ภาวะพังผืดที่จอตา อาการตามัว มองภาพบิดเบี้ยว ที่สาวๆ ไม่ควรนิ่งนอนใจ

พังผืดที่จอตา

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา นอกจากปัญหาสายตาสั้นและสายตายาวแล้ว เราก็แทบไม่อยากจะมีอะไรให้มาสร้างความกังวลใจมากไปกว่านี้

เพราะเพียงแค่การมองเห็นที่ไม่เหมือนเดิม จนต้องใช้อุปกรณ์ช่วย ทำให้การดำเนินชีวิตมีอุปสรรคมากขึ้นได้

แต่หากใครโชคร้ายต้องมาเจอกับภาวะผิดปกติมากมาย ที่พบได้กับดวงตาของเรา

หนึ่งในนั้นที่สามารถเกิดขึ้นได้คือ “พังผืดที่จอตา” (Epiretinal membrane หรือ Macular pucker)

เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้แม้กับในคนที่มีร่างกายปกติแข็งแรงดี ไม่เคยมีประวัติโรคเกี่ยวกับสายตามาก่อน

หรือบางรายอาจจะมาจากการถูกกระทบกระเทือน ทำให้ภายหลังเกิดปัญหาเกี่ยวกับการหลุดล่อนของจอตา

หรือหลอดเลือดอักเสบ ซึ่งผลข้างเคียงของอาการเหล่านี้จะนำมาซึ่งการอักเสบ

ส่งผลให้เกิดพังผืดตามมา ทำให้การมองเห็นผิดปกติอย่างรุนแรง หรือถึงขั้นตาบอดได้เลยทีเดียวค่ะ

ลักษณะของพังผืดที่เกิดขึ้นกับจอตาเป็นอย่างไร?

ภาวะพังผืดที่จอตา ชนิดนี้ มักจะเป็นชนิดที่ไม่มีหลอดเลือเกิดขึ้นบนผิวจอตา

ทำให้เรามองไม่เห็นความผิดปกติได้เองด้วยการส่องกระจก แต่จะพบได้จากความผิดปกติในการมองเห็น

พังผืดจะมีการขยายตัวออกจนไปดึงรั้งจอตาบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะจอตาส่วนลางที่เป็นจุดภาพชัด

เรียกว่า “Macula” ทำให้การมองเห็นผิดเพี้ยนไปจากเดิม สมรรถภาพในการมองเห็นลดลงไปปกติ

พังผืดที่เกาะอยู่บริเวณนี้ จะเป็นแผ่นบางค่อนข้างใสหรือขุ่นมัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อาจมองเห็นเป็นสีขุ่นจางบริเวณผิวจอตา ซึ่งความผิดปกติมักจะเชื่อมโยงกับการหลุดลอดของวุ้นลูกตาส่วนหลัง

ที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากความเสื่อมสภาพของน้ำวุ้น ที่ติดอยู่กับผิวจอตา เกิดหลุดลอก กลายเป็นช่องว่าง

ทำให้เซลล์พังผืดขยายตัวเข้ามาเกาะ หากมีลักษณะขรุขระ เป็นผิวย่น ก็จะทำให้การมองเห็นภาพพร่ามัวและบิดเบี้ยวไปจากเดิม

อาการของภาวะพังผืดที่จอตา

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากนัก พังผืดยังไม่ขยายตัว โดยส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีปัญหาเกิดขึ้น

ยังคงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่หากขนาดของพังผืดขยายตัว อาการจะเริ่มปรากฏจากการมองเห็นภาพที่พร่าเลือน

มองไม่ชัด โดยเฉพาะตรงส่วนกลางภาพ สิ่งที่เห็นอาจจะบิดเบี้ยวไปจากเดิม เช่น เส้นตรง หรือเส้นตาราง

เมื่อมองแล้ว รู้สึกว่าเป็นภาพคดเคี้ยว หรือเป็นขยุ้มตรงกลาง แต่บริเวณภาพรอบๆ ด้านยังคงปกติดีอยู่

บางรายหากมีอาการรุนแรง จะทำให้มองเห็นเลือดออกอย่างชัดเจนที่ผิวจอตา และอาจไหลเข้าไปภายในน้ำวุ้นตาด้วย

และยังพบอีกว่าบางรายมีการหลุดลอดของจอตาบางส่วน ทำให้จุดมองภาพดูมืดลง

หรือหากเกิดเป็นอาการตามัวอย่างฉับพลัน ก็จะเกิดจากการขาดของจอตาส่วนกลางจนเป็นรูขึ้นมา

สาเหตุของการเกิดภาวะพังผืดที่จอตา

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ว่าภาวะนี้สามารถพบได้แม้กระทั่งคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

ไม่เคยมีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคตามาก่อน แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่ดวงตาเคยถูกกระทบกระเทือน

ทำให้จอตาหลุด ฉีกขาด หรือมีโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดบริเวณจอตาจนเกิดการอักเสบ

แม้จะมีแผลหรือไม่มีแผลฉีกขาดจากการบาดเจ็บบริเวณจอตา ก็สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน

ทั้งนี้อาการจะเริ่มต้นจากการอักเสบของเซลล์ จากนั้นจะเจริญเติบโตกลายเป็นพังผืดอย่างช้าๆ พบได้มากในกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 50 ขึ้นไป

สาเหตุที่คาดเดาว่าน่าจะเป็นปัจจัยหลักๆ อันเป็นตัวกระตุ้นคือ อายุที่มากขึ้น มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา

การผ่าตัดดวงตาที่ใช้เวลานาน จอตามีการฉีกขาดขนาดใหญ่ ไปจนถึงผลข้างเคียงจากการรักษาโรคในจอตาด้วยการใช้ความเย็นจี้ ก็ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้ทั้งสิ้น

การรักษาและดูแลตัวเองของผู้ป่วย

ภาวะพังผืดที่จอตา หากไม่ได้มีความรุนแรงมาก ก็ยังไม่จัดว่าเป็นอาการที่จะส่งผลให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด

เมื่อสาวๆ ไม่พบอาการผิดปกติในการมองเห็นเกิดขึ้น ก็ยังไม่ถึงขั้นต้องทำการรักษา นอกจากติดตามผล

สังเกตการเปลี่ยนแปลงในการมองเห็นอย่างสม่ำเสมอ และพบว่าปัญหาของผู้ป่วยที่เกิดอาการแย่ลง

กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จะไม่เลวลงไปจากเดิมแล้ว แต่จะมีการมองเห็นรูปและอาการมัวมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งหากแพทย์ทำการรักษา จะมีการลอกพังผืดที่พบออกด้วยเครื่องมือพิเศษ ร่วมกับการผ่าตัดวุ้นตา

ผู้ป่วยสามารถจะมีสายตากลับมองเห็นได้ดีขึ้นกว่าเดิม หรือบางรายก็กลับมามองเห็นได้ปกติไม่ดีขึ้น

แต่ช่วยกำจัดเอาพังผืดเหล่านั้นออกไป เพราะการปล่อยให้เส้นใยเหล่านี้ขยายตัวดึงรั้งจนจอตาหลุดออกมา

เสี่ยงที่จะนำมาซึ่งภาวะตาบอดตามมาได้ กรณีที่มีผลมาจากโรค SLE แพทย์จะมีการกำจัดพังผืดร่วมกับการรักษาโรคนี้ไปพร้อมๆ กัน

ซึ่งเป็นการควบคุมไม่ให้เกิดปัญหากับดวงตา ตามมาได้อีกในภายหลัง

พังผืดตา

Photo Credit : retinaorangecounty.com

สำหรับการดูแลตัวเอง โรคพังผืดในจอตา มักจะเกิดขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เป็นความเสื่อมสภาพของดวงตาตามธรรมชาติ

การดูแลร่างกายจึงควรใช้วิธีรักษาสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อลดความเสื่อมสภาพของเซลล์ภายในร่างกาย หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา เข้ารับการตรวจตาเป็นประจำทุกปี และหมั่นพักผ่อนสายตาไม่ให้ถูกใช้งานหนักมากเกินไปด้วย