โรคกลัวการอยู่คนเดียว ปัญหาสุขภาพจิต ไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็ควรรับมือแก้ !

โรคกลัวการอยู่คนเดียว

โรคกลัวการอยู่คนเดียว เป็นโรคที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีบนโลกนี้ ซึ่งแท้จริงแล้ว ผู้คนในปัจจุบันล้วนมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้กันมากพอสมควร

และที่สำคัญยังส่งผลทำให้เกิดการภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย วันนี้เราจะตามไปดูกันว่า โรคกลัวการอยู่คนเดียว เป็นอย่างไร รักษาได้หรือไม่ ตามไปดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ

โรคกลัวการอยู่คนเดียว คืออะไร?

โรคกลัวการอยู่คนเดียว (Anuptaphobia) คือ โรคที่เกิดจากความหวาดกลัวที่มีเฉพาะเจาะจง (Specific Phobia) อย่างเห็นได้ชัดในการอยู่คนเดียว

บางคนอาจจะคิดว่าในปัจจุบันตนยังเป็นโสด แต่หากในอนาคตจะต้องขึ้นคาน บางคนอาจจะรับไม่ได้ หากว่าในอนาคตจะต้องอยู่คนเดียว และไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตได้เพียงแค่คนเดียว

สาเหตุของโรคกลัวการอยู่คนเดียว

สำหรับสาเหตุของโรคกลัวการอยู่คนเดียว ก็สามารถจะเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยสามารถที่จะอธิบายได้ ดังนี้

1.เหตุการณ์วัยเด็ก

วัยเด็กอาจจะส่งผลมากพอสมควร โดยสำหรับบางคนนั้น อาจจะถูกพ่อแม่ปล่อยทิ้งให้อยู่คนเดียว ไม่มีคนสนใจไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

เพราะฉะนั้น จึงเป็นการส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ที่ทำให้เกิดเป็นความกลัวฝังใจ จนกลัวการอยู่คนเดียว

2.ประสบการณ์จากบุคคลรอบข้าง

เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลกระทบได้ชัดเจน เพราะบางคนอาจจะมองเห็นแต่เรื่องราวด้านลบของคนที่เป็นโสด

อย่างเช่น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องทำเพียงคนเดียว ดูแล้วเหงา ไม่มีความสุขไม่มีชีวิตชีวา หรือสำหรับบางคนก็อาจจะเคยได้อ่านบทความ

หรือดูจากมุมมองชีวิตของหลายๆ คนที่ไม่ประสบความสำเร็จด้านความรัก บั้นปลายชีวิตที่แก่ชราอาจจะต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง

หรืออาจจะเหงาและต้องจากโลกนี้ไปเพียงคนเดียว ดังนั้น ก็จะทำให้เกิดความกลัวที่จะต้องอยู่เพียงคนเดียวนั่นเอง

3.สังคม

สังคมเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับหลายๆ คน เพราะบางคนอาจจะไม่ได้รับการยอมรับที่เหมาะสมในการอยู่ในสังคม

ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่โรงเรียน สังคมมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่กระทั่งสังคมของการทำงานที่สามารถจะเห็นได้ชัดเจนในการแบ่งกลุ่ม

โดยอาจจะทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีใครที่ต้องการ จึงส่งผลให้กลัวการอยู่เพียงคนเดียวได้เช่นเดียวกัน

4.ยีน

เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย แต่ก็ยังมีอยู่บ้างที่เกิดความผิดปกติมาจากพันธุกรรม โดยเป็นลักษณะของยีนที่มีความผิดปกติ จึงทำให้เกิดการเป็นโรคกลัวการอยู่คนเดียวขึ้นได้

5.การเลี้ยงดู

การเลี้ยงดูถือเป็นสาเหตุแอบแฝงที่หลายคนเองยังไม่ทราบ โดยผู้ป่วยบางคนอาจจะมีพื้นฐานการเลี้ยงดูที่มีแต่คนดูแล และคอยตามติดอยู่ตลอด

แต่เมื่อเริ่มต้องใช้ชีวิตด้วยตนเอง และอาจจะไม่มีผู้ใหญ่นำทางหรือคอยตามดูแลเหมือนก่อนอีก ก็อาจจะทำให้เกิดความกังวลในการใช้ชีวิตจนกลายเป็นโรคกลัวการอยู่คนเดียว

อาการของโรคกลัวการอยู่คนเดียว

อาการของโรคกลัวการอยู่คนเดียวสามารถที่จะสังเกตได้ โดยอาการที่จะแสดงออกให้เห็นได้อย่างชัดเจน

สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ อาการที่เกิดขึ้นกับทางจิตและอาการที่เกิดขึ้นกับทางร่างกาย ซึ่งมีดังนี้

อาการที่เกิดขึ้นทางจิต

1.พยายามกับความสัมพันธ์ที่เป็นไปไม่ได้ อย่างที่เห็นได้ชัดเจน ในการแสดงออกของอีกฝ่ายที่ไม่สนใจ

และไม่พยายามประคับประคองความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในเรื่องการคบหากันกับคนรัก ขณะที่อีกฝ่ายเพิกเฉย แต่ผู้ป่วยมักจะทำสิ่งที่ตรงกันข้ามคือ

การพยายามทำทุกอย่าง ผลักดันความสัมพันธ์ให้ยืนยาวหรือเพื่อทำให้อีกคนรักทุกวิถีทาง เพราะกลัวการถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพังนั่นเอง

2.รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง อาการนี้ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่าเวลาต้องออกไปไหน หรือต้องไปทำกิจกรรมอะไรจะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง รวมถึงยังมีอาการกังวลและเครียดอยู่ตลอดในขณะที่ทำกิจกรรม

3.พยายามไม่อยู่คนเดียว เป็นอีกพฤติกรรมที่เห็นได้ชัด เนื่องจากมีความกังวลอยู่ตลอดเวลา โดยอาจจะมีความคิดที่พออยู่คนเดียวแล้วทำให้ฟุ้งซ่าน

จนเกิดอาการกลัวขึ้นมา อย่างเช่น กลัวจะมีคนมาปล้น กลัวว่าจะมีไฟไหม้ ซึ่งทำให้ต้องพยายามหาคนมาอยู่ด้วย

4.ใฝ่ฝันถึงการมีความรักที่สวยงาม เป็นอาการที่ผู้ป่วยมักก็จะนึกถึงหรือจินตนาการในเรื่องความรักที่สวยงาม ฝันหวานถึงการใช้ชีวิตคู่ในทุกๆ กิจกรรม

หรืออาจจะจินตนาการไปจนถึงช่วงเวลาตามช่วงเทศกาลต่างๆ และหมกหมุ่นอยู่แต่การคิดถึงสิ่งเหล่านั้นจนมองข้ามความเป็นจริงในการใช้ชีวิต

5.ไม่พิจารณาคนรัก บางคนอาจจะอยากมีความรักมาก จนลืมที่จะเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นคู่ชีวิต

ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะหากมีนิสัยที่เข้ากันไม่ได้ก็อาจจะทำให้มีปัญหาตามมา และทำให้มีความสัมพันธ์ในระยะสั้น

อาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย

นอกจากอาการที่เกิดขึ้นทางความรู้สึกแล้ว ก็ยังมีอาการที่สามารถเกิดขึ้นที่ร่างกายได้อีกด้วย โดยมีอาการดังนี้

  • คลื่นไส้
  • ปากแห้ง
  • หายใจถี่
  • มีเหงื่อออกมาก
  • เหนื่อยล้า
  • สับสน
  • ขาดการโฟกัสอยู่บ่อยๆ
  • หงุดหงิดง่าย
  • อาการสั่น
  • ปวดหัว

การวินิจฉัยโรคกลัวการอยู่คนเดียว

โรคกลัวการอยู่คนเดียว เป็นโรคจากความกลัวชนิดหนึ่ง โดยสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้

ดังนั้น แนะนำว่าควรที่จะไปพบกับจิตแพทย์ โดยทางจิตแพทย์ก็จะเริ่มทำการประเมินผลทางจิตวิทยา คือ

  • ซักประวัติของผู้ป่วย
  • ตรวจเช็คอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย
  • เช็คพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
  • เช็ครูปแบบอาการกลัว

วิธีรักษาโรคกลัวการอยู่คนเดียว

การรักษาโรคกลัวการอยู่คนเดียวจะได้ผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็ต่อเมื่อ ผู้ป่วยยินยอมให้การรักษาโดยยอมรับว่าตนเองป่วยเป็นโรคจริง ซึ่งแนวทางในการบำบัดรักษาก็มีดังนี้

1.พฤติกรรมบำบัด

เป็นรูปแบบการรักษาที่จะเริ่มจากการจัดการกับความวิตกกังวลของผู้ป่วยเป็นอย่างแรก และมีถึง 75 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถที่จะหายได้

2.เผชิญความกลัว

การรักษาด้วยการเผชิญความกลัว ได้มีการทำวิจัยออกมาจากต่างประเทศว่าสามารถที่จะช่วยในการรักษาได้จริง

โดยอาจจะเริ่มจากการหัดใช้เวลาอยู่กับตัวเองในการทำกิจกรรมต่างๆ คนเดียว แต่ในช่วงแรกจะต้องให้จิตแพทย์เป็นผู้ควบคุม

3.ยา

เป็นทางเลือกที่จิตแพทย์หลายคนเลือกใช้ เพื่อเป็นการระงับอาการที่เกิดขึ้นทางร่างกาย โดยยาที่จะใช้มี 2 ชนิด คือ

  • เบต้า-บล็อกเกอร์ เป็นยาที่จะช่วยป้องกันการกระตุ้นความตื่นเต้นในร่างกาย และช่วยลดความวิตกกังวล
  • ยาระงับประสาท เป็นตัวช่วยที่ทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น แต่จะต้องระมัดระวัง เนื่องจากหากใช้มากเกินไปจะทำให้กลายเป็นสารเสพติดแทนได้

วิธีป้องกันโรคกลัวการอยู่คนเดียว

การป้องกันโรคกลัวการอยู่คนเดียว อาจจะไม่ได้มีทางป้องกันที่แน่นอน แต่อย่างที่ทราบว่าโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากภาวะทางจิต

ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้น ทางป้องกันที่ดีที่สุด คือ การป้องกันจากพฤติกรรม เช่น

  • การพยายามออกจาก comfort zone เพื่อหาอะไรใหม่ๆ ทำ เช่น การเล่นกีฬา การไปเที่ยว เป็นต้น
  • การพยายามหาเพื่อนใหม่ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นการปรับตัวเพื่อเข้าสู่สังคม

และนี่ก็เป็นวิธีป้องกันที่ช่วยได้ง่ายมากที่สุด แต่จริงๆ แล้ว หากยังไม่มั่นใจก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้รับคำแนะนำ

และหากมีอาการเข้าข่ายในการเกิดโรคแล้ว ก็จะได้รีบทำการรักษาอย่างตรงจุดให้หายเร็วมากขึ้น

Credit : kapook.com

โรคกลัวการอยู่คนเดียว ไม่ใช่โรคที่รักษาไม่ได้ แต่การรักษาให้ได้ผลผู้ป่วยก็ควรที่จะยอมรับการป่วยของตนเอง

รวมถึงปฏิบัติตามแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาให้หายได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็ไม่ใช่โรคที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต

เพียงเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากสภาวะทางจิตของผู้ป่วยเป็นหลักมากกว่า แนะนำให้ลองปรับตัว ฝึกมองโลกในแง่ดี อยู่กับเพื่อนๆ กับครอบครัวให้มากๆ

และลองฝึกที่จะอยู่คนเดียวหรืออยู่ด้วยตนเอง ทำกิจกรรมเงียบๆ ด้วยตนเอง หากทำบ่อยๆ อาจจะกลายเป็นความเคยชินและสามารถรับมือโรคนี้ได้อยู่หมัดก็เป็นได้