่น ยาไอบูโพรเฟน ซึ่งจะช่วยลดอาการอักเสบและอาการปวดลงได้ดี โดยอาจจะต้องใช้ระยะเวลาถึง 1 เดือน ซึ่งผู้ป่วยก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
กายภาพบำบัด สาเหตุของการทำให้เกิดโรครองช้ำ ก็คือการที่น่องตึง จึงส่งผลต่อพังผืดได้ ดังนั้น การกายภาพบำบัดก็สามารถที่จะช่วยลดอาการได้ โดยทำได้ดังนี้
- ยืดน่อง โดยเริ่มจากการหันหน้าเข้ากำแพง และยืนตัวตรง หลังจากนั้นให้ถอยเท้าข้างหนึ่งไปด้านหลังค่อยๆ งอเข่าลง แล้วทำค้างไว้ 10 วินาที ซึ่งให้ทำสองข้างรวมกัน 20 ครั้ง
- ยืดพังผืด สำหรับการยืดพังผืดให้นั่ง และค่อยๆ ดึงนิ้วเท้าเข้าหาตัว แต่ควรที่จะเบามือเพื่อที่จะช่วยยืดพังผืด หรืออาจจะใช้ผ้าเป็นตัวช่วย
การฉีดคอร์ติโซน การฉีดคอร์ติโซนจะใช้เป็นประเภทสเตียรอยด์เพื่อที่จะช่วยต้านการอักเสบ
การใส่อุปกรณ์ การใส่อุปกรณ์จะช่วยรองรับแรงกระแทกในผู้ป่วยโรครองช้ำได้เป็นอย่างดี โดยสามารถที่จะช่วยลดอาการอักเสบ ถ้าหากจะต้องยืนหรือเดินนานๆ
อุปกรณ์ลดปวดส้นเท้าและฝ่าเท้า สำหรับการใส่อุปกรณ์ลดปวดส้นเท้าและฝ่าเท้า ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เฉพาะเวลากลางคืนก่อนนอน
เพื่อที่จะทำให้พังผืดที่เท้ามีความสมดุลมากยิ่งขึ้น และสามารถที่จะหายปวดได้อย่างรวดเร็ว
การทำ Shockwave การทำ Shockwave เป็นการใช้คลื่นเสียงผ่านทางผิวหนัง และผ่านทางเนื้อเยื่อ โดยจะนำคลื่นเสียงเหล่านี้เข้ามาใช้
เพื่อบำบัดในส่วนของเนื้อเยื่อที่เสียหาย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะนำมาใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยที่ไม่ต้องการจะผ่าตัด
วิธีป้องกันโรครองช้ำ
การป้องกันโรครองช้ำสามารถที่จะทำได้ไม่ยาก โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1.ลดน้ำหนัก น้ำหนักถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดโรครองช้ำได้ เพราะทำให้ฝ่าเท้าอาจจะต้องรับน้ำหนักมากจนเกินไปจึงควรที่จะต้องลดน้ำหนัก
2.รองเท้า นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ เพราะรองเท้าจะช่วยในการรองรับเท้าที่จำเป็นจะต้องรับน้ำหนัก และไม่ทำให้เท้าถูกกดกับพื้นมากจนเกินไป
ดังนั้น จึงควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมและรองรับต่อการใช้งานไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือการยืนก็ตาม
3.หลีกเลี่ยงกิจกรรม โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ ควรเลี่ยงบางกิจกรรมที่จะต้องมีแรงกระแทก เช่น การกระโดด การวิ่ง
สิ่งเหล่านี้ควรที่จะต้องหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด แต่ก็ยังสามารถที่จะออกกำลังกายได้ โดยควรที่จะเลือกกีฬาให้เหมาะสม เช่น การว่ายน้ำ หรือการขี่จักรยาน
4.ปรึกษาแพทย์ เมื่อเรามีความรู้สึกผิดปกติที่ฝ่าเท้าหรือส้นเท้า ควรที่จะต้องปรึกษาแพทย์ในทันที เพราะหากเป็นโรครองช้ำก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษามากพอสมควร
5.ยืดเส้นอยู่บ่อยๆ ทางที่ดีควรที่จะต้องยืดเส้นอยู่บ่อยๆ โดยหากเริ่มมีความรู้สึกว่าพังผืดตึงจนเกินไป ก็สามารถที่จะทำกายภาพตามที่แนะนำเอาไว้ได้เลย
Credit : sportsinjuryclinic.net
โรครองช้ำ ถึงแม้ว่าจะเกิดได้ง่ายๆ แต่ก็สามารถป้องกันและรักษาได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่จะต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้น
โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกายใหม่ หรือการทำกิจกรรมที่ลดแรงกระแทกลงส้นเท้าหรือฝ่าเท้าให้น้อยลง
และหากผิดปกติที่บริเวณเท้าดังกล่าวก็รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพียงเท่านี้อันตรายจากโรครองช้ำก็ห่างไกลจากตัวเรามากขึ้นแล้ว