โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ ศัตรูร้าย ทำลายคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ

โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เพราะปัญหาทางสายตาไม่มีใครที่อยากให้เกิด

เนื่องจากดวงตาคือ อวัยวะที่ช่วยให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ชัดเจน หากไร้ซึ่งดวงตาแล้ว ย่อมทำให้ชีวิตมืดมน

ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างไม่สะดวก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ยิ่งควรรู้ว่าโรคนี้เป็นอย่างไร

ปล่อยไว้นิ่งเฉยจะเกิดอันตรายตามมาอย่างไรบ้าง และจะมีวิธีรักษาให้หายได้หรือไม่ เราไปดูคำตอบพร้อมๆ กันเลย

โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ คืออะไร?

โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ (Cataracts) คือ โรคที่มีสาเหตุมาจากเลนส์แก้วตาที่มีความเสื่อมสมรรถภาพ

จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มองภาพต่างๆ ได้ไม่ชัดเจน หรืออาจจะเห็นเหมือนมีเมฆมาลอยบังตาหรือมีไอน้ำเกาะอยู่ที่ลูกตา

สำหรับโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุนั้น จะไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันที เพราะอาการจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ในช่วงแรกจึงจะยังไม่สามารถจับอาการได้ว่ากำลังเริ่มเป็นโรคต้อกระจก

สาเหตุของโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุนั้น อย่างแรกเลยคือ ความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามอายุ เนื่องจากโปรตีนที่ถูกส่งไปที่เลนส์ตาและอาจจะจับตัวเป็นก้อน

ทำให้เหมือนมีฝ้าขึ้นในกระจกตา แต่ทั้งนี้ก็ยังมีสาเหตุอยู่อื่นๆ ที่สามารถทำให้เกิดโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุได้ ซึ่งก็มีดังนี้

1.โรค

มีหลายโรคที่สามารถส่งผลทำให้เป็นโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุได้ ซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และโรคสายตาสั้น

2.พฤติกรรม

พฤติกรรมบางอย่างก็ส่งผลทำให้เกิดโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นการจ้องคอมพิวเตอร์ หรือจอมือถือเป็นเวลานานบ่อยๆ การสูบบุหรี่

การเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดมากเกินไป และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เป็นต้น

3.ยา

ยาเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ส่งผลได้เช่นเดียวกัน โดยจะส่งผลในรูปแบบของการออกซิเดชั่นเข้ามาในเลนส์ตา

ซึ่งยาที่สามารถส่งผลได้ก็คือ ยา Corticosteroid ยาลดคอเลสเตอรอล และยาบำบัดฮอร์โมน

นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการของร่างกายที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุขึ้นได้ ส่วนแรกคือ เริ่มจากอายุที่มากขึ้นก็จะทำให้เลนส์ในดวงตาลดความยืดหยุ่น

และความโปร่งใสก็ลดลง แต่ทั้งนี้ก็จะไม่ได้มีการหยุดพัฒนาในการที่เลนส์ดวงตาจะยืดหยุ่นน้อยลง

ดังนั้น จะทำให้เกิดการขุ่นมัวขึ้นได้เรื่อยๆ และสามารถทำให้ทึบได้เลย ซึ่งบางคนก็อาจจะเกิดขึ้นได้กับดวงตาทั้ง 2 ข้าง

ชนิดของโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ

สำหรับโรคต้อกระจกที่เกิดในผู้สูงอายุ มีอยู่หลากหลายชนิด โดยสามารถแบ่งได้ ดังนี้

1.ต้อกระจกกับศูนย์กลางของเลนส์ (nuclear cataracts)

หากเป็นต้อกระจกที่เริ่มจากศูนย์กลางของเลนส์ ก็จะทำให้เกิดอาการสายตาสั้น แต่จะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

หรือบางครั้งก็อาจจะกระทบกับวิสัยทัศน์ในการมองเห็น นอกจากนี้ ยังมองเห็นเป็นสีเหลืองรวมถึงมีฝ้าหนามากยิ่งขึ้น

หลังจากนั้นจึงจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและจะเป็นปัญหาต่อการแยกเฉดสีอีกด้วย

2.ต้อกระจกกับขอบของเลนส์ (cortical cataracts)

ต้อกระจกชนิดนี้จะเริ่มจากผลกระทบที่ทำให้เห็นลายเส้นบริเวณขอบของเลนส์ด้านนอก

หรือจะเรียกได้ว่าเริ่มเห็นเส้นขอบสีขาวๆ และจะเริ่มขยายไปยังบริเวณกลางดวงตา ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบได้เช่นเดียวกัน

3.ต้อกระจกกับด้านหลังของเลนส์ (posterior subcapsular cataracts)

อาการชนิดนี้ในระยะแรกจะเริ่มเป็นจากบริเวณเล็กๆ โดยจะมีผลกระทบต่อการใช้สายตาในการอ่านหนังสือ

มากกว่าการมองเห็นโดยทั่วไป ซึ่งสามารถทำให้เกิดแสงสะท้อนภายในดวงตาได้ และอาการจะพัฒนาเร็วกว่าชนิดอื่นๆ

4.ต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด (congenital cataracts)

การเป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะแม่เป็นหัดเยอรมันในการตั้งครรภ์ช่วงแรก หรืออาจเกิดจากภาวะทุพโภชนาการ

อาการของโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ

สำหรับอาการโรคต้อกระจกที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ มีให้สังเกตได้หลากหลายอาการ ซึ่งอาการเหล่านั้นก็มีดังนี้

  • ตามัว
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • มองเห็นแสงไฟกระจาย
  • มองเห็นภาพสีเหลือง
  • อ่านหนังสือได้ลำบากมากยิ่งขึ้น
  • ปวดตา
  • ปวดศีรษะ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ

สำหรับภาวะแทรกซ้อนของโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุอาจจะมีความอันตราย เนื่องจากเมื่อเป็นโรคต้อกระจก

และปล่อยให้ต้อสุกโดยที่ไม่มีการรักษาหรือดูแลใดๆ ก็จะทำให้เป็นปัญหาต่อดวงตาอย่างร้ายแรงคือ ทำให้ตาบอดสนิท

หรือบางรายก็อาจจะกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน และกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันคือ อาจจะปวดตาอยู่ตลอดเวลา

การวินิจฉัยโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ

สำหรับการวินิจฉัยโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ อย่างแรกจะต้องมีการบอกรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย

หลังจากนั้นแพทย์จึงจะทำการตรวจตา โดยอาจจะต้องมีการตรวจด้วยห้องปฏิบัติการ เช่น

1.การทดสอบการมองเห็น

การทดสอบการมองเห็นจะมีการใช้แผนภูมิเพื่อตรวจวัดว่าสามารถอ่านชุดตัวอักษรได้ตามที่กำหนดหรือไม่

และเป็นการวัดคุณภาพวิสัยทัศน์ของการมองเห็น โดยชุดตัวอักษรที่ว่าจะไล่ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก

2.การตรวจ Slit-lamp

การตรวจชนิดนี้เป็นการตรวจที่จะทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยเป็นการตรวจผ่านเครื่องหรือกล้องจุลทรรศน์ที่จะใช้ขยายภายในดวงตาให้สามารถมองเห็นโครงสร้างที่ชัดเจนได้มากยิ่งขึ้น

3.การตรวจจอประสาทตา

การตรวจจอประสาทตา อย่างแรกจะต้องมีการหยดน้ำยาเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และทำให้จอประสาทตาขยายมากยิ่งขึ้น

หลังจากนั้นแพทย์ก็จะทำการตรวจสอบด้านในดวงตาคือ จอ retina เพื่อหาความผิดปกติ

วิธีรักษาโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ

สำหรับวิธีรักษาโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ วิธีเดียวที่สามารถช่วยรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การผ่าตัด แต่ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจการรักษาด้วยการผ่าตัดเพิ่มขึ้น ดังนี้

การผ่าตัดโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุคือ การผ่าตัดเพื่อที่จะนำเลนส์กระจกที่มีความเสียหายออก

แล้วนำเลนส์ใหม่มาใช้แทนที่ โดยมีรูปแบบหรือมีชนิดของเลนส์ที่สามารถนำมาใช้แทนได้หลากหลาย

โดยรูปแบบของการผ่าตัดก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.การผ่าตัดแบบ Phacoemulsification

สำหรับการผ่าตัดรูปแบบนี้จะทำให้เกิดแผลขนาดเล็กอยู่บริเวณขอบกระจกตา แต่ถึงแม้จะเป็นการผ่าตัด

แต่ในความเป็นจริงจะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อช่วยสลายต้อกระจก โดยการรักษารูปแบบนี้จะใช้ระยะเวลาในการรักษาที่ไม่นาน

2.การผ่าตัดแบบ Extracapsular

การผ่าตัดรูปแบบนี้อาจทำให้มีแผลขนาด 10-12 มิลลิเมตร อยู่ที่ด้านหน้าของเลนส์ตา ซึ่งรูปแบบการผ่าตัดนั้น

จะเป็นการนำเลนส์กระจกตาเก่าออก แล้วนำเลนส์กระจกตาใหม่เปลี่ยนเข้าไป ซึ่งจะใช้เลเซอร์เป็นตัวช่วย

ชนิดของเลนส์

อย่างที่ทราบกันในช่วงต้นคือ เมื่อผ่าตัดนำเลนส์กระจกตาเก่าออก แพทย์ก็จะนำกระจกตาใหม่มาเปลี่ยนแทนให้

แต่อาจจะต้องมีการเลือกวัสดุในการใช้เพื่อกระจกตาด้วยเช่นกัน โดยชนิดของเลนส์ก็มีด้วยกันหลากหลาย ดังนี้

1.เลนส์แก้วตาเทียมเพื่อปัญหาสายตา (Multifocal IOL)

สำหรับเลนส์รูปแบบนี้จะพัฒนามาใช้สำหรับการแก้ปัญหาสายตาให้กับผู้ป่วยโดยเฉพาะ โดยจะทำให้เกิดความสมดุลในการโฟกัสภาพ

สามารถช่วยปรับสมดุลในการโฟกัสไปตามกิจกรรมที่ทำ ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนเลนส์แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์อื่นๆ ในการช่วยเพื่อปรับการมองเห็นดีขึ้นเหมือนที่ผ่านมา

2.เลนส์แก้วตาแบบธรรมดา (Standard IOL)

สำหรับเลนส์แก้วตาแบบธรรมดา จะมีลักษณะแบบใส แต่จะมีความแตกต่างตรงที่สามารถกรองแสงอัลตราไวโอเลตได้

และสามารถช่วยในการมองเห็นได้เป็นปกติ แต่อาจจะไม่พิเศษเท่ากับเลนส์เพื่อแก้ปัญหาสายตาโดยเฉพาะ

3.เลนส์แก้วตาเพื่อความคมชัด (Aspheric IOL)

เป็นเลนส์แก้วตาที่ถูกพัฒนามาจากเลนส์แก้วตาแบบธรรมดา โดยจะมีการใส่เทคโนโลยีเพิ่มเข้าไป คือ WaveFront

ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความคมชัดให้กับการมองเห็น และเป็นเลนที่สามารถช่วยกรองแสงสีฟ้าได้เป็นอย่างดี

วิธีป้องกันโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ

สำหรับวิธีป้องกันโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ สามารถเริ่มได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยสามารถทำได้ดังนี้

1.เลือกกินอาหาร

หลายงานวิจัยได้มีการวิจัยออกมาว่าการเลือกรับประทานอาหาร มีส่วนสำคัญที่จะส่งผลในเรื่องของการป้องกันโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุได้

โดยอาหารที่เหมาะสม ได้แก่ ส้มชนิดต่างๆ มะเขือเทศ พริกสีแดงและเขียว กีวี่ บร็อคโคลี่ สตรอว์เบอร์รี่ แคนตาลูป และมันฝรั่ง เป็นต้น

2.เลิกสูบบุหรี่

การเลิกสูบบุหรี่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบุหรี่เป็นสิ่งที่จะสร้างอนุมูลอิสระขึ้นมาในตา ทำให้บดบังการมองเห็น และยังสร้างสารพิษเข้ามาในดวงตาอีกด้วย

3.การใส่แว่นตา

การใส่แว่นตา สามารถที่จะช่วยในเรื่องของการป้องกันรังสียูวี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจก โดยควรเลือกแว่นตาที่สามารถช่วยป้องกันทั้งแสงแดด และแสงจากจอคอมพิวเตอร์ได้

โรคต้อกระจก

Credit : alwaystherehealthcare.com

โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ แม้ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ส่งผลกระทบถึงแก่ชีวิต แต่เมื่อเป็นโรคนี้แล้ว ผู้สูงอายุหลายคนก็ย่อมเกิดความรู้สึกหงุดหงิดกับสภาพดวงตาที่ผิดปกติ

เพราะจะทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนดังเดิม ซึ่งหากปล่อยไว้จนเกิดอาการรุนแรงก็ยังเสี่ยงต่อการตาบอดสนิทได้อีกด้วย

ดังนั้น ควรใส่ใจป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ และควรพบแพทย์หากพบว่าสุขภาพดวงตามีปัญหา

เพื่อที่แพทย์จะได้รับมือให้การรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่ปัญหาสายตาจะแย่บานปลายหนักไปกว่าเดิม