เล็บเป็นเชื้อรา เชื้อราที่เล็บ จุดขาวๆ หรือสีเหลือง ที่เกิดขึ้น จนแอบสงสัยว่านั่นคืออะไร ทำให้สาวๆ หลายคนที่เจอกับปัญหานี้แทบจะหมดความมั่นใจในตัวเองกันไปเลยทีเดียว แถมเล็บที่งอกออกมาใหม่ก็ยังมีลักษณะเหมือนเดิม ไม่ยอมหายไปซักที
หากมีต้นตอมาจากเชื้อรา แล้วปล่อยทิ้งเอาไว้นานวัน สีเล็บก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป ไม่มีสีสันแวววาวเหมือนดังเดิม มีลักษณะหนา ขอบด้าน และอาจเป็นริ้วคลื่นไม่เรียบ บางรายมีอาการเจ็บที่เล็บอีกด้วย
โรคนี้ใครเป็นแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่รักษาได้ยาก พบได้บ่อยในกลุ่มคนที่ใช้มือหรือเท้าสัมผัสน้ำเป็นประจำ หรือมีความเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา เช่น แม่ค้าขายผลไม้ พนักงานล้างจาน และชาวสวน เป็นต้น
ดังนั้นแม้จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่เชื้อราที่เล็บก็เป็นสิ่งรบกวนใจ สร้างความเสียหายให้อวัยวะส่วนนี้ในระยะยาวได้ไม่น้อย
เพราะฉะนั้นหากสาวๆ สังเกตพบความผิดปกติ ทางที่ดีให้รีบแก้ไข ก่อนที่มันจะลุกลามจนยากต่อการรักษาตามมาในภายหลังนั่นเองค่ะ
เล็บเป็นเชื้อรา เกิดจากอะไรได้บ้าง ?
ต้นตอที่ทำให้เกิดโรคเชื้อราที่เล็บ จะมาจากเชื้อราในกลุ่ม “dermatophytes” และยังสามารถเกิดขึ้นได้จากเชื้อรากลุ่มอื่นหรือยีสต์ ที่สามารถอาศัยอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นและอบอุ่น
ไม่ว่าจะเป็นห้องอาบน้ำ สระว่ายน้ำ หรือตามอ่างล้างจาน เชื้อราเหล่านี้สามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายเราได้ทางบาดแผล
แม้จะเป็นบาดแผลขนาดเล็กที่เราแทบไม่รู้สึกหรือมอไม่เห็น โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนังของเล็บ
มือและเท้าของเราที่สัมผัสกับความชื้นได้ง่าย หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็เสี่ยงที่จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโต กระจายตัวเพิ่มมากขึ้นจนมองเห็นได้ชัด
ส่วนใหญ่แล้วจะพบเชื้อราได้ที่บริเวณเล็บเท้า การติดเชื้อบริเวณเล็บเท้ามีโอกาสเกิดได้มากกว่าในส่วนอื่นๆ
นั่นก็เป็นเพราะว่า ระบบไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงนิ้วเท้าน้อยกว่านิ้วมือ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
มีการติดเชื้อง่ายกว่านั่นเอง นอกจากนี้ในกลุ่มที่เคยมีประวัติครอบครัวเป็นเชื้อราที่เล็บมาก่อน
จะยิ่งมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป รวมถึงคนที่มีเหงื่อออกมาก ใส่รองเท้าและถุงเท้าที่มีความอับชื้น
ชอบเดินเท้าเปล่าไปตามพื้นที่มีน้ำสกปรกขังอยู่ หรือบริเวณสระว่ายน้ำ มีบาดแผลที่เล็บสัมผัสกับน้ำและความชื้นบ่อยๆ
และผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งจะมีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มาก และเป็นสาเหตุที่ควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย
เล็บเป็นเชื้อรา จะมีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง ?
สังเกตได้ว่า เล็บที่เป็นเชื้อรา จะมีขนาดของเล็บที่หนาขึ้นกว่าปกติ มีเล็บที่ผิดรูปทรง
บิดเบี้ยวไปจากเดิม เล็บแตกตัวเป็นขุย และอาจพบเนื้อตายอยู่ใต้ผิวหนังเล็บเป็นสีดำมองเห็นได้ชัด
อีกทั้งเล็บที่ติดเชื้อรากระจายตัวแพร่ไปมากแล้ว เล็บจะแยกตัวออกจากผิวใต้เล็บ
อาจรู้สึกเจ็บ มีรอยหยักเป็นลูกคลื่น มีสีคล้ำมากขึ้น อมเขียวหรือน้ำตาล และมีกลิ่นเหม็น
เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักจะเป็นอาการชนิดเรื้อรังที่ต้องใช้เวลาในการรักษาที่ยาวนานอยู่พอสมควร
เล็บเป็นเชื้อรา ต้องรักษาอย่างไรดี ?
แม้จะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่เชื้อราที่เล็บกลับเป็นโรคที่รักษาได้ไม่ง่ายนัก
เนื่องจากการรักษาจำเป็นต้องใช้เวลานาน อาการเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง
ต้องหมั่นทำความสะอาดและหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลให้เชื้อราเจริญเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม การรักษาเชื้อราที่เล็บจึงมีหลายวิธีด้วยกัน คือ
1.ใช้ยาทาเล็บเพื่อฆ่าเชื้อรา
สำหรับคนที่ทราบว่าเล็บเกิดการติดเชื้อราขึ้นมาแล้วไม่นาน และมีอาการไม่มากนัก จะใช้ยาฆ่าเชื้อแบบทาคือ ciclopirox (Penlac) ทาที่บริเวณเล็บและผิวหนังรอบๆ วันละ 1 ครั้ง ให้ครบ 7 วัน แล้วทำการเช็ดออกด้วยแอลกอฮอล์ ก่อนจะกลับทำซ้ำเช่นเดิมอีกติดต่อกันนานถึง 1 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ยุ่งยาก และใช้เวลานาน ในปัจจุบันจึงไม่ค่อยนิยมใช้วิธีนี้กันเท่าใดนัก
2.การรับประทานยาฆ่าเชื้อ
ในการรับประทานยาฆ่าเชื้อเพื่อกำจัดเชื้อราที่เล็บ เป็นวิธีที่จัดได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงเป็นอย่างมาก
ซึ่งยาที่ใช้รับประทานได้แก่ itraconazole และ Terbinafine ซึ่งนิยมใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มีความจำเป็นต้องรีบรักษาอาการให้หายเป็นปกติอย่างเร่งด่วน
Photo Credit : webmd.com
ในรายที่มีอาการเจ็บและติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมไปถึงคนที่ต้องการให้เล็บของตัวเองสวยงาม สำหรับคนที่เป็นเชื้อราที่เล็บ จำนวนมาก อาจจะต้องใช้วิธีผ่าตัด
เนื่องจากการติดเชื้อที่รุนแรงหรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน มีการถอดเล็บออก เพื่อให้เล็บใหม่งอกออกมา พร้อมดูแลรักษาเล็บในระหว่างนั้นด้วย ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น และกลับมามีเล็บที่สวยสะอาดได้ดังเดิมนั่นเองค่ะ