รู้เท่าทัน “โรคไฟโบรมัยอัลเจีย” กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อในร่างกาย

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย เป็นโรคที่แพทย์แทบทุกประเทศจากทั่วโลกได้ออกมายอมรับกันแล้วว่าโรคนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักและเข้าใจดีนัก

จึงไม่แปลกที่คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้จัก ผู้ป่วยเองก็มักจะพลอยรู้ตัวช้า เนื่องจากลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกับโรคอื่น เช่น โรคไมเกรน กล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น

ซึ่งบทความนี้เราก็ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาให้ทุกคนได้ศึกษา เพื่อที่จะได้รู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น ว่ามีลักษณะอาการที่แตกต่างจากโรคอื่นอย่างไรบ้าง

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย คืออะไร?

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) คือ กลุ่มอาการที่มีการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่ออ่อน และปวดเส้นเอ็นทั่วทั้งร่างกาย

โดยลักษณะสำคัญของอาการเจ็บปวดคือ จะเจ็บปวดรุนแรงมากกว่าปกติ เมื่อถูกกระตุ้นหรือถูกทำให้ปวด อย่างเช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ สิ่งแวดล้อม

ซึ่งในภาวะปกติจะไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ เกิดขึ้น โรคนี้มีโอกาสพบได้บ่อย ถึงประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด โดยมักพบบ่อยในวัยกลางคน และผู้สูงอายุ

สาเหตุของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ ยังไม่สามารถที่จะสรุปให้ทราบได้อย่างแน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยมากระตุ้น เช่น มีสภาพจิตใจอ่อนแอ

เนื่องจากเคยผ่านเหตุการณ์ที่สะเทือนใจมา สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว และความเครียด ก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้

เพราะผู้ป่วยบางรายจะมีอาการหลังจากได้รับการกระตุ้น แต่แพทย์โดยส่วนใหญ่ให้ความสนใจไปในเรื่องเซลล์สมองที่มีส่วนในการรับรู้ด้านความเจ็บปวดของผู้ป่วยเอง

น่าจะเกิดการทำงานมากกว่าปกติกล่าวคือ รับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดได้ไวกว่าปกติ ในขณะที่เซลล์สมองในส่วนผ่อนคลายความเจ็บปวดกลับทำงานน้อยหรือไม่ทำงานเลย

ผู้ที่เสี่ยงจะเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจีย

  • ผู้หญิงที่อายุ 30-40 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีความเครียดสูง
  • ผู้ที่มีปัญหาในเรื่องการนอนหลับ หรือหลับยาก
  • มีปัญหาทางด้านจิตใจ หรือเคยผ่านเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจแบบรุนแรงมาก

อาการของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย

อาการปวดที่พบมักจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย และมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ลักษณะอาการที่สำคัญของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ได้แก่

  • รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะช่วงเช้า แม้ว่าจะพักผ่อนเพียงพอ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ง่วงตอนกลางวัน
  • มีอาการเหน็บชาตามร่างกาย
  • มีอาการปวดเมื่อถูกสัมผัส
  • กล้ามเนื้อมีอาการอ่อนแรง เป็นตะคริวง่าย
  • มีความรู้สึกไวต่ออุณหภูมิทั้งร้อนและเย็น
  • มีความไวต่อแสง หรือ เสียงดัง
  • ปวดประจำเดือน อาการนี้พบในเพศหญิง
  • ลำไส้เกิดอาการแปรปรวน เช่น ท้องเสียเรื้อรัง ปวดท้องเรื้อรัง
  • มีปัญหาเรื่องการทรงตัวหรือการประสานงานของกล้ามเนื้อ
  • มีปัญหาทางด้านอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยพิจารณาจากการสอบถามอาการปวดของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกาย

ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดติดต่อกันมานานกว่า 3 เดือน วิธีการตรวจร่างกาย คือ แพทย์ต้องกดไปยัง 18 จุด

ซึ่งประกอบด้วย ด้านหน้า 8 จุด คือ ด้านขวาและด้านซ้ายของลำคอ หน้าอกส่วนบน เหนือหัวเข่า และเหนือข้อพับแขนด้านหลัง 10 จุด

คือ บริเวณด้านซ้ายและด้านขวาของคอ เหนือสะบัก ข้างละ 2 จุด ด้านล่างช่วงล่าง และโคนขา

โดยจะใช้ความแรงในการกดเพียงแค่ทำให้เล็บส่วนปลายนั้นซีดขาว ถ้ากดแล้วเจ็บมากกว่าหรือเท่ากับ 11 จุด

และกดแล้วเจ็บทั้ง 4 บริเวณ คือ ขวา ซ้าย เหนือและต่ำกว่าเอว และมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อกลางลำตัว คือ บริเวณคอ หน้าอก

หลังส่วนบน และหลังส่วนล่างร่วมด้วย อาจหมายความผู้ป่วยเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจีย แต่อาจจะมีการส่งตรวจเลือด

และเอกซเรย์เพิ่มเติม หากลักษณะอาการมีความใกล้เคียงกับโรคอื่นๆ ด้วย ซึ่งการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

วิธีรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย

แพทย์จะรักษาโดยการให้ยาที่ออกฤทธิ์ในส่วนของเซลล์สมอง เพื่อแก้ปัญหาของเซลล์สมองรับความเจ็บปวดทำงานมากกว่าปกติ

โดยจะให้ควบคู่ไปกับยากลุ่มลดอาการซึมเศร้าและลดอารมณ์แปรปรวน นอกจากนี้ จะแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายควบคู่ไปกับการใช้ยา

เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ และลดช่วยลดอาการปวดลงได้ ซึ่งถือเป็นการทำกายภาพบำบัดไปในตัวด้วย

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายและตึงเครียด

เพราะความเครียดเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้อาการกำเริบได้ โดยหากการรักษาได้ผล ผู้ป่วยก็จะมีอาการดีขึ้นภายใน 3 ปี

วิธีป้องกันโรคไฟโบรมัยอัลเจีย

ตามที่ทราบกันดีว่ายังไม่สามารถทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ จึงยังไม่มีวิธีการป้องกันได้อย่างเต็มที่

สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะต้องอยู่ในสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ตึงเครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่สามารถป้องกันโรคไฟโบรมัยอัลเจียอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันการเกิดโรคอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย

Credit : lifecenterthailand.com

จากข้อมูลที่นำเสนอไป คงทำให้หลายๆ ท่านได้รับความรู้เกี่ยวกับ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย มากขึ้นจากเดิม

ซึ่งถ้าหากคุณพบว่าร่างกายมีความผิดปกติตามข้อมูลดังกล่าว ไม่ควรสันนิษฐานเอาเอง หรือซื้อมายามากิน

ให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการวินิจฉัยก็ค่อนข้างนาน อาจจะทำให้คุณได้รับการรักษาช้าขึ้น

ถึงแม้ว่าผลออกมาคุณจะไม่ได้เป็นโรคนี้ก็ตาม ซึ่งถ้าโรคอื่นก็จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงทีด้วยเช่นกัน