โรคขนคุด เป็นโรคทางผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นได้
ซึ่งโรคขนคุดเป็นอีกหนึ่งโรคที่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ด้วย ซึ่งจากการสอบถามประวัติผู้ป่วยส่วนใหญ่พบว่าใน 50% ของผู้ป่วย
มีบุคคลในครอบครัวที่เป็นโรคขนคุด และจากการสำรวจทั่วโลกพบว่าประมาณ 50-80% มักเกิดในเด็กและวัยรุ่น ในวัยผู้ใหญ่พบประมาณ 40%
และยังพบว่าเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อีกทั้งยังเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ด้วยเช่นกัน
โรคขนคุด คืออะไร?
โรคขนคุด (Keratosis Pilaris) คือ ความผิดปกติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณเซลล์ผิวหนัง ทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตันขึ้น
ส่งผลให้ขนไม่สามารถงอกโผล่ออกมายังนอกผิวหนังได้ โดยเกิดเป็นตุ่มนูนๆ ที่มีลักษณะเป็นสีเนื้อหรือสีเดียวกับผิวขึ้นบริเวณผิวหนัง
มีลักษณะคล้ายกับหนังไก่ที่ถูกถอนขน ซึ่งไม่มีอาการคันหรือเจ็บใดๆ เว้นแต่กรณีที่เกิดอาการอักเสบขึ้น ก็ตุ่มก็จะการเปลี่ยนสีเป็นสีแดง
และมีอาการเจ็บบ้าง จัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีความรุนแรงนัก เพียงแต่เมื่อมีอาการก็อาจจะทำให้ผู้ที่เป็นขาดความมั่นใจในเรื่องของรูปลักษณ์เล็กน้อย
สาเหตุของโรคขนคุด
เกิดจากการสะสมของเคราติน (Keratin) อันเป็นสาเหตุหลัก ซึ่งเคราตินก็คือ โปรตีนที่เซลล์ผิวหนังสร้างขึ้นมา
เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการดูดซึมสารอันตรายต่างๆ เข้าสู่เซลล์ผิวหนัง
เมื่อมีการสะสมเคราตินในปริมาณมากก็จะก่อให้เกิดภาวะรูขุมขนอุดตันขึ้น ทำให้ขนไม่สามารถขึ้นมาเหนือผิวหนังได้
กลายเป็นขนคุดอยู่ใต้ผิวหนังแทน ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด
ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดการสะสมของเคราตินเกิดจากอะไร แต่ได้มีการสันนิษฐานไว้ว่าอาจจะเกี่ยวของกับความผิดปกติทางพันธุกรรมของผิวหนัง
หรืออาจจะเกิดจากภาวะทางผิวหนังอื่นๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นปัจจัยร่วมด้วย แต่อีกหนึ่งสาเหตุ
อาจจะเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพราะถ้าหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคขนคุด ก็จะทำให้มีโอากาสถ่ายทอดมาถึงกันได้
ผู้ที่เสี่ยงจะเป็นโรคขนคุด
โรคขนคุดสามารถเกิดขึ้นได้กับคนในทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะในเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นได้ และยังเกิดขึ้นได้ทุกเพศทั้งในเพศชายและเพศหญิง
อาจเกิดร่วมกับโรคผิวหนังอื่นๆ ได้อีก อย่างเช่น โรคเกล็ดปลาหรือผิวหนังแห้งมากจนตกสะเก็ด (Ichthyosis), โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นต้น
ซึ่งกลุ่มคนที่เป็นโรคดังกล่าวก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคขนคุดได้ด้วย รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีบุคคลในครอบครัวที่เป็นโรคขนคุด
ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป และอีกหนึ่งกลุ่มคือ กลุ่มคนที่มีผิวแห้งก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคขนคุดมากกว่าคนผิวปกติทั่วไป
อาการของโรคขนคุด
เมื่อเกิดการอุดตันที่บริเวณรูขุมขนขึ้น ทำให้มีตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นตามบริเวณผิวหนัง พบบ่อยบริเวณต้นแขนและต้นขาด้านนอก
มีสีออกสีเนื้อ เมื่อใช้มือลูบจะรู้สึกถึงความสากและขรุขระบริเวณผิว ลักษณะคล้ายกับหนังไก่หรือกระดาษทราย
ทำให้เกิดความรำคาญใจในเรื่องของผิว และอาจจะมีอาการแดงรอบรูขุมขน คัน และเจ็บบ้าง ในกรณีที่เกิดการอักเสบขึ้นบริเวณรูขุมขน
ภาวะแทรกซ้อน
โรคขนคุดเป็นโรคที่ไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายนัก แต่จากการตรวจสอบพบว่าผู้ที่มีขนคุด มักมีภาวะโรคทางผิวหนังอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง และผิวหนังอักเสบเกิดผื่น เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคขนคุด
โดยปกติแล้ว ผู้ที่เป็นโรคขนคุดไม่มีความจำเป็นจะต้องไปพบแพทย์ เนื่องจากไม่ใช่โรคร้ายแรง และไม่ติดต่อ
แต่เป็นเพียงโรคที่สร้างความรำคาญใจให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ ซึ่งก็ทำผู้ป่วยหลายคนต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษา
โดยเบื้องต้นทางแพทย์ผู้รักษาจะทำการสอบถามประวัติ และตรวจสอบบริเวณผิวหนังที่พบอาการผิดปกติเท่านั้น
และอาจจะมีการทดสอบอย่างอื่นเพิ่มเติม ในกรณีที่ลักษณะอาการที่เป็นมีความคล้ายครึงกับโรคผิวหนังชนิดอื่น
จนยากต่อการแยกแยะโรค เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นต้น และในระยะที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง
แพทย์จะต้องตรวจสอบถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีโอกาสเกิดอาการเรื้อรังหรือไม่ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้คำแนะนำในการรักษาอย่างถูกต้อง
วิธีรักษาโรคขนคุด
จากการสำรวจพบว่าผู้ที่เป็นโรคขนคุด เมื่อมีอายุมากอาการจะค่อยๆ หายไปเอง แต่ก็มีโอกาสที่จะกำเริบหรือกับมาเป็นได้อีก
เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม เรามีวิธีรักษาโรคขนคุดมาฝาก โดยแบ่งแนวทางการรักษาออกได้เป็น 2 แนวทางดังนี้
การรักษาขนคุดด้วยตนเอง
ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถที่จะดูแลรักษาโรคขนคุดด้วยตัวเองตามวิธีดังนี้
1.ใช้สบู่อ่อนๆ หรือสบู่เด็กในการชำระล้างร่างกาย โดยการฟอกสบู่ควรฟอกเฉพาะบริเวณลำตัว รักแร้ มือ เท้า ขาหนีบ คอ
ที่มีเหงื่อไคลมาก ให้เว้นบริเวณแขนและขาไว้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นส่วนที่ไม่ค่อยมีความชุ่มชื้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความแห้งกร้านได้
2.งดอาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น เนื่องจากจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
3.ทาโลชั่นหรือครีมบำรุงที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวหลังจากอาบน้ำเสร็จ โดยโลชั่นที่ทาควรมีส่วนผสมสารที่ให้ความชุ่มชื้น
และช่วยผลัดเซลล์ผิวที่อุดตัน อย่างเช่น Alpha hydroxyl acid (AHA), Salicylic acid เป็นต้น
การรักษากับทางการแพทย์
สำหรับคนที่มีอาการมากกว่าปกติ รักษาด้วยวิธีที่ที่กล่าวข้างต้นแล้วไม่ได้ผล ควรไปพบแพทย์เพื่อรับยาในการรักษาเฉพาะโดยแพทย์จะแนะนำการรักษาให้ดังนี้
1.ใช้ครีมยาในการกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว โดยในครีมยาจะมีส่วนประกอบของกรดแลคติก กรดซาลิไซลิกง กรดอัลฟาไฮดรอกซี หรือยูเรีย
ซึ่งนอกจากจะช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว กรดเหล่านี้ยังช่วยในเรื่องของความชุ่มชื้นและช่วยลดความแห้งกร้านของผิวได้อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีส่วนผสมของกรดจึงอาจจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองกับผิวได้ ครีมที่มีส่วนประกอบของกรดเหล่านี้จึงไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็กนัก
2.ใช้ครีมป้องกันการอุดตันของรูขุมขน แพทย์จะให้ครีมยาวิตามินเอ เช่น ยาเตรทติโนอิน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเซลล์ผิว
ป้องกันไม่ให้เกิดการอุดตันของเซลล์ผิว ซึ่งในยาตัวนี่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการระคายเคืองและผิวแห้งขึ้นได้
สำหรับสตรีมีครรภ์หรือต้องให้นมบุตรแพทย์จะไม่ใช้ยาตรวจนี้ในการรักษา โดยอาจจะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีอื่น
3.ใช้วิธีเลเซอร์ โดยจะเลือกทำแบบเพาซ์ดายเลเซอร์ (Pulse Dye Laser) หรือไอพีแอล (Intense Pulsed Light: IPL)
แต่การรักษาวิธีนี้จะช่วยลดอาการแดงบริเวณผิวหนัง แต่ไม่สามารถลดความหยาบกร้านหรือความขรุขระของผิวได้ หรือบางรายแพทย์จะแนะนำให้ทำเลเซอร์กำจัดขนแทน
วิธีป้องกันโรคขนคุด
เนื่องจากสาเหตุหลักๆ ของโรคขนคุดเกิดจากพันธุกรรม และยังไม่มีวิธีป้องกันได้ แต่ก็มีวิธีที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ดังนี้
- ไม่ควรอาบน้ำร้อนหรือน้ำที่มีอุณภูมิสูงเกินไป และเมื่อต้องอาบน้ำหรือว่ายน้ำ ก็ไม่ควรแช่น้ำหรืออยู่ในน้ำเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ไขมันในผิวถูกกำจัดไป จนส่งผลให้ผิวแห้งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้สบู่อาบน้ำที่มีความระคายเคือง จนทำให้ผิวแห้งกร้าน
- ใช้ครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิว โดยหลังจากอาบน้ำเสร็จหมาดๆ ให้ทาครีมบำรุงทันทีเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผิวหนังกำลังดูดซึมได้เป็นอย่างดี
- ไม่ควรเกาบริเวณตุ่มรูขุมขนแรงจนเกินไป และไม่ควรขัดผิวหนังแรงๆ
- ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่มีรัดรูปมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีกับผิวหนัง
Credit : prettypleasecharlie.co.za
โรคขนคุด อาจจะดูไม่ได้น่ากลัวหรือรุนแรงนัก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังเป็นโรคที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมอีกด้วย
จึงยากต่อการหลีกเลี่ยง และยังเป็นโรคที่ทำลายความมั่นใจในเรื่องรูปลักษณ์ของผู้ที่เป็นไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะคุณผู้หญิง
แต่อย่างไรก็ตาม หากเราดูแลรักษาความสะอาดให้กับร่างกายเป็นอย่างดี ทาครีมบำรุงที่เหมาะสมกับสภาพผิวก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย
ให้เราไม่เป็นโรคขนคุดได้ แต่ถ้าหากเป็นโรคขนคุดแล้ว วิธีการดังกล่าวที่เราแนะนำก็จะทำให้อาการไม่ลุกลามหรือเกิดการกำเริบขึ้นอีกได้ค่ะ