โรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยอย่างมาก และเนื่องจาก ข้อเข่า เป็นอวัยวะที่จะต้องรองรับน้ำหนักตัวอยู่ตลอดเวลา
อีกทั้ง ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพคล่องแคล่ว
แต่หากเราใช้ชีวิตแบบผิดๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กับพฤติกรรมบางอย่าง ที่เป็นปัจจัยนำมาสู่การเกิด โรคข้อเข่าเสื่อม อยู่ก็ย่อมไม่ดีเป็นแน่
โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุที่มีโอกาสในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมสูง ยิ่งไม่ควรละเลยการดูแลสุขภาพในระหว่างวันอย่างยิ่ง
ดังนั้น เพื่อลดอาการปวด และช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของข้อเข่าในวัยสูงอายุ รวมถึงช่วงวัยอื่นๆ ด้วย
เราจึงชวนคุณมาทำความรู้จักโรคข้อเข่าเสื่อมโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็น สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม อาการ และแนวทางรักษามีอย่างไรบ้าง มาติดตามกันดังต่อไปนี้ได้เลย
ทำความรู้จักโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ โดยพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเรื้อรัง อย่างเช่น
โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ หรือผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ข้อเข่า ก็สามารถเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่อายุยังไม่มากได้เช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีโอกาสในการเกิดโรคข้อเสื่อมได้สูงกว่าผู้ชาย อันเนื่องจากกระดูกและกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงน้อยกว่าผู้ชายนั่นเอง
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
อาการปวดเข่า ถือเป็นอาการสำคัญแรกเริ่มของการเป็นโรคนี้เลยก็ว่าได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อยตึงเข่าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
รวมทั้งยังปวดตึงบริเวณน่องร่วมด้วย ในกรณีที่มีอาการหนักมากขึ้นก็จะปวดเข่า แม้กระทั่งมีการเคลื่อนไหว
ไม่ว่าจะเป็นการลุก นั่ง เดิน และทำให้การเดินขึ้น-ลงบันได ยังเป็นไปอย่างไม่คล่องตัวเช่นเดิมอีกด้วย
ข้อเข่าโก่งงอ ลักษณะของข้อเข่าสามารถโก่งได้ทั้งด้านนอกและด้านใน ทำให้ขาสั่น การเดินเป็นไปอย่างลำบาก และยังมีอาการปวดในเวลาเดินร่วมด้วย
ข้อเข่ายึดติด ผู้ป่วยจะไม่สามารถเหยียดขา หรืองอขาออกได้สุดเช่นเดิม เพราะมีการยึดติดกันอยู่ภายในข้อ
มีเสียงขึ้นภายในข้อ เมื่อผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวหรือเดิน ก็จะรู้สึกได้ถึงเสียงที่เกิดขึ้นภายในข้อ โดยมาพร้อมๆ กับอาการปวดเข่า
ปัจจัยของการเกิดข้อเข่าเสื่อม
– อายุ เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสในการเกิดข้อเข่าเสื่อมย่อมมีมากตาม ทั้งนี้ก็เนื่องจาก ช่วงวัยของเราที่ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน จึงส่งผลให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อยลง
– เพศหญิง โดยปกติแล้ว โรคข้อเข่าเสื่อม สามารถเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า เพราะฉะนั้น ผู้หญิงจึงมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ค่อนข้างสูง
– ความอ้วน การปล่อยตัวให้อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วได้เช่นเดียวกัน
เพราะข้อเข่าจะต้องรองรับน้ำหนักตัวไว้มาก และหากต้องรองรับน้ำหนักเป็นเวลานาน ข้อเข่าก็ย่อมเสื่อมสภาพลงเร็วตามปัจจัยดังกล่าว
– การใช้งานข้อเข่าบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ หรือการนั่งพับเพียบเป็นเวลานานก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมขึ้นเร็วได้
– ได้รับบาดเจ็บในบริเวณข้อเข่า สำหรับผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า เช่น กระดูกข้อเข่าแตกหรือเอ็นฉีกขาดก็ย่อมทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมขึ้นได้เช่นกัน
– ขาดการดูแลสุขภาพ ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย และยังขาดการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม
ย่อมส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อลดลง จนทำให้มีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมขึ้นง่าย
ตรงกันข้าม หากหมั่นออกกำลังกาย และทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกายจำเป็นได้รับ ก็ย่อมสามารถชะลอการเสื่อมสภาพของข้อเข่าได้เช่นกันค่ะ
Credit : synviscone.ca
การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าชนิดเรื้อรัง หากคุณไปพบแพทย์และเกิดความสงสัยว่าอาจเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
ทางแพทย์ก็จะให้การวินิจฉัยโรคดังกล่าว โดยมีขั้นตอนการวินิจฉัยดังนี้
1.ซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วย โดยแพทย์จะเน้นตรวจที่ข้อเข่า และอาจพบลักษณะสำคัญคือ มีข้อบวม หรือขนาดข้อใหญ่ และอาจพบการงอของข้อเข่าร่วมด้วย
2.ถ่ายภาพรังสี การวินิจฉัยโดยการถ่ายภาพรังสีจะทำให้สามารถค้นพบช่องว่างระหว่างกระดูกเข่าที่มีแคบลง
ซึ่งนั่นหมายถึงกระดูกอ่อนเกิดการสึกหรอ และหากสึกหรอไปมากก็จะไม่สามารถพบช่องว่างดังกล่าวได้
3.เจาะเลือด เป็นการเจาะเลือดเพื่อวินิจฉัยแยกโรค เพราะอาจนำมาสู่สาเหตุของการเกิดโรคปวดเข่าเรื้อรังอย่างเช่น โรครูมาตอยด์หรือโรคเกาต์
4.ตรวจน้ำหล่อเลี้ยงเข่า หากผู้ป่วยมีอาการเข่าบวม แพทย์ก็จะเจาะน้ำหล่อเลี้ยงเข่าออกมาส่องตรวจผ่นกล้องจุลทรรศน์
5.ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก การวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการตรวจหาโรคกระดูกพรุนนั่นเอง
แนวทางรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
เนื่องจากโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคในผู้สูงอายุ ซึ่งหากเป็นแล้วย่อมไม่สามารถรักษาให้หายเหมือนเดิมได้อย่างแน่นอน
จุดประสงค์ของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น จึงเป็นไปเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ป้องกันไม่ให้ข้อติด และป้องกันการโก่งงอของข้อ เป็นต้น
สำหรับแนวทางการรักษาก็สามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ การรักษาแบบทั่วไป การรักษาโดยใช้ยา และการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
1.การรักษาแบบทั่วไป
1.1 พยายามปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัจจัยกระตุ้นจนทำให้เป็นข้อเข่าเสื่อม เช่น การนั่งพับเพียบ
นั่งยองๆ หรือนั่งสมาธิเป็นเวลานานบ่อยๆ การยกของหนัก และการนอนกับพื้นอยู่เป็นประจำ
เนื่องจากขณะที่ลุกขึ้นหรือลงนอนมักมีโอกาสเกิดอันตรายขึ้นกับหัวเข่าสูงมาก พร้อมกันนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเดินขึ้นบันไดบ่อยๆ
และควรนั่งบนเก้าอี้แทนการนั่งบนพื้นจะดีที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่เริ่มมีอายุมาก
1.2 หมั่นออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้ออยู่เสมอ โดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา ซึ่งจะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
และยังช่วยลดแรงกระแทกต่อเข่าลงได้ สำหรับวิธีบริหารสามารถทำได้ง่ายๆ เริ่มจากยืนตรง มือเกาะเก้าอี้ไว้
ย่อตัวให้เข่ามีลักษณะงอเล็กน้อย นับ 3-6 ครั้ง จากนั้นจึงยืนตัวตรงแล้วทำซ้ำอีก 3-6 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังสามารถทำได้โดยการนั่งบนเก้าอี้ เหยียดขาเกร็งค้างไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วงอเข่า ให้ทำซ้ำต่ออีกหลายครั้ง
และนอกจากวิธีบริหารกล้ามเนื้อดังกล่าว การออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วและการว่ายน้ำ
ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะการว่ายน้ำนับเป็นการออกกำลังกาย
ที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหากระดูกและข้ออย่างมากทีเดียว เพราะมันสามารถช่วยลดแรงกระแทก หรือป้องกันการบาดเจ็บได้ดีกว่าการออกกำลังกายรูปแบบอื่นๆ
1.3 ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่เสมอก็จะช่วยลดอาการปวด และชะลอการเกิดข้อเข่าเสื่อมขึ้นได้
1.4 ในเวลาเดินหรือวิ่ง ควรสวมรองเท้าสำหรับเดินและวิ่งโดยเฉพาะ เพราะรองเท้าเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการกระแทกจากน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี
1.5 ในระหว่างทำกิจวัตรต่างๆ หากมีอาการปวดก็ควรหยุดพักเข่าบ้าง
1.6 เวลาลุกขึ้นควรใช้ไม้เท้าช่วยค้ำ
1.7 เมื่อมีอาการปวดเข่า ควรประคบอุ่นตรงที่มีอาการปวดอยู่เสมอ
1.8 เวลาต้องก้าวขึ้นบันไดให้ก้าวเท้าข้างที่แข็งแรงขึ้นก่อน และเวลาลงก็ให้ก้าวเท้าข้างที่ปวดลงก่อน โดยมือควรจับราวบันไดไว้ตลอดเวลา
1.9 ในส่วนของการทำกายภาพบำบัด แพทย์จะให้คำแนะนำถึงวิธีบริหารกล้ามเนื้อและข้อเข่า เพื่อช่วยลดอาการปวด
และป้องกันการเกิดข้อผิดรูป รวมถึงยังทำให้กล้ามเนื้อ และกระดูกมีความแข็งแรงขึ้นได้อีกด้วย
แต่กระนั้น ผู้ป่วยจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใส่ใจปฏิบัติตามเป็นประจำ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีตามมา
Credit : menslongevity.us
2.การรักษาโดยใช้ยา
การรักษาแบบทั่วไป หากยังไม่สามารถช่วยลดอาการปวดลงได้ แพทย์ก็ย่อมจำเป็นที่จะต้องรักษาผู้ป่วยโดยการใช้ยา ซึ่งตัวยาในการรักษาก็มีให้เลือกด้วยกันหลายชนิด ดังนี้
2.1 ยาแก้ปวด นับเป็นวิธีการรักษาด้วยยาแบบเบื้องต้นง่ายๆ อย่างที่หลายคนคุ้นเคยกันดี สำหรับการรักษาด้วยยาแก้ปวดนั้น
ตัวยาจะออกฤทธิ์แค่ช่วยลดอาการปวด แต่ไม่ได้รักษาอาการอักเสบ เมื่อฤทธิ์ยาหมดอาการปวดก็ย่อมหวนกลับมาดังเดิม อย่างเช่น ยา paracetamol
2.2 ยาแก้อักเสบ steroid เป็นยาที่ได้รับความนิยมนำมาใช้รักษากันเป็นอย่างมากในสมัยก่อน โดยมีตั้งแต่ชนิดรับประทานและชนิดฉีดเข้าข้อ
แต่ในปัจจุบันความนิยมในการนำมาใช้กลับลดลง อันเนื่องมาจากผลข้างเคียงของยาดังกล่าว โดยเฉพาะยาที่ฉีดเข้าข้อจะยิ่งมีผลทำให้ข้อเข่าผู้ป่วยเสื่อมเร็วขึ้นได้นั่นเอง
2.3 ยาแก้อักเสบ แต่ไม่ใช่ steroid ยากลุ่มนี้เริ่มได้รับความนิยมในการนำมาใช้มากขึ้น หากทั้งนี้ก็ต้องเฝ้าระวังเพราะอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้
2.4 ยาบำรุงกระดูกอ่อน เป็นยาที่ให้ผลช้า และยังมีค่าใช้จ่ายสูงจึงไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก
2.5 การฉีดน้ำหล่อเลี้ยงชนิดเทียมที่หัวเข่า เพราะโรคข้อเสื่อมจะมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อน้อยมากจึงทำให้เกิดการเสียดสีที่ข้อขึ้นได้นั่นเอง
แต่การฉีดน้ำหล่อเลี้ยงเข้าไป จะช่วยลดการเสียดสีของข้อ และลดอาการปวด โดยแพทย์จะฉีดน้ำหล่อเลี้ยงชนิดเทียมเข้าไปที่เข่า 3-5 ครั้ง
แต่ละครั้งจะฉีดห่างกัน 1 สัปดาห์ ซึ่งการฉีดนี้จะใช้ได้กับผู้ป่วยที่ข้อเข่ายังไม่เสื่อมมากเท่านั้น
3.การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
การรักษาข้อเข่าด้วยวิธีผ่าตัดในปัจจุบันได้รับความนิยมกันอย่างมากขึ้น เพราะให้ผลลัพธ์ดี และไม่มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นมากด้วย โดยการผ่าตัดสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
3.1 ผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (arthroscope)
เป็นวิธีการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ข้อยังไม่เสื่อมมาก โดยแพทย์จะเจาะเข้าไปนำสิ่งสกปรกที่เป็นสาเหตุของการสึกกร่อนออกมา
3.2 ผ่าตัดเพื่อแก้ไขเข่าที่มีลักษณะโก่งงอ
สำหรับวิธีนี้แพทย์จะต้องตัดเอากระดูกบางส่วนออกมา และอาจทำให้ใช้เวลานานกว่าจะกลับมาใช้งานเข่าได้ ซึ่งวิธีการนี้เป็นที่ได้รับความนิยมลดลงอย่างมากในปัจจุบัน
3.3 ผ่าตัดโดยใส่ข้อเข่าเทียมเข้าไป
เป็นการผ่าตัดเพื่อนำข้อเข่าเทียมมาใส่เข้าไปแทนที่ข้อเสื่อม โดยผลจากการผ่าตัดผู้ป่วยมักหายปวดเข่า และยังทำให้การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างดีขึ้นอีกด้วย
Credit : girlsfriendclub.com
ทราบกันไปแล้วนะคะว่า ปัจจัยใดที่ทำให้เกิด โรคข้อเข่าเสื่อม รวมถึง วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม จากทางการแพทย์อย่างถูกต้อง
และแม้ว่าโรคนี้มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันก็พบผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นตั้งแต่อายุระหว่าง 45-50 ปี
เพราะปัจจัยส่งเสริมอย่างความอ้วน การนั่งยองๆ หรือนั่งพับเพียบเป็นเวลานาน การออกกำลังกายแบบหักโหมเกินไป
อย่างเช่น ฟุตบอล และการประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น เพราะฉะนั้น หันมาดูแลสุขภาพให้ดีเนิ่นๆ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่นำมาสู่โรคข้อเข่าเสื่อมกันตั้งแต่ตอนนี้จะดีกว่า