ระวัง! ง่วงนอนมากผิดปกติ เสี่ยง “โรคนอนเกิน” ไม่รู้ตัว

โรคนอนเกิน เป็นโรคที่ไม่มีใครคุ้นหูกันดีเท่าไรนัก หรืออาจจะแทบไม่เคยได้ยินเลยก็ว่าได้

เพราะแท้จริงแล้ว การนอนหลับพักผ่อนมากๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่หากนอนมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เหมือนกัน

โดยเฉพาะหากมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาหรือที่เรียกว่า โรคนอนเกิน (hypersomnia) นั่นเอง

ซึ่งโรคนี้เกิดจากอะไรและจะมี วิธีรักษาโรคนอนเกิน อย่างไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน

สาเหตุของโรคนอนเกิน (hypersomnia)

โรคทุกโรคล้วนมีสาเหตุในการเกิดทั้งนั้น และสาเหตุของโรคนอนเกินที่มีอาการง่วงนอนมากเกินไปจนผิดปกติ

อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 3 สาเหตุหลักๆ ดังนี้

ออกกำลังกายน้อย

ผู้ที่ออกกำลังกายน้อยมากหรือแทบไม่ได้ออกกำลังกายเลยมักจะมีอาการง่วงนอนตลอดเวลา

นั่นเป็นเพราะเมตาบอลิซึมในร่างกายทำงานช้าลง ทำให้ร่างกายขาดความกระปรี้กระเปร่า อ่อนเพลียและเหนื่อยล้า

ไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมต่างๆ มากนัก จึงนำมาสู่การเป็นโรคนอนเกิน (hypersomnia) นั่นเอง

มีการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานบ่อย

การเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานบ่อยๆ ก็มีผลต่อการเป็นโรคนอนเกินได้เหมือนกัน นั่นก็เพราะร่างกายปรับตัวไม่ทัน

จึงส่งผลให้เกิดอาการมึนงงและมักจะนอนหลับยาวนานกว่าปกติ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีอาการง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบกับการทำงานแล้วก็ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย

โดยสาเหตุนี้ส่วนใหญ่จะพบได้มากในผู้ที่ทำงานบริษัทหรือโรงงานที่ต้องมีการสับเปลี่ยนกะเช้า กะดึกอยู่เสมอ

น้ำหนักตัวมากเกินไป

ในคนที่มีน้ำหนักตัวเยอะหรือเป็นโรคอ้วนก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคนอนเกิน (hypersomnia) ไม่น้อยเลยทีเดียว

เพราะด้วยน้ำหนักตัวที่มากเกินไป จะทำให้อัตราการทำงานของเมตาบอลิซึมลดช้าลง ส่งผลให้นอนหลับนานกว่าปกติ

และมักจะรู้สึกว่าตัวเองนอนไม่เต็มอิ่ม คือง่วงตลอดเวลาแม้ว่าจะนอนหลับพักผ่อนมากเกินความพอดีแล้วก็ตาม

สัญญาณที่บอกได้ว่ากำลังเป็นโรคนอนเกิน

เนื่องจากบางครั้งอาการง่วงนอนบ่อยๆ ก็อาจเกิดจากการนอนหลับพักผ่อนน้อยเกินไปหรือนอนดึก

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเป็นโรคนอนเกินหรือไม่ สามารถสังเกตได้จากสัญญาณดังต่อไปนี้

  • รู้สึกอยากนอนตลอดเวลา สามารถที่จะนอนหลับได้ทั้งวันแม้ว่าคืนนั้นจะนอนมาอย่างเต็มอิ่มแล้วก็ตาม
  • รู้สึกไม่ค่อยสดชื่น อ่อนเพลียและมีอาการเหนื่อยล้าจนแทบไม่อยากทำอะไร ซึ่งก็ทำให้ประสิทธิภาพในการงานด้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
  • นอนหลับนานกว่าปกติ แม้เสียงนาฬิกาปลุกก็ไม่อยากลุกขึ้น แถมยังรู้สึกง่วงนอนตลอดวันอีกต่างหาก
  • อารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดบ่อย จะอารมณ์ดีก็ต่อเมื่อได้นอนเท่านั้น แม้แต่บนโต๊ะทำงานก็สามารถหลับได้
  • เป็นคนที่หลับง่ายมาก แค่ล้มตัวลงนอนบนที่นอน ไม่ว่าตอนกลางคืนหรือกลางวันก็หลับได้ทันที

ผลเสียต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน

ต้องบอกเลยว่าโรคนอนเกิน (hypersomnia) มีผลเสียต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

ซึ่งก็ไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว โดยมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นดังนี้

1.อ้วนอย่างทันตาเห็น

ลำพังแค่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายก็ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากพออยู่แล้ว ยิ่งหากเป็นโรคนอนเกินด้วยแล้ว

ขอบอกเลยว่าคุณจะอ้วนขึ้นอย่างทันตาเห็นเลยทีเดียว เพราะด้วยความที่กินและนอนอย่างเดียว

จะทำให้ไขมันถูกนำไปสะสมไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยไม่ได้เผาผลาญออกมา ผลที่ตามมาจึงเป็นรูปร่างที่อ้วนฉุนั่นเอง

2.สมองเฉื่อยชา

ผลเสียที่สังเกตเห็นได้ชัดจากการเป็นโรคนอนเกินก็คือ ภาวะสมองเฉื่อยชาและอาการเซื่องซึม

เนื่องจากสมองได้รับการกระตุ้นน้อยลง จึงทำให้ระบบประสาทและการทำงานของสมองช้าลงไปกว่าปกติ

สุดท้ายจึงกลายเป็นคนที่ไร้ชีวิตชีวาและทำให้เสียงานเสียการในที่สุด

3.เสี่ยงโรคกระดูกพรุน/ข้อเสื่อม

ผู้ที่เป็นโรคนอนเกินมักจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนและข้อเสื่อมได้สูง เนื่องจากร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว

จึงทำให้กระดูกและข้อไม่ได้รับการบริหารเท่าที่ควร ซึ่งจะทำให้ความคล่องตัวในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดน้อยลงไปด้วย

นอกจากนี้ก็ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลงจนป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้ง่ายเช่นกัน

4.มีอาการซึมเศร้า

อาการซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากการมีเรื่องราวต่างๆ มากระทบกระเทือนจิตใจเท่านั้น แต่ยังเป็นผลข้างเคียงจากโรคนอนเกินอีกด้วย

เพราะเมื่อนอนหลับมากเกินไป จะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดความแปรปรวน พร้อมลดสารแห่งความสุขให้น้อยลง

จึงส่งผลให้จิตใจหดหู่และตกอยู่ในภาวะซึมเศร้านั่นเอง

วิธีรักษาโรคนอนเกิน

สำหรับการรับมือกับโรคนอนเกิน สามารถทำได้หลากหลายวิธี แต่ก็ต้องมีความอดทนและตั้งใจจริงด้วย

เพื่อไม่ให้อาการง่วงนอนเอาชนะได้นั่นเอง โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

1.กำหนดเวลาการนอน

โดยให้กำหนดว่าในแต่ละวันควรจะนอนช่วงไหน และตื่นเวลาไหน แรกๆ อาจใช้นาฬิกาปลุกเข้ามาช่วย

ซึ่งเมื่อทำเป็นประจำทุกวันก็จะทำให้เกิดความเคยชินในที่สุด อย่างไรก็ตาม ในระหว่างวันควรพยายามฝืนตัวเองอย่าให้เผลอนอนหลับเด็ดขาด

2.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยรักษาอาการของโรคนอนเกิน (hypersomnia) ได้ดี เพราะการออกกำลังกายจะกระตุ้นให้เมตาบอลิซึ่มทำงานเร็วขึ้น

และเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาผลาญ ซึ่งเมื่อไขมันในร่างกายลดน้อยลง

มีความกระปรี้กระเปร่ามากกว่าปกติ ก็จะทำให้อาการของโรคนอนเกินค่อยๆ หายไปในที่สุด

3.ทานอาหารที่มีประโยชน์

โดยเฉพาะอาหารที่จะทำให้ร่างกายมีความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น

4.การรักษาด้วยยา

หากทำทุกวิถีทางแล้วก็ไม่สามารถรักษาโรคนอนเกินให้หายสนิทได้ การรักษาด้วยยาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

แต่ต้องเป็นยาที่แพทย์สั่งให้เท่านั้นพร้อมกับรับคำแนะนำปรึกษาจากแพทย์ ก็จะช่วยได้ดีทีเดียว

Credit : tsgclub.net

โรคนอนเกิน (hypersomnia) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากและคนส่วนใหญ่ก็มักจะไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังป่วย

ดังนั้นหากใครที่มักจะมีอาการง่วงนอนบ่อยแม้จะนอนเต็มอิ่มแล้วก็ตาม อย่าได้นิ่งนอนใจเลยเชียว

เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของการเป็นโรคนอนเกินได้นั่นเอง