ปวดท้องน้อยในผู้หญิง อาการธรรมดาแต่เสี่ยงอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

ปวดท้องน้อย

ปวดท้องน้อย (Abdominal pains) เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้หญิง ซึ่งส่วนมากเป็นอาการธรรมดาทั่วไปที่สามารถหายไปได้เอง

ไม่ได้ปวดรุนแรงจนถึงขั้นทนไม่ไหว เมื่อกินยาหรือนอนพักผ่อนให้เต็มที่ก็จะกลับมาเป็นปกติได้ดังเดิม

แต่หากเป็นอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ มักจะเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติที่อาจมาจากโรคภัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงโดยตรง

ซึ่งอาการปวดจะมีหลายระดับขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปเราอาจจะพบว่าเป็นอาการปวดในช่วงก่อนและมีประจำเดือน

เนื่องจากการบีบตัวของมดลูก แม้จะเป็นโรคฮิตที่ใครๆ ก็เป็นได้ แต่เพื่อความปลอดภัยและป้องกันโรคร้ายในอนาคต

ไม่ควรนิ่งนอนใจ หาต้นตอของอาการปวดท้องน้อยให้พบก่อนจะสายเกินแก้กันดีกว่าค่ะ

ลักษณะที่พบได้บ่อยของอาการปวดท้องน้อยในผู้หญิง

อาการปวดท้องน้อย แม้จะเกิดขึ้นในตำแหน่งใกล้เคียงกัน แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่แตกต่างกัน

อีกทั้งอาการปวดยังไม่เหมือนกันด้วย บางคนปวดแบบติดต่อกันยาวๆ ไม่มีหยุดพัก

บางคนปวดเป็นพักๆ แล้วหายไป จากนั้นก็กลับมาปวดใหม่ หรือบางคนก็ปวดแบบตุ๊บๆ เป็นจังหวะอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน ช่วงเวลาที่ใกล้เข้าสู่การเป็นประจำเดือน

ปวดท้องอุจจาระ ปัสสาวะ อาการปวดหลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ หรือปวดขณะและหลังมีเพศสัมพันธ์

อวัยวะสำคัญที่อยู่บริเวณท้องน้อยคือ มดลูก ซึ่งประกอบด้วยปีกมดลูกสองข้าง ลำไส้เล็ก

ลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่ง ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ อาการปวดที่เกิดขึ้นจึงมักเป็นอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งที่เกิดการบาดเจ็บ อักเสบ

หรือทำงานผิดปกติไปจากเดิม พบได้มากในหญิงวัยเจริญพันธุ์ถึงร้อยละ 15-30 ที่จะมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง

หากปล่อยทิ้งไว้นาน จะกลายเป็นปัญหาสุขภาพและกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเอาได้

สาเหตุของอาการปวดท้องน้อย

อาการปวดท้องน้อย ดังที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนมากมาจากความผิดปกติของอวัยวะที่อยู่บริเวณท้องน้อย

คือระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่มีความซับซ้อนมากกว่าในผู้ชาย อาการปวดเรื้อรังจะกลับมาเป็นซ้ำได้เรื่อยๆ ในช่วงมีประจำเดือน

แต่บางอาการก็เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีประจำเดือนก็ได้ ซึ่งจำแนกสาเหตุใหญ่ๆ ออกมาได้ดังนี้

1.อาการปวดขณะมีประจำเดือน จะรู้สึกเหมือนกับถูกเข็มแทง ปวดเกร็ง ติดต่อกันในช่วงแรกที่ประจำเดือนมาประมาณ 2-3 วัน

สาวๆ บางคนยังพบอาการปวดศีรษะ ท้องผูก คลื่นไส้ ปัสสาวะบ่อย ท้องเสีย และอ่อนเพลีย ร่วมด้วย

2.อาการปวดในช่วงที่มีไข่ตก เป็นอาการปวดที่มีความรุนแรงในระยะแรก และจะค่อยๆ หายไปได้เองภายใน 1-2 วัน

จะพบอาการในช่วงกึ่งกลางรอบเดือน ซึ่งสามารถพบเลือดออกจากช่องคลอดแบบกระปริดกระปรอยได้

สาเหตุมาจากการแตกของถุงน้ำภายในรังไข่ จนทำให้เยื่อบุช่องท้องเกิดการอักเสบ

3.อาการปวดอันเนื่องมาจากโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดตำแหน่ง พบได้มากในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์

ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบ มีพังผืดหนาตัว จนนำไปสู่อาการปวดเหมือนเข็มทิ่ม

และยังพบอาการปวดเกร็งในระหว่างมีประจำเดือนอย่างรุนแรง รู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์

และปวดหน่วงผิดปกติตอนอุจจาระ สังเกตได้โดยอาการปวดส่วนมากจะไม่เกี่ยวข้องกับการมีรอบเดือนมากนัก

4.อาการปวดท้องน้อยยังพบได้ในความผิดปกติทางจิตใจที่เรียกกันว่าโรคโซมาโตฟอร์ม (somatoform disorder)

เป็นความผิดปกติที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีความผิดปกติทางกายหรือมีโรคประจำตัว

แต่ก็ไม่สามารถหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยเหล่านั้นได้ บางรายมีภาวะวิตกกังวล มีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ

มีการใช้สารเสพติด มีปัญหาการนอนหลับ ไม่ค่อยมีสมาธิ และมีภาวะซึมเศร้า

5.การบาดเจ็บของอุ้งเชิงกรานอักเสบ, มดลูกอักเสบ, การท้องนอกมดลูก, เนื้องอกในรังไข่,

ปีกมดลูกอักเสบ, ทางเดินปัสสาวะอักเสบ, ไส้ติ่งอักเสบ และลำไส้ใหญ่อักเสบ ก็เป็นต้นตอทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยได้ทั้งสิ้น

ซึ่งนอกเหนือจากนี้ยังสามารถพบอาการปวดจากสาเหตุอื่นๆ ที่หลายคนคาดไม่ถึง นอกจากจะทำการตรวจจากแพทย์เท่านั้น

แนวทางในการวินิจฉัยและรักษาทางการแพทย์

สำหรับการวินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากอาการปวดที่พบมาได้จากหลายสาเหตุ

เมื่อมาพบแพทย์จะมีการตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดเพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างตรงจุด

โดยเริ่มจากการซักประวัติผู้ป่วยถึงลักษณะของอาการปวดที่เกิดขึ้น ช่วงประจำเดือน โรคประจำตัว สภาพจิตใจ

ความเป็นอยู่ ตามมาด้วยการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องมีการตรวจภายในร่วมด้วย

ซึ่งบางโรคก็เป็นโรคที่นอกเหนือจากโรคสตรี อาจจะมีการสอบถามกับแพทย์แผนกอื่นเพื่อหาแนวทางรักษาที่ถูกต้องต่อไป

นอกจากนี้แพทย์ยังสามารถตรวจเพิ่มเติมจากการตรวจร่างกายและตรวจภายในได้ ขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์

เช่น การตรวจอุลตราซาวน์ , การตรวจทางหน้าท้องเพื่อดูอุ้งเชิงกราน, การทำ MRI,

การส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ, การกลืนแป้งตรวจความผิดปกติภายในทางเดินอาหาร

และการฉีดสีเพื่อดูระบบการทำงานของทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

เมื่อพบต้นตอของอาการปวด แพทย์ก็จะทำการรักษาตามอาการและระดับความรุนแรง

ซึ่งมีตั้งแต่การรักษาแบบทั่วไปด้วยการให้ยา ไปจนถึงการผ่าตัด แต่บางรายเป็นอาการปวดท้องที่สามารถหายไปได้เอง

ไม่จำเป็นต้องกินยาหรือผ่าตัดใดๆ เพียงแค่คอยเฝ้าดูอาการและเข้ามาตรวจตามนัดหมายของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

แต่ในกรณีที่มีอาการปวดท้องน้อย ร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น มีภาวะขาดน้ำ กลืนอาหารลำบาก

เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง เจ็บขณะปัสสาวะ ไม่สามารถถ่ายอุจจาระด้วยตัวเองได้ อาเจียน

ปวดหัว และปวดหลัง ควรรีบเข้ารับการตรวจหาสาเหตุจากแพทย์อย่างเร่งด่วน

ปวดท้องน้อย ผู้หญิง
Photo Credit : contemporaryobgyn.modernmedicine.com

อาการปวดท้องน้อยในผู้หญิง เป็นเรื่องที่สาวๆ ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด

ไม่ว่าจะปวดแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ทางที่ดีคือการเข้ารับการตรวจหาสาเหตุจากแพทย์

เพื่อจะได้ทำการรักษาและป้องกันโรคร้ายแรงในอนาคต ให้สาวๆ ได้มีคุณภาพชีวิตที่เป็นสุข และหมดกังวลกับอาการปวดดังกล่าว