โรคตาขี้เกียจ อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นเพียงเล็กน้อยไปจนถึงมาก และอาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในตาข้างนั้นได้
หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้น หรือรักษาก่อนอายุ 7 ปี ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก
เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และทันท่วงที อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า
โรคตาขี้เกียจเป็นอย่างไร รักษาได้หรือไม่ วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักโรคนี้กันมากขึ้นค่ะ
โรคตาขี้เกียจหรือสายตาขี้เกียจ คืออะไร ?
โรคตาขี้เกียจ หรือสายตาขี้เกียจ (Lazy eye หรือ Amblyopia) คือ การที่ตาข้างใดข้างหนึ่งมีการมองเห็นภาพลดลง หรือมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
ทำให้สมองรับภาพจากตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง หรือเพิกเฉยต่อการรับภาพจากตาข้างที่ด้อยกว่า ซึ่งทำให้ตาอีกข้างมีระดับการมองเห็นที่น้อยลง
โรคนี้มักจะเกิดกับเด็กทารกแรกเกิด จนถึงช่วงอายุ 6-7 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังมีพัฒนาการทางด้านสมองและการมองเห็น
สาเหตุโรคตาขี้เกียจ
1.เกิดจากสายตามีความผิดปกติต่างกันมากเกินไป กล่าวคือ มีความสั้น ยาว และเอียงของตาแต่ละข้างมากเกินไป
โดยปกติค่าของสายตาทั้งสองข้างจะต้องเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน เนื่องจากแสงที่ส่องผ่านเข้าเลนส์ตามีความมากน้อยไม่เท่ากัน
จึงทำให้สมองเลือกที่จะตอบสนองกับตาข้างที่รับแสงได้ดีกว่า ทำให้ตาอีกข้างไม่ถูกใช้งานและไม่มีการพัฒนา
2.เกิดจากความบกพร่องของอวัยวะในส่วนของการรับภาพ เช่น จอประสาทตาฝ่อ สมองส่วนที่แปลภาพขาดออกซิเจน เป็นต้น
3.เกิดจากกล้ามเนื้อที่ควบคลุมการเคลื่อนไหวของดวงตาทำงานไม่สมดุลกัน
4.เกิดจากตาเหล่หรือตาเข ซึ่งเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พบโรคตาขี้เกียจในเด็กมากที่สุด เพราะเมื่อดวงตาทั้ง 2 ข้างทำงานไม่ประสานกัน
เช่น ตาข้างหนึ่งมองไปทางตรง อีกข้างมองเฉไปอีกด้านทำให้เกิดภาพซ้อน ทำให้สมองเลือกที่จะใช้งานตาข้างที่มองตรง
เพื่อลดการมองเห็นภาพซ้อน ทำให้กล้ามเนื้อของตาอีกข้างถูกใช้งานน้อยลง และมีการพัฒนาน้อยกว่าอีกข้าง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจ
1.เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือคลอดออกมาแล้วมีน้ำหนักตัวน้อย
2.มีประวัติพบว่าคนในครอบครัว เคยเป็นโรคตาขี้เกียจ หรือตาเหล่ ตาเข
3.สายตาความสั้นยาวอย่างรุนแรงทั้ง 2 ข้าง
4.เด็กที่มีอาการตาเขหรือตาเหล่
5.มีสภาวะแทรกซ้อนที่บดบังทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าตาได้ปกติ คือ หนังตาตก หรือเป็นต้อกระจกแต่กำเนิด
อาการของโรคตาขี้เกียจ
ในส่วนของอาการนั้นจะค่อนข้างสังเกตได้ยาก โดยเฉพาะตัวเด็กจะยังแยกแยะความผิดปกติที่เกิดขึ้นเองไม่ได้
ต้องอาศัยการสังเกตจากพ่อแม่ช่วย ยกเว้นในกรณีที่ดวงตาปรากฎความผิดปกติให้เห็นได้อย่างชัดเจน จะทำให้พบอาการ ดังนี้
1.มีอาการตาเหล่ หรือตาเข ต้องปิดตาข้างหนึ่งถึงจะสามารถมองเห็นได้ชัด
2.ดวงตามีการทำงานที่ไม่ประสานกัน ดวงตาข้างนึงอาจเบนเข้าด้านในหรืออาจจะเบนออกด้านนอก
3.มีอาการมองเห็นของตาข้างใดข้างนึง หรือทั้งสองข้างแย่ลง
4.มองภาพที่มีความละเอียดสูงไม่ชัด
การวินิจฉัยโรคตาขี้เกียจ
แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจวัดสายตาอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบว่ามีสิ่งบดบังแสงที่จะส่องเข้าสู่แก้วตาหรือไม่
ทดสอบการเคลื่อนไหวและการมองเห็นของดวงตาทั้งสองข้างมีความปกติหรือไม่ ซึ่งแต่ละเทคนิคที่ใช้ตรวจสอบ
ก็จะขึ้นอยู่กับอายุของเด็กเป็นหลัก หากเด็กมีอาการตาเหล่หรือตาเข จะต้องส่งต่อให้แพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางตรวจวัดเพื่อรักษา
เพื่อป้องกันการเกิดภาวะตาขี้เกียจจนยากต่อการรักษา ในกรณีที่ตรวจพบว่าสายตามีความปกติ แต่เกรงอาจจะมีโรคอื่นซ่อนอยู่
สามารถตรวจสอบด้วยวิธีการ ซีที สแกน เอ็มอาร์ไอ และการถ่ายภาพจอประสาทตา เป็นต้น
วิธีรักษาโรคตาขี้เกียจ
1.รักษาโดยการใส่แว่นสายตา หากปัญหาที่พบเกิดจากความผิดปกติทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง
2.รักษาโดยการปิดตาข้างที่ปกติไว้ เพื่อให้ตาข้างที่ขี้เกียจหรือมีปัญหาได้ทำงานมากขึ้น ซึ่งควรปิดอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง
หรือจนกว่าผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นได้อย่างปกติ ซึ่งการรักษาในกรณีนี้ จะรักษากับผู้ป่วยที่มีอาการตาเหล่ ตาเข
3.รักษาโดยการผ่าตัด หากพบว่าสาเหตุของตาขี้เกียจเกิดจาก เลือดออกในน้ำวุ้นตา หนังตาตก หรือเป็นต้อกระจก
จะต้องทำการผ่าตัดก่อน จากนั้นจึงทำการฝึกการทำงานของตาในภายหลัง ด้วยการปิดตาข้างที่ปกติไว้ เพื่อให้ตาข้างที่ปัญหาได้มีการทำงาน
วิธีป้องกันโรคตาขี้เกียจ
เด็กทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคตาขี้เกียจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น
ในเด็กทารกแรกเกิดไปถึงเด็กวัย 6-12 เดือน พ่อแม่ควรสังเกตอาการของเด็กและไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
และเด็กอายุช่วง3-4 ปี หรือช่วงก่อนเข้าเรียน ควรได้รับการตรวจวัดสายตา เพราะเมื่อตรวจสอบพบตั้งแต่เนิ่นๆ
จะทำให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามหากพบว่าสายตามีความปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
Credit : muslim4health.or.th
ปัจจุบันมีโรคเกี่ยวกับตาเกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่ง โรคตาขี้เกียจ อาจจะเป็นโรคที่ฟังดูไม่ค่อยคุ้นหูนัก
แต่ก็เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว โดยมักเกิดในเด็กทารกและเด็กเล็ก ค่อนข้างสังเกตและตรวจพบยาก
แต่ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้รักษามีความทันสมัยมากขึ้น ทำให้การรักษาจึงไม่ยากอีกต่อไป
เพราะเพียงแค่ตรวจหาสาเหตุพบตั้งแต่เนิ่นๆ และรีบเข้ารับการรักษา ก็จะทำให้หายเป็นปกติ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีเด็กในช่วงวัยดังกล่าว
ก็ต้องดูแลให้ความสนใจและสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่เด็กจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที