โรควัณโรคปอด เป็นโรคติดต่อที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้วว่ามีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต หากผู้ที่ได้รับเชื้อมีภูมิต้านทานที่อ่อนแอลงจนแสดงอาการ
ซึ่งโรคนี้ยังสามารถทำให้เกิดการแทรกซ้อนของโรคฉวยโอกาสอื่นตามมาได้อีกง่ายดายด้วย เนื่องจากปอดจะทำงานด้อยประสิทธิภาพลงจากเดิม
ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคต่างๆ ได้ วัณโรคปอด เป็นโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ
ถึงแม้ว่าวิวัฒนาการทางการแพทย์จะสามารถควบคุมการระบาดได้ แต่ก็ยังพบเห็นได้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงช่วง 10 ปีให้หลังที่มีความรุนแรงอย่างหนัก
มีผู้เสียชีวิตนับล้านคนต่อปี ดังนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ระวัง และป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรคนี้ได้
โรควัณโรคปอด คืออะไร?
โรควัณโรคปอด (Tuberculosis) เรียกสั้น ๆ กันว่าโรค TB (แต่ในโบราณมักจะเรียกกันว่าเป็นโรคฝีในท้อง)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในปอด และจะแพร่กระจายสู่ผู้อื่นด้วยการไอ จาม โดยไม่ปิดปาก ซึ่งเชื้อโรคก็จะกระจายเข้าสู่อากาศในทันที
เพราะฉะนั้นหากจะกล่าวว่า ไม่มีบริเวณไหนของอากาศที่ไม่มีเชื้อวัณโรคก็คงจะถูกต้องเกือบทั้งหมด เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า
คนที่กำลังไอ หรือจามอยู่นั้น เป็นวัณโรคหรือไม่ เพียงแต่เชื้อโรคที่เราได้รับผ่านการหายใจอาจจะยังมีปริมาณที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการติดต่อนั่นเอง
ถึงแม้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นในปอด แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดกับอวัยวะอื่นไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาแพทย์ก็พบว่า เชื้อวัณโรคปอดนี้
สามารถพบได้ในอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ระบบประสาทและสมอง ต่อมน้ำเหลือง
กระดูกและข้อ จึงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในที่สุด
โดยวัณโรคปอดนี้ ถือว่าเป็นโรค 1 ใน 10 ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลกมากที่สุด มักพบในประเทศที่ยังด้อยพัฒนา
และกำลังพัฒนา เพราะประชาชนมีฐานะยากจน และต้องอยู่อาศัยอย่างแออัด เมื่อมีผู้ป่วยก็จะทำให้เกิดการระบาดได้
สาเหตุของโรควัณโรคปอด
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ “ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส” หรือ เชื้อ AFB ที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้นว่า
การแพร่กระจายของโรค เกิดจากการไอ จาม โดยไม่ปิดปากของผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้ละอองเสมหะของผู้ป่วยฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ
และจะแขวนลอยเช่นนั้นเป็นเวลานานหลายชั่วโมงกว่าที่จะหายไป โดยการไอเพียงแค่ครั้งเดียว อาจมีละอองเสมหะออกมามากกว่า 2,500 ละออง
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าคนธรรมดาที่ได้รับเชื้อวัณโรคแล้วจะต้องแสดงอาการทันที เพราะการจะเป็นโรควัณโรคปอดที่เกิดจากการติดต่อได้นั้น ต้องได้รับเชื้อในปริมาณมาก
ซึ่งส่วนมากแพทย์มักจะพบว่าผู้ได้รับเชื้อ คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นเวลานาน มากกว่า 120 ชั่วโมง/เดือนขึ้นไป
ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้น้อย แต่ก็พบได้เรื่อยๆ คือ การที่ผู้ป่วยเป็นเด็กที่ได้รับเชื้อจากวัวที่ป่วยเป็นวัณโรค ผ่านการดื่มนมวัวที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์
อาการของโรควัณโรคปอด
ปกติแล้ว อาการของโรควัณโรคปอด มักจะไม่แสดงออกมาในทันที แต่จะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละนิด เพราะภูมิคุ้มกันจะช่วยต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอยู่
แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอ ก็มีโอกาสที่อาการของโรคจะแสดงได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แพทย์จึงได้แบ่งอาการของวัณโรคออกเป็น 2 ระยะ คือ
วัณโรคแบบแสดงอาการทันที อาการของโรคอาจเกิดขึ้นภายหลังได้รับเชื้อไม่กี่สัปดาห์ จนถึงระยะเวลาหลายปี
โดยจะมีอาการอย่างชัดเจนภายในปอด ซึ่งจะแสดงอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการคล้ายหลอดลมอักเสบ ไอแห้งอย่างหนัก ต่อมาจะเริ่มมีเสมหะสีเขียวข้นหรือเหลือง มักรู้สึกเหมือนจะเป็นไข้อยู่บ่อย ๆ
- รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง และจะไอถี่มากขึ้น บางรายอาจถึงขั้นไอเป็นเลือดออกมา
- แน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด รู้สึกหอบหรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
วัณโรคแฝง อาการของโรคจะไม่เกิดขึ้น หากเชื้อไม่ได้รับการกระตุ้น อธิบายก็คือ ผู้ป่วยอาจจะได้รับเชื้อแล้ว
แต่ด้วยความที่ร่างกายแข็งแรงก็จะไม่พบปัญหาใด ๆ อาจจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่อาการของโรคแสดงจนมีความรุนแรงมากแล้ว
ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยอาจมีโอกาสเสียชีวิตสูงภายในระยะเวลา 2 ปี มากถึง 50%
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ด้วยความที่ปอดไม่สามารถกรองเชื้อโรคได้อย่างที่ควรจะเป็น รวมไปถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปตามอวัยวะต่าง ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้ เช่น
วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณข้างคอ หากแตกจะทำให้มีหนองไหลส่งกลิ่นรบกวน และอาจทำให้แผลติดเชื้อ
วัณโรคลำไส้ มีอาการท้องเสียแบบเรื้อรัง หากรุนแรงอาจพบอาการท้องบวม (ท้องมาน)
วันโรคกล่องเสียง ผู้ป่วยจะมีเสียงแหบไปตลอดชีวิต
วัณโรคกระดูก มีอาการปวดตามบริเวณที่เชื้อโรคแพร่กระจายไป
วิธีรักษาโรควัณโรคปอด
ถึงแม้ว่าวัณโรคปอดจะมีความน่ากลัว แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ในระยะเวลาไม่นาน โดยมีวิธีการรักษาทางการแพทย์คือ
1.ให้ยารักษาวัณโรคหลายชนิดร่วมกัน ในที่นี้แพทย์จะเรียกว่าเป็นสูตร โดยสูตรที่ดีที่สุดคือสูตร 6 เดือน
ซึ่งแพทย์จะให้ยา 4 ชนิดร่วมกัน คือ Isoniazid, Pyrazinamide, Ethambutol และ Rifampicin ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ก็อาจจะต้องรักษาตามอาการ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของผู้ป่วย เช่น ให้ยาบำรุงโลหิต ให้วิตามินรวม เป็นต้น
2.ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเอง ด้วยการทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไปพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ
เพื่อติดตามอาการซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้น และผู้ป่วยควรแยกตัวเองออกมาให้ห่างจากคนอื่น ๆ อย่าคิดว่าเป็นโรคที่น่ารังเกียจ
แต่ให้คิดว่าทำเพื่อตัวเองและคนที่ตัวเองรัก เพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อออกไป จนกว่าอาการจะดีขึ้น (2-3 เดือนหลังเริ่มทำการรักษา)
3.หมั่นสังเกตตัวเองว่ามีความผิดปกติใด ๆ บ้าง เช่น ทานยาเท่าไรก็ไม่ดีขึ้น หรือพบอาการข้างเคียงจากการใช้ยา
ต้องรีบแจ้งแพทย์ทันที เพราะอาจพบอาการดื้อยา ซึ่งแพทย์จะทำการปรับเปลี่ยนยาให้ใหม่
วิธีป้องกันโรควัณโรคปอด
การป้องกันวัณโรคปอดที่ดีที่สุด คือการดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ
ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคมีการเจริญเติบโตแล้ว
แต่หากว่าต้องทำงานอยู่ในสถานที่แออัด หรืออากาศไม่ถ่ายเท เช่น โรงพยาบาล เรือนจำ
หรือต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรควัณโรคปอดอยู่ตลอดเวลา ควรฉีดวัคซีนป้องกัน BCG เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
แต่ถ้าเคยได้รับวัคซีนนี้มาก่อนแล้ว จะไม่สามารถรับซ้ำได้ แต่ก็ป้องกันได้ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง
Credit : thaisabuy.com
โรควัณโรคปอด อาจจะเป็นโรคที่มีความร้ายแรงสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจรายละเอียดของโรคนี้ และอาจจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าโรคนี้เป็นโรคน่ารังเกียจ
ซึ่งจะบั่นทอนจิตใจของผู้ป่วยให้เกิดความท้อแท้ได้ เพราะฉะนั้นคนใกล้ชิดจึงต้องให้กำลังใจ และรีบพาไปรักษา
เพราะสามารถรักษาให้หายขาดได้ในระยะเวลาไม่นาน เพียงแค่ดูแลตัวเองตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง ก็มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เหมือนเดิม