โรคหลอดเลือดสมอง (ภาษาอังกฤษ – Stroke) เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีความอันตรายเป็นอย่างมาก ซึ่งหากไม่ได้ทำการรักษาอย่างถูกวิธี
ก็อาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้เลยทีเดียว แถมยังพบผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้เป็นจำนวนไม่น้อยอีกด้วย
ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ให้มากขึ้น เพื่อจะได้ห่างไกลจากโรคร้ายดังกล่าวนั่นเอง
โรคหลอดเลือดสมองคือ อะไร?
อาการโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากการที่หลอดเลือดมีการตีบตัน อุดตันหรือหลอดเลือดสมองแตก
ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้อย่างเต็มที่ เป็นผลให้เกิดความผิดปกติจนเป็นอันตรายได้
ซึ่งสาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่า เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งเราจะทำความเข้าใจกันต่อไป
ประเภทของโรคหลอดเลือดสมอง
ประเภทของโรคหลอดเลือดสมอง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ซึ่งก็มีอัตราความเสี่ยงแตกต่างกันไป ได้แก่
1.โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน
เป็นโรคที่สามารถพบได้มากถึง 80% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากลิ่มเลือดจากส่วนอื่น เข้าไปอุดตันหลอดเลือดสมอง หรือมีลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นมาบริเวณหลอดเลือดสมองพอดี
ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้อย่างเต็มที่ จึงส่งผลให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดและเป็นอันตรายได้นั่นเอง
2.โรคหลอดเลือดสมองแตก
เป็นโรคที่มักจะพบได้บ่อยประมาณ 20% โดยมักจะเกิดจากปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น จนหลอดเลือดสมองแตกในที่สุด
ซึ่งแม้จะเป็นชนิดที่พบได้ไม่บ่อยเท่ากับชนิดแรก แต่ก็มีความรุนแรงกว่ามากทีเดียว
อาการโรคหลอดเลือกสมองที่แสดงออก
เมื่อกำลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการที่แสดงออกมา เพื่อเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการป่วย
ซึ่งหากคุณกำลังมีอาการเหล่านี้ ขอบอกเลยว่าควรรีบไปพบแพทย์ด่วน
- วิงเวียนและปวดศีรษะอย่างรุนแรง รู้สึกได้เลยว่าบ้านหมุนคล้ายกับเวลาเมาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
- เริ่มกลืนอาหารได้ลำบาก มีอาการปากเบี้ยวและพูดไม่ชัดร่วมด้วย
- มีอาการร่างกายอ่อนแรงบ่อยๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแขน ขา และอาจมีอาการชาครึ่งซีกได้
- อยู่ดีๆ ก็เกิดอาการหลงลืมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยบางคนอาจถึงขั้นความจำเสื่อมอย่างทันใดเลยทีเดียว
- มีอาการมองเห็นภาพซ้อนหรือมองไม่เห็นภาพซีกใดซีกหนึ่ง ในบางคนอาจมองไม่เห็นภาพทั้งหมด
- เกิดความผิดปกติในการใช้ภาษา เช่นพูดผิดพูดถูก ไม่เข้าใจภาษาบางอย่างที่เพื่อนพยายามสื่อสารมา
ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่
1.ความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูง จะไปกระตุ้นการทำงานของหลอดเลือดมากเกินไป จึงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก
ดังนั้นผู้ป่วยด้วยโรคความดันสูง จึงควรดูแลตัวเองให้มากขึ้นและอย่าชะล่าใจเมื่อมีอาการผิดปกติเด็ดขาด
2.เบาหวาน
ผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน มักจะเสี่ยงต่อการที่หลอดเลือดแข็ง หรือเกิดลิ่มเลือดที่จะไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้
จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดตีบตันเป็นอย่างมาก
3.อายุ
ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากเท่านั้น เพราะในวัยสูงอายุหลอดเลือดจะเริ่มเสื่อมสภาพ
มีไขมันและหินปูนเกาะที่ผนังด้านในหลอดเลือดมากขึ้น จนทำให้หลอดเลือดสมองตีบในที่สุด
4.การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นประจำจะทำให้เสี่ยงต่อเส้นเลือดในสมองแตก เพราะสารเสพติดบางชนิดจะไปกระตุ้นให้ความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น
จนไม่สามารถต้านทานได้ ดังนั้นจึงควรเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือเลิกสูบไปเลยจะดีที่สุด
5.ความอ้วน
ความอ้วนมักจะนำมาสู่ปัญหาสุขภาพเสมอ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากไขมันที่ก่อตัวหนาจนอุดตันเส้นเลือด
ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดความติดขัด และเป็นอันตรายได้มากทีเดียว
6.โรคหัวใจ
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจอาจส่งผลกระทบต่อภาวะหลอดเลือดในสมองได้ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
7.ขาดการออกกำลังกาย
เนื่องจากการขาดการออกกำลังกาย ทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดสูง โดยลิ่มเลือดจะเข้าไปอุดตันหลอดเลือดสมองจึงทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้นั่นเอง
วิธีการตรวจวินิฉัย สาเหตุโรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับการตรวจวินิจฉัยว่า กำลังป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ นอกจากวินิจฉัยจากอาการโดยทั่วไปแล้ว
แพทย์ก็จะทำการตรวจด้วยวิธีดังต่อไปนี้ด้วย
- การตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- การตรวจอัลตราซาวน์หลอดเลือดบริเวณคอ
- การตรวจระดับของเกลือแร่ในเลือด
- การตรวจเลือดเพื่อเช็คความผิดปกติหลายๆ อย่าง ได้แก่ น้ำตาล ไขมัน ความเข้มข้นและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด รวมถึงการทำงานของไตและตับ
- การตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหลอดเลือดสมองที่เป็น โดยมีแนวทางในการดูแลรักษาดังนี้
1.กรณีโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน
หากอาการไม่รุนแรงมาก แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจะช่วยลดการตีบตันของหลอดเลือดและทำให้อาการทุเลาลงได้ดี
แต่หากมีอาการรุนแรงแพทย์ก็จะทำการวินิจฉัยและหาวิธีการรักษาต่อไป
2.กรณีโรคหลอดเลือดสมองแตก
กรณีนี้จะรักษาด้วยการพยายามควบคุมระดับของความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
แต่หากอาการรุนแรงมากก็อาจจะใช้วิธีการผ่าตัดร่วมด้วย
Credit : thuocthang.vn
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภัยร้ายใกล้ตัวโรคหนึ่งที่ต้องคอยระมัดระวังและอย่าชะล่าใจ เมื่อมีอาการผิดปกติเป็นอันขาด
เพราะโรคนี้อาจทำให้เสียชีวิตได้โดยไม่ทันตั้งตัวเลยทีเดียว หรือไม่ก็เสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตสูง
ดังนั้นมาดูแลสุขภาพของตัวเองกันให้มากขึ้น เพื่อให้ห่างไกลและป้องกันตัวเองจากภาวะโรคหลอดเลือดสมองกันดีกว่า