ระวัง! โรคปริทันต์ ภัยเงียบทำลายสุขภาพช่องปากและฟันโดยไม่รู้ตัว

โรคปริทันต์

เมื่อพูดถึง โรคปริทันต์ หลายคนอาจเข้าใจว่าคือโรคเดียวกันกับ โรคเหงือกอักเสบ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั่นไม่ใช่

เพราะ โรคปริทันต์อักเสบ คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของอวัยวะรอบๆ ฟัน ไม่ใช่แค่ส่วนเหงือกแต่เพียงอย่างเดียว

และมีความรุนแรงมากกว่าโรคเหงือกอักเสบ ทั้งยังเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่การสูญเสียฟันซีกดังกล่าวได้อีกด้วย

เราไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันเพิ่มเติมดีกว่า โรคปริทันต์ คืออะไร มีสาเหตุ อาการและวิธีรักษาอย่างไรบ้าง? นับว่าโรคนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง

โรคปริทันต์ คืออะไร?

โรคปริทันต์ (Periodontal Disease) หรือที่เรียกกันว่า โรครำมะนาด คือ โรคภายในช่องปากชนิดหนึ่งที่เกิดการอักเสบขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อ

และอวัยวะรอบๆ ฟัน โดยจะเรียกอีกอย่างว่าอวัยวะปริทันต์ ซึ่งได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ กระดูกเบ้าฟัน และรากฟัน เป็นต้น

ซึ่งการอักเสบเกิดจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ที่มาจากอาหารและน้ำลายเป็นเวลานาน จนกลายเป็นแผ่นคราบจุลทรีย์ที่ทับถมกัน

จนทำให้เกิดเป็นหินน้ำลายหรือหินปูน ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเหงือกและเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ

ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอวัยวะภายในช่องปากต่างๆ จะค่อยๆ ถูกทำลายลงไปอย่างช้าๆ จนนำไปสู่การสูญเสียฟัน

สาเหตุของโรคปริทันต์

โรคปริทันต์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ตกค้างมากับอาหารที่เรารับประทานซึ่งผสมผสานกันกับน้ำลาย

เมื่อเกิดการสะสมเป็นเวลานานก็จะก่อให้เกิดแผ่นคราบจุลินทรีย์หรือคราบพลัค (Dental Plaque) เมื่อมีการบริโภคแป้งหรือน้ำตาลเข้าไป

แบคทีเรียเหล่านี้จะทำการปล่อยกรดและสารพิษออกมากระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบขึ้น ผลที่ตามมาคือ ทำให้เหงือกบวมแดงอักเสบและมีเลือดออก

จนเกิดการทำลายอวัยวะปริทันต์ขึ้น แผ่นคราบจุลินทรีย์ไม่ได้มีเพียงส่วนตัวฟันที่อยู่เหนือขอบเหงือกเท่านั้น

แต่ยังเกิดขึ้นได้ในบริเวณใต้เหงือกที่เราไม่สามารถมองเห็น ในส่วนนี้ที่เป็นตัวทำให้เกิดโรคปริทันต์ลงสู่กระดูกเบ้าฟัน

และเป็นตัวทำให้กระดูกเบ้าฟันละลาย ทำให้ร่องเหงือกลึกลงหรือเกิดปัญหาเหงือกร่น ส่งผลให้ฟันไม่สามารถยึดติดกับเหงือก

และอาจก่อให้เกิดหนองในร่องปริทันต์ หากปล่อยทิ้งไว้เหงือกและกระดูกเบ้าฟันจะค่อยๆ

ถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ จนนำไปสู่การสูญเสียฟัน เนื่องจากอวัยวะดังกล่าวเป็นตัวยึดฟันไว้กับขากรรไกร

ปัจจัยเสี่ยงของโรคปริทันต์

1.การไม่รักษาความสะอาดภายในช่องปาก เช่น ไม่แปรงฟันหลังรับประทานอาหาร และไม่บ้วนปาก

2.การสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่จะมีสารพิษที่ทำให้เกิดคราบเหลืองสะสมตามไรฟัน

3.การทานอาหารที่มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลมาก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสะสมจนกลายเป็นคราบจุลินทรีย์

4.การมีฟันซ้อนหรือฟันเก เพราะจะทำให้การทำความสะอาดเป็นไปได้ยากกว่าปกติ

5.การเคี้ยวอาหารด้วยฟันข้างเดียว ซึ่งจะทำให้ฟันอีกข้างไม่ได้รับการขัดสีกับอาหาร และทำให้เกิดคราบจุลินทรีย์และหินน้ำลายสะสม

6.การเคี้ยวอาหารโดยใช้ฟันข้างเดียวซึ่งทำให้ฟันอีกข้างไม่ได้รับการขัดสีจากอาหารที่เคี้ยว ย่อมทำให้เกิดแผ่นคราบจุลินทรีย์และหินน้ำลายเข้าไปสะสมได้มากยิ่งขึ้น

7.ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะวิตามิน B, C และ D

8.ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหนุ่มสาว การตั้งครรภ์ เป็นต้น

9.เป็นโรคทางระบบ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และเอดส์ เป็นต้น

10.การใส่ฟันปลอม

อาการของโรคปริทันต์

– เหงือกบวมแดง และมีกลิ่นปาก

– มีเลือดออกตามไรฟันขณะแปรงฟัน

– เจ็บเหงือกเวลาเคี้ยวอาหาร

– เหงือกร่น และฟันโยก

– หากมีความรุนแรงอาจจะมีหนองออกมาตามร่องเหงือก

วิธีรักษาโรคปริทันต์

โรคปริทันต์เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมกันของแบคทีเรีย จนทำเกิดคราบจุลินทรีย์ที่เป็นตัวทำลายกระดูกฟันและเนื้อเยื่อ

ซึ่งเมื่อถูกทำลายแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

และหากไม่ดูแลรักษาความสะอาดของฟันและเหงือกก็จะทำให้กลับมาเป็นได้อีก ในส่วนของการรักษาก็จะเรียงตามอาการและความรุนแรง ดังนี้

1.รักษาโดยการขูดหินปูนและเกลารากฟัน

เป็นการรักษาในขั้นตอนแรก ในช่วงที่อาการยังไม่ถึงขั้นรุนแรง การรักษาด้วยวิธีนี้จะค่อนข้างใช้เวลานาน

เพราะต้องทำการรักษาหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับร่องลึกปริทันต์ และปริมาณหินปูนใต้เหงือก

2.รักษาโดยการผ่าตัด

โดยขั้นตอนนี้จะทำก็ต่อเมื่ออาการมีความรุนแรงขึ้นแล้ว และไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการขูดหินปูนหรือเกลารากฟันได้

โดยแพทย์จะต้องทำการผ่าตัดบริเวณเหงือกร่วมด้วย ในบางกรณีอาจจะสามารถทำศัลยกรรมปลูกกระดูกทดแทนส่วนที่ถูกทำลายไปได้ด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุจพินิจของแพทย์ผู้รักษา

3.รักษาโดยการถอนฟัน

เป็นวิธีรักษาสุดท้าย หากเนื้อเยื่อปริทันต์มีการลุกลามมากขึ้นอย่างหนัก จนไม่สามารถรักษาฟันซี่นั้นๆ เอาไว้ได้อีกต่อไป

หลังจากทำการรักษาตามแต่ละขั้นตอนเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยจะต้องดูแลรักษาความสะอาดของฟันและเหงือกอย่างสม่ำเสมอ

โดยใช้แปรงหรือไหมขัดฟันเป็นประจำ เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียที่จะเกิดขึ้น ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

และผู้ป่วยควรได้รับการขูดหินปูนทุก 3-6 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้กลับมาเป็นโรคปริทันต์ได้อีก

วิธีป้องกันโรคปริทันต์

โรคปริทันต์เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงคงสภาพไว้ไม่ให้เป็นหรือเกิดขึ้นซ้ำอีก

เพราะฉะนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาความสะอาดภายในช่องปากอยู่เสมอ หมั่นแปรงฟันและบ้วนปากหลังรับประทานอาหารเสร็จทุกครั้ง

เพื่อลดแบคทีเรียไม่ให้เกิดการสะสม และในวัยผู้ใหญ่ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือนด้วยจะดีที่สุด

โรคปริทันต์

Credit : dentalblissbangkok.com

โรคปริทันต์ เป็นโรคที่บางท่านอาจมองข้ามไป เพราะหลายคนจะมองว่าเป็นเพียงโรคที่เกิดจากการอักเสบของอวัยวะบริเวณรอบๆ ฟันแต่เพียงเท่านั้น

ไม่น่าจะรุนแรง กินยาแก้อักเสบคงหาย แต่รู้หรือไม่ว่าหากเป็นโรคนี้แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที

อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นสูญเสียฟันได้เลยทีเดียว จึงอยากให้ทุกคนอย่ามองข้ามโรคนี้ แต่ควรจะหันกลับมาดูแลสุขภาพของเหงือกและฟัน

ให้มีความสะอาดปราศจากเชื้อแบคทีเรียอยู่เสมอ เพราะถ้าหากเรามีสุขภาพฟันและเหงือกที่ดี

ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคปริทันต์ และโรคต่างๆ ภายในช่องปากได้เช่นเดียวกัน