โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ เกิดจากอะไร รักษาอย่างไรให้หาย?

โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ

โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ เป็นโรคที่มีภาวะการอักเสบของเส้นเลือดขนาดเล็ก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกายหลายๆ ส่วน

เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคนี้แล้วก็จะทำให้หมดความมั่นใจในตนเอง เพราะเหมือนคนที่มีปัญหาผิวหนังผิดปกติ แลดูน่ากลัวสำหรับคนรอบตัว

อีกทั้งยังเป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงกว่าวัยทั่วไป เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณทั้งหลาย

ควรทำความรู้จักโรคนี้ไว้ ถึงแม้จะไม่ใช่โรคที่อันตรายมากนัก แต่ก็ไม่ควรมองข้ามไป และในส่วนรายละเอียดของโรคจะมีอะไรบ้างนั้น ลองมาติดตามกันดูได้เลยค่ะ

โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ คือ อะไร?

โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ คือ ภาวะเส้นเลือดขนาดเล็กหรือเส้นเลือดฝอยมีการอักเสบเกิดขึ้น ซึ่งการอักเสบของเส้นเลือดสามารถเกิดได้กับเส้นเลือดทุกส่วนในร่างกาย

โดยมักเกิดที่หลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณไต ลำไส้ สมอง หรืออวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย จะเรียกว่า systemic vasculitis หากเกิดที่บริเวณผิวหนังจะเรียกว่า cutaneous vasculitis

ซึ่งในภาวะอักเสบบริเวณหลอดเลือดจะทำให้มีเลือดออกที่ผิวหนังหรือเยื่อบุ ทำให้เกิดเป็นผื่นมีลักษณะนูนแดงคล้ำจนกลายเป็นสีม่วง

นอกจากนี้ อาจจะมีเลือดออกที่บริเวณลำไส้หรือไต ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเป็นเลือดหรือถ่ายเป็นเลือด ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

สาเหตุของโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถทราบถึงสาเหตุชัดเจนที่ทำให้เกิดโรคได้ ในทางการแพทย์เชื่อว่า อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค

ซึ่งก็ได้แก่การติดเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรีย และไวรัส การใช้ยา สารเคมี หรือรับประทานอาหารบางชนิดที่มีสารก่อให้เกิดอาการแพ้

นอกจากนี้ อาจเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาหลังการติดเชื้อ จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีการตอบสนองที่รุนแรงเกินไป

ส่งผลให้มีการสะสมของส่วนประกอบของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น LgA ในรอยโรคของโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ

แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และมักพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้หลังจากมีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ

อย่างที่บอกไปในเบื้องต้นแล้วว่าโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบมักจะพบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ โดยพบมากในเด็กช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

และมักจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งในผู้ใหญ่ก็สามารถพบได้ แต่จะน้อยลงกว่าในเด็กนั่นเอง และเมื่อทราบแล้วว่าโรคนี้ พบในเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด

ก็ควรพยายามเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติ แล้วรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที เพื่อจะได้รีบรับมือรักษาและป้องกันโรคก่อนที่จะลุกลามบานปลายหนักขึ้นต่อไป

อาการของโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ

ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่จะมีลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกัน ส่วนระยะเวลาที่พบอาการจะประมาณ 4-6 สัปดาห์

ซึ่งความรุนแรงของอาการก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาการหลักๆ ที่พบจะมีดังต่อไปนี้

1.มีผื่นขึ้น ซึ่งในช่วงแรกผื่นมักมีลักษณะนูนแดงเป็นปื้นคล้ายกับเป็นลมพิษ หลังจากนั้นสีจะค่อยๆ คล้ำขึ้นจนกลายเป็นสีม่วง

ผื่นนูนมักเกิดขึ้นที่บริเวณขาทั้งสองข้าง ก้น แต่ในบางครั้งรอยอาจเกิดขึ้นที่บริเวณอื่นด้วยก็ได้ เช่น ลำตัว แขนทั้งสองข้าง เป็นต้น

2.มีอาการปวดข้อ หรือปวด บวมจนขยับได้เพียงเล็กน้อย โดยมักพบว่าเกิดที่บริเวณข้อเข่า ข้อเท้า

สำหรับข้อมือ ข้อศอกและนิ้วมือก็มีโอกาสเกิดได้เช่นกัน แต่พบว่ามีโอกาสเกิดได้ค่อนข้างน้อย

3.มีอาการปวดท้องร่วมด้วย เนื่องจากเส้นเลือดเกิดการอักเสบ โดยอาการปวดจะมีลักษณะเป็นๆ หายๆ รอบๆ บริเวณสะดือ

อาจจะมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร หรืออาจจะมีภาวะลำไส้กลืนกันจนเป็นสาเหตุทำให้ลำไส้เกิดการอุดตัน แต่ค่อนข้างมีโอกาสพบได้น้อย

4.มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ผู้ป่วยโรคนี้ จะมีการปัสสาวะที่ผิดปกตินั่นคือ การปัสสาวะออกมาเป็นเลือด ดังนั้น หากพบอาการดังกล่าวก็ไม่ควรนิ่งนอนใจเด็ดขาด

5.มีภาวะความดันโลหิตสูง การเป็นความดันโลหิตสูงอาจจะไม่ใช่ภาวะของโรคความดันโลหิตแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสามารถบ่งชี้อาการของโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยแพทย์จะเริ่มจากการตรวจสอบอาการเป็นหลัก และดูจากผื่นนูนที่มักเกิดบริเวณขาทั้งสองข้างและก้น

ร่วมกับอาการอย่างน้อยหนึ่งอย่างต่อไปนี้ คือ อาการปวดข้อ ปวดท้อง ภาวะข้ออักเสบ และอาการทางไตร่วมด้วย

ซึ่งอาการเกี่ยวกับไตคือจะมีปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น โดยการวินิจฉัยควรจะแยกโรคออกจากโรคอื่นได้

อาจจะมีการตรวจสอบค่าอักเสบเพิ่มเติม โดยจะใช้การตรวจแบบ C-reactive protein (CRP) และ Erythrocyte sedimentation rate (ESR)

ในกรณีที่มีอาการทางไต อาจจะต้องทำการตรวจปัสสาวะว่ามีเลือดออกมาด้วยหรือไม่ ในกรณีที่รุนแรงอาจจะต้องทำการตัดชิ้นเนื้อไต

ออกไปตรวจสอบเพิ่มเติ่มด้วย สำหรับกรณีที่ตรวจพบอุดจจาระในเลือดอาจจะหมายถึงการมีเลือดออกจากลำไส้เล็ก

วิธีรักษาโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ

โดยส่วนใหญ่การรักษาแพทย์จะใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองอาการ เช่น  หากมีอาการปวดข้อ จะใช้ยาบรรเทาอาการปวด

ประเภทยาพาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ จำพวกนาพรอกเซนและไอบูโพรเฟน เป็นต้น

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่รุนแรงหรือมีเลือดออก แพทย์จะใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ในการรักษา

ซึ่งอาจจะให้กินหรือฉีดเข้าไปในเส้นเลือด ซึ่งในกรณีนี้พบไม่บ่อยนัก แต่หากมีอาการทางไตที่รุนแรง

แพทย์อาจจะต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ และเริ่มให้รักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันกับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ร่วมด้วย

โดยส่วนใหญ่หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาจะมีอาการดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยระหว่างที่รับการรักษา ห้ามผู้ป่วยวิ่งหรือออกกำลังกายหนัก เพราะอาจจะทำให้โรคกลับมากำเริบได้

วิธีป้องกันโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ

โรคนี้ยังไม่สามารถทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดได้อย่างชัดเจน จึงยังไม่มีวัคซีนป้องกันเฉพาะหรือยาที่ใช้รักษาเฉพาะ

และสิ่งที่ดีที่สุดในการปกป้องตัวเองให้พ้นจากโรคต่างๆ คือการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

และหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นที่ร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที

สำหรับผู้ป่วยที่กำลังประสบกับโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบอยู่นั้น สิ่งที่ดีที่สุด คือ พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาอีก

จากข้อมูลที่กล่าวมาก็พอจะทำให้ทราบได้ว่า โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ เป็นที่ดูไม่รุนแรงหรืออันตรายมากนัก และสามารถรักษาให้หายได้

หรือในบางกรณีก็สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา แต่อย่างไรก็ตามหากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น และอาการดูคล้ายคลึงกับโรคนี้

เช่น มีผื่นขึ้น อย่านิ่งนอนใจควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะผื่นที่พบอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณกำลังป่วยเป็นโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบก็ได้