ภาวะเลือดออกในวุ้นตา เกิดจากอะไร อันตรายไหม รักษาอย่างไรให้หาย?

ภาวะเลือดออกในวุ้นตา Vitreous hemorrhage

ภาวะเลือดออกในวุ้นตา เป็นภาวะที่คนไม่ทั่วไปไม่ค่อยรู้ว่ามีความอันตรายต่อดวงตามากเท่าไร

เข้าใจว่าเป็นเพียงจากการที่เส้นเลือดฝอยในดวงตาแตกเพียงเท่านั้น ปล่อยทิ้งไว้ไม่นานโดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษาก็จะหายเป็นปกติได้เอง

แต่รู้หรือไม่ว่า อาจมีอาการแทรกซ้อนบางอย่างของภาวะเลือดออกในวุ้นตา ที่ทำอันตรายต่อจอตา เป็นเหตุให้ตาบอดได้โดยไม่รู้ตัว

เพราะฉะนั้นมาทำความเข้าใจกับโรคนี้กันมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้ภาวะนี้เกิดขึ้นกับดวงตาของเรา

ภาวะเลือดออกในวุ้นตา คืออะไร?

ภาวะเลือดออกในวุ้นตา (Vitreous hemorrhage)  เป็นภาวะที่วุ้นตามีเลือดเข้าไปอยู่ภายใน ซึ่งจะบดบังไม่ให้แสงผ่านเข้าไปในตาได้ เป็นเหตุให้ตาพร่ามัว มองไม่เห็นแบบฉับพลัน

โดยทั่วไปนั้น วุ้นตา จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับวุ้นจริง ๆ คือเป็นเจลใส ๆ มีความหนืด อาศัยอยู่ภายในช่องลูกตาซึ่งมีปริมาตรเป็น 98% ของช่องลูกตาทั้งหมด

ซึ่งวุ้นตานั้นจะทำหน้าที่เป็นอาหารของแก้วตาและเนื้อเยื่อบางชนิด และคงสภาพให้ลูกตามีลักษณะเป็นทรงกลม วุ้นตามีลักษณะใส ไม่มีหลอดเลือดอยู่ภายในบริเวณนี้

เพราะฉะนั้น ถ้าหากเกิดภาวะเลือดออกขึ้นภายในวุ้นตา นั่นย่อมหมายความว่า มีความผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะอื่น ๆ ภายในดวงตา โดยเฉพาะบริเวณจอตาและคอลอยด์ ซึ่งมีหลอดเลือดอยู่ในบริเวณนี้จำนวนมาก

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในวุ้นตา

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในวุ้นตา ทางการแพทย์ได้แบ่งออกมาดังต่อไปนี้

  • มีอาการจอตามเสื่อม อันเกิดจากการเป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคเบาหวานขึ้นตา
  • มีภาวะจอตาขาดไปเอง โดยที่ไม่มีการหลุดลอกออกมา
  • วุ้นตาเสื่อมสภาพ หรือหลุดออกจากจานประสาทตา
  • มีภาวะการเกิดของหลอดเลือดใหม่ เนื่องจากจอตามีปัญหาการอุดตันของหลอดเลือดดำ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในวุ้นตา

  • การเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดชนิดต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดจอตาอุดตัน ทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณจอตาไม่ทั่วถึง เป็นต้น
  • การอักเสบบริเวณส่วนต่าง ๆ ของลูกตา เช่น ม่านตาอักเสบเรื้อรัง, จอตาอักเสบ, หลอดเลือดจอตาอักเสบ เป็นต้น
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจจะมาจากการได้รับอุบัติเหตุ เช่น ลูกตาถูกกระแทกอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้ทะลุออกมานอกเบ้า, มะเร็งลูกตาเมลาโนมา, ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง เป็นต้น

อาการของภาวะเลือดออกในวุ้นตา

โดยทั่วไปอาการของภาวะเลือดออกในวุ้นตา มักจะมีลักษณะ คือ

1.มีอาการตาพร่ามัว โดยไม่มีอาการเจ็บปวด และไม่มีอาการตาแดงแต่อย่างใด ผู้ป่วยจะมีอาการพร่ามัวมาก หรือพร่ามัวน้อย

ขึ้นอยู่กับปริมาณเลือดที่ออกมาอยู่ภายในบริเวณวุ้นตา และตำแหน่งที่มีเลือดออก จะรู้สึกว่ามัวมากตอนเช้าหลังตื่นนอนเป็นพิเศษ แต่เมื่อผ่านไปสัก 2-3 ชั่วโมงจะรู้สึกดีขึ้น

2.เห็นอะไรลอยไปมาคล้ายหยากไย่ บางคนอาจจะรู้สึกเหมือนเห็นเงาหรือเส้นสีแดงเคลื่อนที่ไปมา

3.มีอาการปวดหรือเจ็บในดวงตา หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นโรคต้อหินได้

วิธีรักษาภาวะเลือดออกในวุ้นตา

ในส่วนของการรักษาภาวะเลือดออกในวุ้นตานั้น แพทย์จะเริ่มจากการวินิจฉัยและตรวจดูอาการก่อนว่า สาเหตุของการเกิดภาวะนี้มาจากอะไร

ซึ่งอันดับแรกที่แพทย์จะตรวจเลยก็คือ มีอาการของจอตาหลุดลอกหรือไม่ ถ้าหากปัญหาเกิดจากจอตาหลุดลอก

แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดวุ้นตา ร่วมกับผ่าตัดเพื่อทำการรักษาจอตา แต่ถ้าหากเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ

เช่น มีหลอดเลือดเกิดขึ้นใหม่แล้วไม่แข็งแรง เป็นเหตุให้เลือดซึมออกมาในวุ้นตา หรือมีภาวะรูขาดที่จอตา แพทย์อาจจะใช้วิธีรักษาด้วยการยิงเลเซอร์

เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกซ้ำ ส่วนเลือดที่ออกมาคั่งอยู่ในดวงตานั้น จะสามารถหายไปได้เองภายในเวลาไม่นาน

เว้นแต่กรณีที่เลือดออกมากจนทำให้มองอะไรไม่เห็นเลย แพทย์อาจจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อดูดเลือดที่คั่งอยู่ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง

วิธีป้องกันภาวะเลือดออกในวุ้นตา

การป้องกันภาวะเลือดออกในวุ้นตา ก็คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะขอสรุปออกมา ดังนี้

1.หากมีอาการของโรคเบาหวาน ก็ควรมีการควบคุมระดับน้ำตาล และระดับไขมันไม่ให้สูงเกินไป พ

ร้อมกันนี้ ก็ควรทำการรักษาตัวและเชื่อฟังคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกในวุ้นตา

2.ควรทำการตรวจตากับจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อหาสิ่งผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นกับดวงตาได้

หรือหากพบว่ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาแล้ว จะได้เริ่มทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

3.เมื่อรู้สึกว่า ตามีอาการพร่ามัวผิดปกติ ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรรีบเดินทางไปพบแพทย์ทันที

4.ระมัดระวังอย่าให้ลูกตาได้รับการกระทบกระเทือน ไม่ว่าจะเกิดจากการทำกิจกรรม เล่นกีฬา หรือทำงานก็ตาม

Credit : orami.co.th

ภาวะเลือดออกในวุ้นตา เป็นภาวะที่มีความอันตรายพอสมควรหากปล่อยทิ้งไว้ หรือเพิกเฉยไม่สนใจทำการรักษา ทั้งที่สามารถรักษาให้หายได้

เพียงแค่อาจจะต้องทำการผ่าตัดเท่านั้น ยิ่งถ้ารู้เร็ว รักษาเร็ว ก็มีโอกาสที่จะหายเป็นปกติได้สูง และยังป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกด้วย