โรคปอดป๊อปคอร์น ถือเป็นโรคที่แปลกประหลาดสำหรับคนไทยพอสมควร และยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเท่าประเทศทางยุโรป
และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการบริโภคป๊อบคอร์นซึ่งเป็นสาเหตุของโรคนั้น ไม่ใช่อาหารยอดนิยมสำหรับคนไทยมากนัก
เพียงแค่ใช้เป็นของขบเคี้ยวเล่นเวลาดูหนัง และเวลาอื่นๆ มากกว่า ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คนไทยยังไม่ค่อยตระหนักถึงว่า
จะมีอันตรายที่เกิดจากการทานป๊อบคอร์น นอกจากการเข้าไปอุดหลอดลมถ้าหากมีการสำลักขึ้น
เราจึงขอแนะนำโรคปอดป๊อบคอร์นให้ได้ศึกษาและทำความเข้าใจกันในบทความนี้ เพื่อจะได้ระมัดระวังในการทานปริมาณมาก
โรคปอดป๊อปคอร์น และสาเหตุของการเกิดโรค
โรคปอดป๊อปคอร์น (Popcorn Lung) เป็นชื่อที่ใช้เรียกกันแบบไม่เป็นทางการของโรคหลอดลมอักเสบ (lymphocytic bronchiolitis)
ที่จะทำให้หลอดลมขนาดเล็กส่วนอื่นอุดตัน และมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคมะเร็งปอดในอนาคต จึงเป็นเหตุให้เกิดอาการไอสั้นๆ
ไอแรง ร่วมกับหายใจไม่ออก โดยเกิดจากสารไดอะซิทิลที่เป็นสารแต่งรสในป๊อปคอร์น (รสเนย) ซึ่งเป็นสารเดียวกับที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า
ในปี 2555 ได้มีผู้ที่ป่วยเป็นโรคปอดป๊อปคอร์น จากการบริโภคป๊อปคอร์นไปแล้ว 1 ราย เป็นชาวโคโรราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา
และได้ชนะคดีในการฟ้องร้องบริษัทป๊อบคอร์น จนได้เงินชดเชยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็สร้างความตกตะลึงให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก
ประเทศต่างๆ จึงได้มีการตื่นตัวที่จะศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด จึงได้มีการนำคนงานที่อยู่ในโรงงานผลิตป๊อปคอร์นไปตรวจร่างกาย
เพื่อตรวจสอบความเกี่ยวข้อง และก็พบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดป๊อบคอร์นจำนวนมาก จากสารไดอะซิทิลที่ว่านั่นเอง
อาการของโรคปอดป๊อปคอร์น
อาการที่พบของโรคปอดป๊อปคอร์น หรือหลอดลมอักเสบโดยทั่วไป จะคล้ายกับผู้ที่เป็นโรคหอบหืด คือ มีอาการไอแห้ง
หรือไอแรงแบบสั้นๆ เมื่อนานไปจะรู้สึกหายใจไม่ออก หายใจไม่เต็มปอดเวลาออกแรงมาก ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหอบมาก่อน
เนื่องจากหลอดลมบางส่วนถูกอุดกั้นไว้ ซึ่งถ้าหากไม่ได้มีการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง หรือยังมีการรับสารไดอะซิทิลอย่างต่อเนื่อง
ก็อาจจะทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบแบบเรื้อรังได้ ซึ่งจะมีอาการที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
และถ้าหากมีการติดเชื้อก็จะทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ หรืออาจจะกลายเป็นมะเร็งปอดได้ในที่สุด
วิธีรักษาโรคปอดป๊อปคอร์น
การรักษาโรคปอดป๊อปคอร์นนั้นไม่ใช่เรื่องยาก สามารถรักษาให้หายได้ภายในเวลาไม่นานหากไปพบแพทย์
และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แต่ด้วยความที่คนส่วนมากมักจะละเลยตัวเอง และไม่รู้ตัวว่ามีอาการนี้
ยังรับสารไดอะซิทิลเป็นประจำ ก็อาจจะทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม จนการรักษาต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ซึ่งโดยทั่วไปนั้น แพทย์จะทำการรักษาดังต่อไปนี้
1.ให้ยาปฏิชีวินะ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย และสิ่งต่างที่เข้าไปอุดตันหลอดลม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม
2.รักษาด้วยยาชนิดอื่น เช่น ยาพ่น ยารักษาโรคเกี่ยวกับปอด เป็นต้น
3.รักษาด้วยการผ่าตัด หากวิธีการรักษาด้วยยายังไม่สามารถเห็นผลดีเท่าที่ควร แพทย์อาจจะพิจารณาทำการผ่าตัด
เพื่อรักษาให้อาการให้หายเป็นปกติ ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีความอ่อนแอ หรือมีภูมิต้านทานที่ต่ำอยู่แล้ว
วิธีป้องกันโรคปอดป๊อปคอร์น
1.วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด สำหรับโรคปอดป๊อบคอร์น ไม่ใช่แค่เพียงหลีกเลี่ยงการกินป๊อบคอร์นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายกับปอด เช่น บุหรี่ (ทั้งสูบเองและการสูดดมควัน) ควันท่อไอเสีย ควันไฟ ฝุ่นละอองจากสถานที่ก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งสารเคมี เป็นต้น
2.ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก เพื่อให้น้ำช่วยไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ที่ทำให้ระบบร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
และควรออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะการวิ่ง ว่ายน้ำ ที่นอกจากจะทำให้ร่างกายและภูมิต้านทานแข็งแรงขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ปอดมีการทำงานได้ดีขึ้นด้วย
3.เมื่อพบความผิดปกติเกี่ยวกับร่างกาย เช่น การไอ การเจ็บหรือแน่นหน้าอก ไม่ควรไปซื้อยามาทานด้วยตัวเอง
แต่ควรรีบเดินทางไปพบแพทย์เพื่อให้ทำการวินิจฉัย ซึ่งถ้าหากเกิดความผิดปกติ จะได้รีบทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
Credit : zdorovie-legkie.ru
โรคปอดป๊อปคอร์น อาจจะยังเป็นโรคที่ห่างไกลจากคนไทยพอสมควร แต่เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่า ภายในป๊อบคอร์นที่เราได้บริโภคเข้าไปนั้น ประกอบไปด้วยสารไดอะซิทิล ที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้หรือไม่
เพราะฉะนั้นจึงควรบริโภคแต่พอดี หรือถ้าหากเลิกบริโภคได้จะเป็นการดีที่สุด เพราะนอกจากมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดระยะยาวแล้ว
ป๊อบคอร์นยังเต็มไปด้วยไขมันทรานส์ ที่อาจก่อให้เกิดโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือดได้อีกด้วย