โรคหนังแข็ง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีลักษณะแข็งๆ ตรงบริเวณผิวที่เป็น ในขณะที่ผิวบางจุดก็มีความอ่อนนุ่มหรือยืดหยุ่นตามปกติ
และโรคนี้ก็ไม่ใช่โรคที่จะพบกันได้บ่อยๆ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ต้องเป็นกังวลกันมากเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ใช่โรคติดต่อเหมือนโรคร้ายแรงบางชนิด
หากแต่เมื่อขึ้นชื่อว่าโรคที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับผิวหนังคนเราแล้ว การศึกษาข้อมูลเพื่อรู้เท่าทันโรคบ้างก็ย่อมถือเป็นสิ่งที่ดี
วันนี้เราจึงพาคุณมาทำความรู้จัก โรคหนังแข็งหรือ โรคผิวหนังแข็ง ไปดูกันว่าโรคนี้คืออะไร มีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง
โรคหนังแข็ง คืออะไร?
โรคหนังแข็ง หรือ โรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma) คือ โรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดปัญหาจากระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันนั้นโจมตีเยื่อภายใน
ส่งผลทำให้คอลลาเจนถูกผลิตมากจนเกินไป และออกมารวมตัวกันทำให้หนาเป็นพังผืด ทั้งนี้ยังอาจสร้างรอยแผลเป็นให้กับเนื้อเยื่อด้วยได้
ประเภทของโรคหนังแข็ง
โรคหนังแข็งสามารถที่จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
1.โรคผิวหนังแข็งเฉพาะที่ (Localized scleroderma)
คือ รูปแบบที่เป็นคอลลาเจนสะสมไว้ที่ผิวหนัง บางพื้นที่ก็อาจจะแข็ง แต่บางส่วนก็อาจจะมีผิวที่อ่อน ซึ่งสามารถส่งผลต่อระบบอวัยวะภายใน โดยจะมีรูปแบบที่สามารถแบ่งได้ดังนี้
- Morphea จะมีรูปแบบเป็นวงรี และบริเวณขอบอาจจะมีสีแดง ส่วนตรงกลางจะเป็นสีขาว โดยจะเป็นรูปแบบที่ส่งผลต่อหลอดเลือดถึงอวัยวะภายในอื่นๆ
- Linear มีความคล้ายคลึงกับรูปแบบแรก แต่จะแตกต่างตรงที่ส่วนใหญ่จะขึ้นบริเวณอวัยวะภายนอกไม่ว่าจะเป็นใบหน้า ขา และแขน
2.โรคผิวหนังบริเวณกว้าง (systemic sclerosis)
คือ รูปแบบที่มีความผิดปกติมาจากหลอดเลือดที่เกิดความเสียหาย รวมทั้งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ
ซึ่งจะมีผลเกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกล้ามเนื้อและข้อต่อ นอกจากนี้ ยังส่งผลทำให้เกิดการสลายตัวของเซลล์ผิวหนัง
และเซลล์เนื้อเยื่อในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ปอด ไต รวมถึงลำไส้ ซึ่งสามารถที่จะแยกรูปแบบย่อยออกได้อีก 2 ชนิดคือ
- Diffuse เป็นรูปแบบที่ทำให้เส้นเลือดภายในร่างกายเกิดการแข็งตัว และอาจจะมีคอลลาเจนที่มาปกคลุมผิวบริเวณนั้นจนทำให้ผิวหนังหนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
- Limited รูปแบบของโรคที่จะปรากฏอยู่บริเวณมือ เท้า และส่งผลต่อระบบภายใน ไม่ว่าจะเป็นปอด รวมถึงระบบทางเดินอาหาร โดยจะมีชื่อเรียกกลุ่มอาการเฉพาะรูปแบบนี้ว่า CREST syndrome (Calcinosis, Raynaud’s, Esophageal, Sclerodactyly, Telangiectasias)
สาเหตุของโรคหนังแข็ง
สาเหตุของโรคหนังแข็งที่สามารถอธิบายได้ คือ ร่างกายเกิดความผิดปกติ เนื่องจากมีการผลิตและเก็บสะสมคอลลาเจน
ที่ถูกผลิตออกมาเอาไว้ภายในเนื้อเยื่อมากเกินความจำเป็น โดยสาเหตุของโรคหนังแข็งสามารถที่จะเกิดได้จากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
เพราะหากภูมิคุ้มกันมีภาวะทำร้ายตัวเอง ก็จะทำให้เนื้อเยื่อภายในเกิดการอักเสบ และอาจจะมีอาการบวมตามมา
จึงทำให้ร่างกายมีการผลิตพังผืดออกมาเพื่อซ่อมแซมและรักษามากจนเกินไป จึงกลายเป็นสาเหตุของโรคหนังแข็งได้
อาการของโรคหนังแข็ง
อาการของโรคหนังแข็งจะมีการแสดงออกที่แตกต่างกัน โดยสามารถที่จะแบ่งได้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้
1.หัวใจ ปอด และไต
โดยเป็นจุดที่สามารถแสดงอาการให้เห็นกันได้ง่ายๆ โดยในส่วนของปอดอาจจะมีปัญหาจากใยคอลลาเจน ที่มีปริมาณมากจนเกินไป
จนทำให้แทรกเข้าไปในเนื้อปอด โดยสามารถส่งผลทำให้เกิดอาการไอแห้ง และเหนื่อยได้ง่าย
แต่สำหรับในส่วนของหัวใจก็จะมีความคล้ายกับปอดนั่นก็คือ จะมีใยคอลลาเจนไปแทรกอยู่บริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ
ส่งผลให้จังหวะการเต้นของหัวใจไม่เป็นปกติ และมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการหัวใจวาย
2.ผิวหนัง
ผิวหนังถือเป็นบริเวณเด่นๆ ที่สามารถจะพบเจอโรคนี้ได้อย่างชัดเจน โดยลักษณะคือ ผิวจะมีความเต่งตึง และทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นหนามากยิ่งขึ้น
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นบริเวณมือ แขน และหากเป็นมานานก็จะทำให้ผิวบริเวณนั้นไม่สามารถขยับได้
3.ระบบย่อยอาหาร
เป็นภาวะที่คอลลาเจนเข้าไปแทรกตัวอยู่บริเวณผนังหลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร
เพราะฉะนั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กลืนอาหารได้ยาก และอาจจะมีทั้งอาการจุก เสียด คลื่นไส้ บางรายก็อาจจะมีปัญหาน้ำหนักตัวลด
4.หลอดเลือด
เป็นปัญหาหลักของผู้ป่วย เพราะเนื่องจากใยคอลลาเจนที่เกิดขึ้นจะเข้าไปแทรกซึมอยู่บริเวณหลอดเลือดใหญ่
ทั้งในปอดและบริเวณอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น จึงทำให้เกิดความดันในปอด และส่งผลให้ผู้ป่วยเหนื่อยง่ายมากยิ่งขึ้น
5.ระบบสืบพันธุ์
ผู้ป่วยสามารถที่จะมีปัญหากับระบบสืบพันธุ์ได้ โดยเฉพาะผู้ชาย สาเหตุเป็นเพราะการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
เนื่องจากหลอดเลือดอุดตันไปด้วยเส้นใยคอลลาเจน จึงไม่สามารถที่จะทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนังแข็ง
1.สมรรถภาพทางเพศ ส่วนใหญ่แล้วโรคนี้จะส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ โดยจะส่งผลทำให้ผู้ชายไม่มีสารหล่อลื่นที่เพียงพอ
2.ไต ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงภายในไต จนทำให้เกิดอาการขาบวม และอาจจะทำให้ปัสสาวะถูกผลิตได้น้อยลง
3.ฟัน โดยในส่วนนี้จะส่งผลกระทบต่อการทำความสะอาดฟัน เพราะหากเกิดโรคผิวหนังแข็งขึ้นบนใบหน้าก็อาจจะทำให้ปากมีขนาดเล็กลง
ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะทำให้การทำความสะอาดฟันเป็นไปได้อย่างสะดวก และยังมีความเสี่ยงในการทำให้เกิดโรคฟันผุ
รวมถึงยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเนื้อเยื่อของเหงือก ซึ่งสามารถที่จะทำให้ฟันหลุดได้อีกด้วย
4.ระบบย่อยอาหาร ในระบบนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับปอดโดยตรง จึงสามารถทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่ายๆ และยังสามารถที่จะทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารได้อย่างยากลำบาก
การวินิจฉัยโรคหนังแข็ง
การวินิจฉัยโรคหนังแข็งแพทย์จะทำการซักประวัติของผู้ป่วย เพื่อที่จะใช้ในการแยกโรคต่างๆ นอกจากนี้ ก็ยังวินิจฉัยผ่านทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนี้
- การตรวจภูมิคุ้มกัน (serology)
- การตรวจแผลปลายนิ้ว
- การตรวจพังผืด
- การฟังเสียงหายใจ
- การถ่ายภาพเอกซเรย์
วิธีรักษาโรคหนังแข็ง
สำหรับวิธีรักษาโรคหนังแข็ง แพทย์จะใช้ 3 วิธีหลักๆ ในการรักษาโรค โดยสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ ดังนี้
1.การรักษาด้วยยา
ต้องอธิบายให้เข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า ยังไม่มียาชนิดใดที่จะช่วยหยุดกระบวนการผลิตคอลลาเจนมากกว่าปกติให้กับร่างกายได้
แต่ยาส่วนใหญ่ที่นำมาใช้นั้น จะมีผลช่วยประคับประคองและช่วยควบคุมอาการของโรคให้ดีมากขึ้น โดยยาที่รักษาได้จะมี ดังนี้
- ยาขยายหลอดเลือด คือ ยาที่จะช่วยขยายหลอดเลือดภายในปอดและไต
- ยาระงับภูมิคุ้มกัน คือ ยาที่จะช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันที่จะเกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน รวมถึงกล้ามเนื้อต่างๆ
- ยาลดกรด คือ ยาที่ช่วยในการรักษาโรคกรดไหลย้อน เพื่อที่จะช่วยรักษาเมื่อเกิดภาวะกรดไหลย้อน
- ยาต้านการอักเสบ คือ ยาที่จะช่วยลดอาการบวมหรืออาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากผิวหนัง
- ยารักษาความดันโลหิต คือ ยาที่จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน เช่น ปอด และไต
2.การรักษาด้วยการผ่าตัด
สำหรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ถือเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษา เพราะจะเหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อน โดยมีการแบ่งรูปแบบผ่าตัด ดังนี้
- การปลูกถ่ายปอด เป็นวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เป็นภาวะความดันในปอดสูง จึงต้องได้รับการปลูกถ่ายปอด
- การตัดอวัยวะ เป็นวิธีที่อาจจะดูรุนแรง แต่ก็เป็นวิธีที่จะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเนื้อตาย เพราะฉะนั้น หากปล่อยเอาไว้ก็จะทำให้เซลล์เนื้อตายเหล่านี้ลุกลามออกไปอีกเรื่อยๆ
3.การบำบัด
การบำบัดเป็นอีกวิธีที่จะใช้ในการรักษา โดยถูกนำมาใช้หลังจากผ่าตัดรักษาโรคหนังแข็งไปแล้วเท่านั้น
ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดการกับความเจ็บปวดต่างๆ ได้ รวมถึงยังมีการกายภาพเพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติหลังจากผ่าตัด
วิธีป้องกันโรคหนังแข็ง
สำหรับวิธีป้องกันโรคหนังแข็งอาจจะยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกิดความผิดปกติขึ้นจากภายในร่างกาย ดังนั้น ทางที่ดีควรที่จะต้องมีวิธีปฏิบัติและดูแลตนเองให้เหมาะสม เช่น
- หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายยืดหยุ่นและช่วยให้การไหลเวียนโลหิตเป็นไปได้อย่างสะดวก
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแก๊ส เพื่อที่จะช่วยป้องกันกรดไหลย้อน
Credit : theworldmedicalcenter.com
โรคหนังแข็ง เป็นโรคที่สามารถจะเป็นกันได้โดยไม่รู้ตัว แต่ก็สามารถที่จะรับมือได้จากการดูแลตัวเองให้เหมาะสม
และเมื่อพบสิ่งผิดปกติก็ควรที่จะรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อที่จะรักษาให้หายขาดโดยเร็ว ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาหรืออาการที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง
เพราะบางอาการอาจจะเป็นสัญญาณของ โรคผิวหนังแข็ง ก็เป็นได้ การรู้เท่าทันโรคย่อมเป็นวิธีรับมือป้องกันได้ดีที่สุด
เพราะถึงแม้จะพบว่าเป็นโรคแล้ว แต่การพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมทำให้สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้โดยเร็วนั่นเอง