อุบัติเหตุในผู้สูงอายุที่ควรเฝ้าระวัง พร้อมวิธีรับมือป้องกันอย่างถูกต้อง

อุบัติเหตุในผู้สูงอายุ

อุบัติเหตุในผู้สูงอายุ คือเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับคนที่คุณรักเลยแม้แต่น้อย

เพราะการเกิดอุบัติเหตุขึ้นแม้เพียงครั้งเดียวอาจจะเปลี่ยนชีวิตคนที่คุณรักไปเลยตลอดกาล

ซึ่งความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุนั้นก็มีมากมายหลายรูปแบบเลยทีเดียว โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ ที่แก่ตัวมากหรือมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง

เช่น การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือหูตึง ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงมาก เราจึงควรดูแลใส่ใจผู้สูงอายุอย่างชิดใกล้อยู่ตลอด

และวันนี้เราก็จะพาคุณไปดูว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง พร้อมวิธีรับมือป้องกันอย่างถูกต้อง

ทำความรู้จักอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ

อุบัติเหตุ คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ทันตั้งตัว ซึ่งสามารถส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สิน

หรือได้รับการบาดเจ็บทางร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดจากความประมาทเลินเล่อของตัวบุคคล

โดยอุบัติเหตุนั้นสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัน แต่วัยที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดก็คือ วัยสูงอายุนั่นเอง

โดยเฉพาะวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60-65 ปีขึ้นไป ซึ่งมีทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยปกติแล้ว เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น

สุขภาพร่างกายก็จะค่อยๆ เสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ทำให้ลำบากขึ้น

เช่น ข้อเข่าเสื่อม ทำให้ไม่สามารถเดินหรือยืนนานๆ ได้ ตาเสื่อม ทำให้การมองเห็นแย่ลง มองไม่ชัด

เนื่องจากประสาทตามีความเสื่อมสภาพลง หรือหูตึง ไม่ได้ยินเสียงของแตรรถยนต์ ตลอดจนสิ่งรอบข้าง เป็นต้น

ซึ่งปัญหาสุขภาพเหล่านี้ ล้วนมีโอกาสที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุได้ง่าย และเมื่อเกิดแล้ว

ก็อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ ข้อสะโพกหัก หรือเลือดคั่งในสมอง เป็นต้น

สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ

สาเหตุในการเกิดอุบัติเหตุขึ้นในผู้สูงอายุนั้น แบ่งออกได้ด้วยกันหลากหลายปัจจัย โดยมีดังนี้

1.เกิดจากสภาพร่างกายที่เสื่อมลง

เช่น หูชั้นในเสื่อม ส่งผลทำให้ระบบการทรงตัวไม่ดี หรือเคลื่อนไหวเร็วไม่ได้ หูตึง ทำให้ไม่ได้ยินเสียงจากรอบข้าง

หรือเสียงแตรรถ สายตาเสื่อมลง ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น ทำให้มองเห็นไม่ชัดแม้ในระยะใกล้

จนเดินชนกับสิ่งที่กีดขวางได้และอาจทำให้ล้มลง อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อหรือกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพลง

เช่น กล้ามเนื้อเกิดความอ่อนแรง ประสาทสัมผัสเสื่อม จึงทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้ลำบาก

2.เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ผู้สูงอายุต้องพบเจอ

เช่น ผู้สูงอายุอยู่ในพื้นที่ที่ชื้นแฉะ มีน้ำนอง เสี่ยงที่จะทำให้ลื่นล้มง่าย, พื้นที่ที่มีข้าวของวางระเกะระกะทางเดิน

ไม่ได้รับการจัดเก็บสิ่งของต่างๆ เข้าที่ให้เป็นระเบียบ จนเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเดินชนหรือเดินสะดุดล้มได้,

พื้นที่มีแสงสว่างน้อย ซึ่งจะให้ผู้สูงอายุมองเห็นไม่ชัด หรือพื้นที่ที่มีความต่างระดับของพื้น ก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเช่นกัน

3.เกิดจากเสื้อผ้าหรือของใช้ที่ไม่มีความเหมาะสม

เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าที่ยาวรุ่มร่าม อาจจะทำให้เดินไม่สะดวกและเกิดการสะดุดล้มระหว่างทางได้

การใส่รองเท้าฟองน้ำ ซึ่งเป็นรองเท้าที่พื้นมีความลื่น และไม่เกาะติดพื้น ซึ่งอาจจะทำให้ผู้สูงอายุลื่นล้มได้ เป็นต้น

4.เกิดจากการใช้ยาที่ส่งผลต่อสมอง

เช่น ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยาแก้แพ้ และยาลดความดัน เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้ส่งผลทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการง่วงเบลอ

จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะการใช้ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอนหรือเบลอ

ยิ่งไม่เหมาะสมกับผู้สูงอายุที่อยู่ในระหว่างการเดินทางโดยการใช้รถใช้ถนนอย่างเด็ดขาด เพราะจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ค่อนข้างสูงนั่นเอง

5.ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ทำให้ต้องมีคนคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา และเมื่อใดที่ขาดคนดูแลก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่ายเช่นกัน

อุบัติเหตุในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย มีอะไรบ้าง?

อุบัติเหตุของผู้สูงอายุมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ และเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวอย่างมากอีกด้วย

เราไปดูกันว่าอุบัติเหตุในผู้สูงอายุอะไรบ้างที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ รอบตัว เพื่อจะได้รับมือเฝ้าระวังกันอย่างทันท่วงที

การหกล้มหรือลื่นล้ม เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงกว่าประเภทอื่นๆ

เช่น การลื่นล้มในห้องน้ำ เนื่องจากการลื่นล้มอาจจะส่งผลทำให้ผู้สูงอายุได้รับการกระทบกระเทือนทางร่างกาย

เช่น ทำให้กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือเกิดการแตกหักขึ้น

ศีรษะกระแทกทำให้เลือดคั่งในสมอง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้

อุบัติเหตุที่เกิดจากท้องถนน เช่น ผู้สูงอายุถูกรถชน เนื่องจากไม่เสียงแตรเพราะหูตึง

มองไม่เห็นรถที่กำลังวิ่งผ่านเนื่องจากสายตาเสื่อมลงทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน

การพลัดตก ส่วนมากมักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65-75 ปี เช่น การตกเตียง ตกบันได ตกเก้าอี้ ตกหลุม และตกท่อ เป็นต้น

ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เนื่องจากประสาทสัมผัสความรู้สึกร้อนเสื่อมลง เช่น ขณะอาบน้ำ หรือปรุงอาหาร เป็นต้น

การสำลัก มักจะเกิดขึ้นระหว่างช่วงที่รับประทานอาหาร น้ำและยา ทำให้สิ่งเหล่านี้เข้าไปติดค้างอยู่ในหลอดลม ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการหายใจที่ติดขัด หรือหายใจไม่ออก

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุ

1.อย่าปล่อยให้พื้นเปียกหรือมีน้ำนอง ควรรีบหาผ้ามาเช็ค เพราะอาจจะทำให้เกิดการลื่นล้มได้

สำหรับห้องน้ำให้เลือกใช้พื้นที่มีความหยาบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลื่นล้ม

2.ควรจัดที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ โดยหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดหลายๆ ชั้น

เช่น ให้พักอยู่ที่บริเวณชั้นล่างของบ้าน ควรให้ใกล้ห้องน้ำด้วยเพื่อลดการเดินให้น้อยลง

3.ควรเพิ่มแสงสว่างตรงทางเดินให้เพียงพอ เพื่อผู้สูงอายุจะได้มองเห็นได้ชัดขึ้น ลดความเสี่ยงในการเดินชนสิ่งกีดขวางจนง่ายต่อการล้ม

4.ควรจัดวางของใช้ภายในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย อย่าวางข้าวของกีดขวางทางเดิน

ควรจัดเก็บของใช้ให้เป็นระเบียบ เพราะอาจจะทำให้ผู้สูงอายุเดินเตะ เหยียบหรือสะดุดข้าวของจนหกล้มได้

5.ควรจัดที่นอนให้เหมาะสม โดยเฉพาะเตียงนอนไม่ควรสูงจนเกินไป เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถลุก นั่ง นอน ได้อย่างสะดวก

6.ควรให้ผู้สูงอายุใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมและพอดี ไม่เล็กจนรัดแน่นหรือยาวรุ่มร่ามจนเกินไป เพื่อที่จะเดินได้อย่างสะดวก

เพราะหากชุดหรือเสื้อผ้าที่สวมใส่ยาวรุ่มร่ามเกินไป อาจจะทำให้เดินเหยียบชายผ้าแล้วสะดุดหกล้มได้

7.ควรให้ผู้สูงอายุหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ โดยออกกำลังกายแบบเบาๆ เช่น การยืนย่ำอยู่กับที่

เดิน แกว่งแขน เล่นโยคะ หรือรำไท่เก๊ก เป็นต้น เพื่อฝึกให้มีการทรงตัวที่ดี หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย

แบบที่ต้องออกแรงกระแทกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บต่อกระดูกและข้อต่อ

โดยเฉพาะหากผู้สูงอายุท่านใดที่มีปัญหากระดูกข้อหรือข้อเข่าเสื่อม อาจจะออกกำลังกายในน้ำแทน และควรมีผู้คอยดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ

Credit : zdrowie.enel.pl

อุบัติเหตุในผู้สูงอายุ นับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายทีเดียว ดังนั้น การมี ผู้สูงอายุ อยู่ในครอบครัว

คนในครอบครัวควรให้การดูแลและเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ เพราะผู้สูงอายุไม่ได้มีสภาพร่างกายที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต

เนื่องจากไม่ได้มีร่างกายแข็งแรงเหมือนเดิม จึงทำให้ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างคนปกติทั่วไป

พยายามอย่าละเลย เพราะการละสายตาเพียงชั่วนาทีก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นได้

และเพื่อความปลอดภัยของญาติผู้ใหญ่ ควรทำตามคำแนะนำข้างต้น

พยายามหลีกเลี่ยงในสิ่งที่อาจจะส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุนั่นเอง