หากใครเป็นคนขี้ร้อน รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเหงื่อออกง่าย และแต่ละครั้งก็มีเหงื่อออกเยอะกว่าคนทั่วไป
เทียบกันดูแล้วในบางครั้งที่อยู่ในสภาพอากาศเดียวกัน อาจจะเห็นว่าตัวเองมีเหงื่อท่วมตัวทั้งมือและเท้าที่เปียกชื้น
เสื้อผ้าแฉะเหมือนคนเพิ่งตกน้ำมา แต่เพื่อนแทบจะไม่มีเม็ดเหงื่อผุดขึ้นมา เสื้อผ้าก็ยังดูปกติ
อาจมีผุดพรายขึ้นมาบ้างก็เพียงเล็กน้อย แต่ถามแล้วก็บอกว่ารู้สึกร้อนเหมือนๆ กัน
หรือบางคนแม้จะไม่ได้อยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจนเกินไป เหงื่อเจ้ากรรมก็ถูกขับออกมามากมายจนรู้สึกรำคาญและไม่มั่นใจ
แบบนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากภาวะที่เรียกกันว่า “Hyperhidrosis” หรือภาวะเหงื่อหลั่งมาก
บ่งบอกได้ถึงความผิดปกติในกลไกการระบายเหงื่อ หากสาวๆ คนไหนกำลังเผชิญปัญหารบกวนใจแบบนี้อยู่
ลองมาดูสาเหตุ และการแก้ไข ที่จะช่วยให้อาการดังกล่าวดีขึ้นมาได้ค่ะ
ทำความรู้จักกับ “เหงื่อ” และกลไกการทำงาน
เหงื่อที่ถูกระบายออกมาตามรูขุมขนเกิดขึ้นจากระบบกลไกระบายความร้อนของร่างกายตามธรรมชาติ
ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการขับของเสียอย่างหนึ่งผ่านทางเหงื่อ ซึ่งจะช่วยทำให้รู้สึกเบาตัวและเย็นสบายมากขึ้น
ยิ่งอากาศร้อน สาวๆ ก็จะยิ่งพบว่าตัวเองมีปริมาณเหงื่อมากขึ้น
นั่นก็เป็นเพราะร่างกายกำลังลดอุณหภูมิภายในของตัวเองให้เย็นลง โดยต่อมเหงื่อที่พบในร่างกายจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ
1.ต่อม Eccrine sweat gland
เป็นต่อมชนิดที่สร้างเหงื่อขึ้นมา จะกระจายอยู่ทั่วไปตามร่างกาย ยกเว้นที่อวัยวะเพศ ปุ่มกระสัน ริมฝีปาก พบได้มากที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า
2.ต่อม Apocrine sweat gland
เป็นต่อมเหงื่อที่สร้างเหงื่อพร้อมสร้างกลิ่น จะเป็นต่อมที่มีอยู่เฉพาะจุดบนร่างกาย
คือส่วนของอวัยวะเพศภายนอก รักแร้ รอบๆ ทวารหนัก เป็นต่อมที่เริ่มทำงานเมื่อร่างกายเจริญเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
แต่ในบางรายจะพบว่า มีต่อมเหงื่อชนิด Apoeccrine sweat gland เพิ่มขึ้นมาด้วย
เป็นต่อมเหงื่อที่พบได้แค่บริเวณรักแร้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เริ่มทำงานเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเช่นเดียวกัน
จะมีทั้งปริมาณเหงื่อที่ออกมาและกลิ่นพร้อมๆ กัน แต่ปริมาณเหงื่อจะออกมากกว่าถึง 10 เท่า
คนที่มีต่อมนี้มาก จะพบการหลั่งเหงื่อใต้รักแร้ในปริมาณมากตามมา
เหงื่อออกง่าย ออกเยอะ กับภาวะหลั่งเหงื่อมากที่ควรรู้จัก
ภาวะเหงื่อออกมากจนรู้สึกได้ถึงความผิดปกติ เรามักเรียกกันว่า “ภาวะหลั่งเหงื่อมาก”
หรือภาวะเหงื่อท่วม เกิดขึ้นจากต่อมเหงื่อชนิด Eccrine มีการสร้างเหงื่อขึ้นมาในปริมาณมาก
จนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นความผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะเหงื่อออกชุ่มอยู่เสมอ
ไม่ว่าร่างกายจะอยู่ในสภาพอากาศที่ไม่ได้ร้อนอบอ้าวจนเกินไป โดยทั่วไปอาการดังกล่าวไม่ใช่โรค
และไม่ใช่อาการเจ็บป่วย จึงไม่ส่งผลกระทบร้ายแรง ทว่าจะสร้างปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกรำคาญ เหนียวเหนอะหนะ ความไม่มั่นใจ
และกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ที่บางครั้งการใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายทั่วไปแทบจะเอาไม่อยู่กันเลยทีเดียวค่ะ
สาเหตุของการเกิดภาวะเหงื่อออกง่ายและเยอะผิดปกติ
1.สาเหตุในการเกิดภาวะเหงื่อออกง่าย มีทั้งแบบที่ไม่ทราบสาเหตุ
ไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีปริมาณเหงื่อออกมากขึ้นในช่วงเวลาไหน
แต่ส่วนมากจะพบได้ในช่วงเวลากลางวัน และกลางคืนบ้างเป็นครั้งคราว
จัดอยู่ในสาเหตุขั้นปฐมภูมิ (Primary hyperhidrosis หรือ Idiopathic hyperhidrosis หรือ Essential hyperhidrosis)
2.สาเหตุที่เกิดภาวะเหงื่อออกเยอะแบบทราบสาเหตุ จะจัดอยู่ในสาเหตุขั้นทุติยภูมิ (Secondary hyperhidrosis)
จะมีเหงื่อออกมือ เหงื่อออกเท้า ซึ่งจะเป็นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า รักแร้
และบางส่วนของร่างกาย เป็นเพียงบางแห่งเท่านั้น การหลั่งเหงื่อผิดปกติในลักษณะนี้จะออกมาในช่วงกลางวัน
เรียกกันว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด (Focal hyperhidro sis) แต่หากเป็นการหลั่งเหงื่อทั่วทั้งตัว
จะเรียกว่า ภาวะหลั่งเหงื่อมากทั่วตัว (Generalized hyperhidrosis)
สามารถพบได้ทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน หรือจะเป็นช่วงใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้น
3.กรณีที่มีตัวกระตุ้นเด่นชัด เช่น ความเครียด การออกกำลังกาย อากาศที่ร้อนอบอ้าว
การกินอาหารเผ็ดจัดหรือร้อนจัด ตื่นเต้น หวาดกลัว หรือมีอาการไข้ ก็จะทำให้มีปริมาณเหงื่อมากกว่าปกติได้เช่นกัน
4.สาเหตุที่มีเหงื่อออกผิดปกติในช่วงเวลากลางคืน มักจะเกิดขึ้นขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับ
หลังจากตื่นแล้วกลไกการขับเหงื่อจะหยุดทำงาน แต่บางรายจะพบอาการไข้อ่อนเป็นครั้งคราวร่วมด้วย
5.อาการเหงื่อออกเยอะผิดปกติ ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยภายนอก หรือปัจจัยภายในได้ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับตัวกระตุ้นด้วย
อาการเหงื่อออกง่าย เหงื่อออกมาก เป็นอย่างไรบ้าง?
1.ภาวะหลั่งเหงื่อมาก พบว่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเฉพาะจุด ในรายที่มีเหงื่อออกง่าย เหงื่ออกที่รักแร้
เหงื่ออกมือ เหงื่อออกเท้า จะเป็นรายที่พบได้บ่อย พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นที่รักแร้ อาจร่วมกับฝ่ามือฝ่าเท้า
2.เหงื่อออกมากผิดปกติ จะพบได้ที่ฝ่ามือ และรักแร้ สามารถเป็นได้ตั้งแต่ในเด็ก 80 เปอร์เซ็นต์
ส่วนในวัยรุ่นจะอยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ บางคนมีอาการมานานแล้วแต่ไม่เคยสังเกต
อาจจะเป็นมาหลายปี จนอาการค่อยๆ ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นในช่วงวัยรุ่น
ส่วนในผู้ใหญ่จะพบความผิดปกติได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากจะเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ในวัยรุ่นแล้ว
3.อาการทั่วไปที่พบ คือเหงื่อออกมากผิดปกติเพียงอย่างเดียว ในกรณีที่เกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถระบุได้
และจะเกิดอาการขึ้นเฉพาะจุด เช่น รักแร้ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หนังศีรษะ หลังใบหู เป็นต้น
4.อาการที่จะบ่งบอกว่ามาจากภาวะหลั่งเหงื่อมาก จะต้องเกิดความผิดปกติโดยไม่มีอาการอื่นใดร่วมด้วยเลยมาอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
และปริมาณของเหงื่อที่ออกมากผิดปกติมักจะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองซีกของร่างกาย ทั้งซ้ายและขวา
5.มีภาวะเหงื่อออกเยอะจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก
6.ปริมาณเหงื่อออกเยอะ เกิดขึ้นบ่อยครั้งประมาณ 1 ครั้งต่อสัปดาห์
7.มักมีอาการรวมกับภาวะเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง ไอเรื้อรัง ปัสสาวะมากและบ่อย แต่อาการทั้งหมดก็จะไม่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
บางรายมีอาการเพียงบางอย่างเกิดขึ้นร่วมด้วยเท่านั้น หรือไม่มีอาการร่วมเลยก็ได้
การรักษาอาการเหงื่อออกมากง่าย เหงื่อออกเยอะ จากภาวะหลั่งเหงื่อมาก
หลังจากการวินิจฉัยและพบว่าอาการที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยมาจากภาวะหลั่งเหงื่อมาก จะแบ่งการรักษาตามสาเหตุของการเกิด ดังนี้
1.การรักษาจากภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดแบบไม่ทราบสาเหตุ
ในเบื้องต้น แพทย์จะมีการให้ยาทาที่เรียกว่า Antiperspirants ในตำแหน่งที่มีอาการ
ใช้ภายหลังจากการอาบน้ำ รอจนกระทั่งผิวแห้งแล้วจึงทายา โดยตัวยามีคุณสมบัติพิเศษ นั่นก็คือช่วยเข้าไปทำให้ท่อเหงื่อเกิดการอุดตัน จากนั้นก็จะฝ่อตัวไป หลังจากหยุดยาไปแล้ว อาการสามารถกลับมาเป็นอีกได้ง่าย
การรักษาด้วยการใช้ยาลดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ มีทั้งแบบกินและแบบทา
การรักษาด้วยวิธี ไอออนโตฟอรีสิส (Iontophoresis) เพื่อลดการทำงานของต่อมเหงื่อด้วยไฟฟ้า
หรือการฉีดโบท็อก เพื่อลดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ
ทั้งหมดนี้จะช่วยลดปริมาณเหงื่อออกเยอะได้ แต่ก็ไม่ถือว่าช่วยให้อาการหายขาดแต่อย่างใด
ดังนั้นบางรายจึงอาจใช้วิธีรักษาซ้ำๆ ทุกเดือน เพื่อไม่ให้อาการกลับมาเป็นอีกได้
หรือแม้กระทั่งการผ่าตัด จี้ปมประสาทอัตโนมัติที่ทำหน้าที่ควบคุมต่อมเหงื่อ จะทำให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติ มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้น้อยมาก
2.การรักษาจากภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุดแบบทราบสาเหตุ
เป็นการรักษาที่สาเหตุของการเกิดภาวะนี้โดยตรง โดยสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้นจะแตกต่างกันออกไป
ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของโรคบางชนิด จนทำให้มีเหงื่อออกง่าย
เช่น โรคมาลาเรีย โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรือผลข้างเคียงจากยา เป็นต้น
เหงื่อออกง่ายและเยอะในลักษณะที่เป็นภาวะหลั่งเหงื่อมากเช่นนี้
Photo Credit : medicalnewstoday.com
ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ใช่อาการที่อันตราย ไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต นอกจากว่าอาการที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุของโรคที่มีความรุนแรง
จนส่งผลกระทบไปกระตุ้นการทำงานของต่อมเหงื่อ อย่างไรก็ตามหากสาวๆ พบอาการเหงื่อออกมากจนผิดสังเกต
ทางที่ดีก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และจะได้ทำการแก้ไขได้อย่างถูกต้องจะดีกว่าค่ะ